วันอาทิตย์ที่ 18 กรกฎาคม พ.ศ. 2553

ทรภ.3 เก็บทุ่นเตือนภัยสึนามิถึงฝั่งแล้ว



วันที่ 18 กรกฎาคม 53 .ค. บริเวณท่าเทียบเรือ ฐานทัพเรือพังงา อ.ท้ายเหมือง จว.พังงา พล.ร.ต.เรืองทิพย์ เทียนทอง รองผู้บัญชาการทัพเรือภาคที่ 3 ได้นำคณะผู้สื่อข่าวเดินทางไป ตรวจสอบทุ่นเตือนภัยคลื่นยักษ์สึนามิ ที่ทางเรือรบหลวงบางประกง ที่ได้รับคำสั่งให้ออกไปเก็บกู้เมื่อวันที่ 16 กรกฎาคม ที่ผ่านมา ซึ่งจุดที่พบนั้นอยู่ในน่านน้ำเขตเศรษฐกิจจำเพาะของประเทศไทย ห่างจากฝั่งฐานทัพเรือพังงา ไปทางทิศตะวันตก 194 ไมล์ทะเล โดยมีเจ้าหน้าที่จำนวน 210 นาย พร้อมด้วยชุดนักทำลายใต้น้ำจากทัพเรือภาคที่ 3 จำนวน 5 นาย เจ้าหน้าที่ศูนย์เตือนภัยพิบัติแห่งชาติ และตัวแทนบริษัทเรแดนซ์อินเตอร์เนชั่นแนล

ทั้งนี้น.อ.เฉลิมชัย สวนแก้ว ผู้บังคับการเรือรบหลวงบางปะกง เปิดเผยว่า การค้นหาและเก็บกู้ทุ่นเตือนภัยสึนามิเป็นไปด้วยความยากลำบาก เนื่องจากคลื่นลมในทะเลรุนแรงมาก จากการตรวจสอบเบื้องต้น บริเวณทุ่นมีรอยถูกกระแทกอย่างรุนแรง ทำให้ไฟสัญญาณเตือนภัยแตก แผงโซล่าเซลหลุดหายไป คล้ายกับถูกเรือชน จากนั้นก็ได้ส่งเจ้าหน้าที่ประจำเรือ และนักทำลายใต้น้ำซึ่งได้รับการฝึกฝนมาเป็นอย่างดี ลงไปตรวจสอบต้องใช้เวลานานกว่า ๔ ชั่วโมงจึงสามารถนำทุ่นที่หลุดออกจากฐานขึ้นมาบนเรือฯ ได้สำเร็จ ขณะที่สายเคเบิ้ลซึ่งติดอยู่กับตัวทุ่น และมีความยาวประมาณ 200 เมตร มีน้ำหนักมากเจ้าหน้าที่ไม่สามารถกู้กลับคืนมาได้ ทำให้สายเคเบิ้ลขาดและจมลงสู่ก้นทะเล

ด้านนางอรสา แป้งหอม ผจก.บริษัทเรแดนซ์อินเตอร์เนชั่นแนล เปิดเผยว่า สำหรับทุ่นเตือนภัยนี้ ได้นำไปติดตั้งเมื่อวันที่ 3 ธันวาคม 2549 ในมหาสมุทรอินเดีย ที่ระดับความลึก 3,500 เมตร ห่างจากฝั่งประเทศไทยประมาณ 1,100 กิโลเมตร โดยสาเหตุการหลุดของทุ่นเตือนภัยยังไม่สามารถยืนยันได้ว่าเกิดจากหาเหตุใดกันแน่ ส่วนความเสียหายนั้น จากการตรวจสอบตัวทุ่นเบื้องต้นพบว่ามีความเสียหายไม่มากนัก มีเพียงรอยถูกของแข็งกระแทกอย่างรุนแรงบริเวณตัวทุ่น ไฟสัญญาณเตือนภัยแตกเสียหายใช้การไม่ได้ ส่วนของแผงโซล่าเซลที่ผลิตกระแสไฟฟ้าหลุดหายไป ขณะนี้ทางศูนย์เตือนภัยพิบัติแห่งชาติได้สั่งผลิตชิ้นส่วนอะไหล่ที่ชำรุดเสียหายไปแล้ว โดยคาดว่าจะสามารถซ่อมแซมและนำไปติดตั้งได้ใหม่ภายในเดือน พ.ย.53 นี้ ส่วนมูลค่าความเสียหายเบื้องต้นยังไม่สามารถประเมินได้ พร้อมให้การยืนยันว่าแม้ไม่มีทุ่นเตือนภัย แต่ประเทศไทยก็ยังได้รับข้อมูลจากประเทศสหรัฐอเมริกา ออสเตรเลีย และอินโดนีเซีย เกี่ยวกับการเคลื่อนตัวของน้ำที่อาจทำให้เกิดคลื่นยักษ์ และมีเจ้าหน้าที่กองทัพเรือคอยตรวจสอบและแจ้งเตือนภัยอยู่ที่หมู่เกาะสิมิลันจังหวัดพังงาตลอดเวลา



ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น