เมื่อวันที่ 19 กรกฎาคม 2553 ที่ห้องประชุมโรงแรมรอยัลภูเก็ต นายธีรยุทธ เอี่ยมตระกูล รองผู้ว่าราชการจังหวัดภูเก็ต เป็นประธานเปิดการประชุมทางวิชาการด้านสังขวิทยาของโลก ครั้งที่ 17 หรือ The 17th World Congress of Malacology : WCM 2010" ซึ่งทางคณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ร่วมกับ UNITAS MALACOLOGICA จัดขึ้น ภายใต้ความร่วมมือของสมาคมหอยนานาชาติ, จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และโครงการพัฒนาองค์ความรู้และศึกษานโยบายการจัดการทรัพยากรชีวภาพในประเทศไทย (BRT) โดยมีนักวิชาการด้านสังขวิทยาจาก 46 ประเทศทั่วโลกทั้งเอเชียและยุโรป จำนวน 233 คน และนักศึกษาระดับปริญญาโทและปริญญาเอกอีกจำนวน 102 คน มานำเสนอผลงานวิจัยด้วยวาจาจำนวน 236 บทความ เสนอด้วยโปรเตอร์จำนวน 120 เรื่อง นอกจากนี้ภายในงานยังมีการจัดแสดงนิทรรศการเกี่ยวกับหมึกและหอยในประเทศไทย โดยความร่วมมือของศูนย์วิทยาศาสตร์ทางทะเล จ.ภูเก็ต, ศูนย์ป่าชายเลน จ.พังงา ตลอดจนจัดให้มีการทัศนศึกษาให้กับนักวิชาการได้ลงสำรวจพื้นที่จังหวัดภูเก็ต เพื่อยืนยันให้เห็นถึงความหลากหลายและความอุดมสมบูรณ์ของทรัพยากรทางชีวภาพของไทยด้วย
ศ.ดร.สมศักดิ์ ปัญหา ผู้เชี่ยวชาญด้านสังขวิทยา ภาควิชาชีววิทยา คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ในฐานะประธานสมาคมหอยนานาชาติ (President of UNITAS MALACOLOGIA) กล่าวว่า นับเป็นครั้งแรกของเอเชียที่ได้เป็นเจ้าภาพในการจัดการประชุมดังกล่าว เพราะเดิมจะจัดเฉพาะในประเทศแถบยุโรปเท่านั้น ซึ่งการเลือก จ.ภูเก็ต ประเทศไทยเป็นสถานที่ในการจัดประชุมนั้นถือว่าได้รับเกียรติเป็นอย่างมาก ประกอบกับการที่ตนได้รับการคัดเลือกให้เป็นประธานสมาคมหอยนานาชาติ (President of UNITAS MALACOLOGIA) เนื่องด้วยผลงานวิจัยด้านหอยทากที่มีมาอย่างต่อเนื่องจนเป็นที่ยอมรับในเวทีโลก ซึ่งถือเป็นเกียรติต่อวงการวิทยาศาสตร์ไทยอย่างมาก
“การประชุม WCM 2010 ถือเป็นเวทีการรวมตัวของนักวิชาการด้านสังขวิทยาชั้นนำของโลก ซึ่งมีการประชุมถึง 10 หัวข้องานวิจัยใหญ่ๆ เพื่อร่วมหาแนวทางศึกษาวิจัยเกี่ยวกับหอยและหมึกของโลกในทุกแง่มุม ตั้งแต่งานวิจัยองค์ความรู้พื้นฐาน ชีววิทยา นิเวศวิทยา การเพาะเลี้ยงจนถึงการอนุรักษ์ อีกทั้งยังมีการหารือเกี่ยวกับแนวทางในการส่งเสริมนักวิจัยรุ่นใหม่ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ให้มีการศึกษาวิจัยระดับสูงร่วมกันภายใต้การดูแลของนักวิชาการชั้นนำของโลก และเป็นโอกาสอันดีที่นักวิชาการไทยจะมีโอกาสได้พบและพูดคุยแลกเปลี่ยนความรู้กับนักวิชาการระดับโลกซึ่งจะช่วยเปิดมุมมองต่อยอดงานวิจัยได้มาก รวมทั้งยังเป็นการช่วยส่งเสริมการท่องเที่ยวของ จ.ภูเก็ตและประเทศไทยอีกทางหนึ่งด้วย"
ศ.ดร.สมศักดิ์ กล่าวด้วยว่า ในการประชุมครั้งนี้จะมีการหารือแนวทางการรับมือกับปัญหาโลกร้อนที่ส่งผลกระทบต่อวงจรชีวิตของสัตว์และพืชต่างๆ ด้วย ไม่ว่าจะเป็นกลุ่มหอยซึ่งพบว่ามีจำนวนลดน้อยลง โดยเฉพาะกรณีบนบกจะมีปัญหามากกว่าในน้ำทะเล โดยเฉพาะที่มาจากหอยน้ำจืด จะพบในส่วนของพยาธิต่างๆ ที่พบค่อนข้างบ่อย คือ พยาธิใบไม้ พยาธิใบไม้ในตับ ส่วนใต้ท้องทะเลที่เป็นปัญหาอยู่ขณะนี้ คือ ปะการังฟอกขาว ซึ่งจากการที่นักวิชาการลงไปดำน้ำพบปะการังฟอกขาวเป็นจำนวนมาก อันเป็นผลมาจากอุณหภูมิของน้ำทะเลที่เพิ่มสูงกว่า 30 องศาซึ่งก็จะได้มีการหารือเพื่อหาแนวทางในการรับมือกับปัญหาที่เกิดขึ้นว่าจะดำเนินการกันต่อไปอย่างไร
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น