จำหน่ายอุปกรณ์แต่งรถ

วันพฤหัสบดีที่ 4 มีนาคม พ.ศ. 2553

ลูกหนี้นอกระบบเมืองภูเก็ตร่วมรับทราบแนวทางเจรจา


เมื่อเวลา 09.30 น. วันที่ 4 มีนาคม 2553 ที่ห้องประชุมอาคารกาญจนาภิเษก อ.เมือง จ.ภูเก็ต นายศุภชัย โพชนุกูล นายอำเภอเมืองภูเก็ต ร่วมกับ พ.ต.อ.วันไชย เอกพรพิญช์ ผกก.สภ.เมืองภูเก็ต เป็นประธานเปิดการประชุมชี้แจงทำความเข้าใจกับประชาชนผู้ลงทะเบียนเป็นลูกหนี้นอกระบบ ตามโครงการแก้ไขปัญหาหนี้นอกระบบของรัฐบาล เพื่อรับทราบและหาแนวทางในการนัดเจรจาไกล่เกลี่ยกับผู้เป็นเจ้าหนี้ โดยมีผู้ที่ขึ้นทะเบียนตามโครงการแก้ปัญหาหนี้นอกระบบเข้าร่วมจำนวนประมาณ 1,000 คน

นายศุภชัย โพชนุกูล นายกอำเภอเมืองภูเก็ต กล่าวว่า การดำเนินการครั้งนี้เป็นความร่วมมือระหว่างทางอำเภอเมืองภูเก็ต สถานีตำรวจภูธรเมืองภูเก็ต และธนาคารของรัฐ ประกอบด้วย ธนาคารกรุงไทย ธนาคารออมสิน ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์ (ธกส.) ธนาคารเอสเอ็มอี ธนาคารอิสลาม และธนาคารอาคารสงเคราะห์ (ธอส.) ซึ่งในส่วนของอำเภอเมืองภูเก็ตมีผู้มาขึ้นทะเบียนเข้าร่วมโครงการแก้ไขปัญหาหนี้นอกระบบ ตามรายชื่อที่มีในทะเบียนราษฎรจำนวนประมาณ 1,022 ราย มูลค่าหนี้ประมาณ 300 ล้านบาท โดยเป็นผู้ที่มีหนี้จำนวนระหว่าง 50,000 บาท - 200,000 บาท ซึ่งนอกจากการให้ทางลูกหนี้มาแจ้งรายชื่อของเจ้าหนี้ เพื่อทางเจ้าหน้าที่ฯจะได้เชิญตัวมาทำการเจรจาไกล่เกลี่ยประนอมหนี้กันแล้ว ยังได้เชิญเจ้าหน้าที่ของธนาคารชี้แจงแนวทางการดำเนินการกู้ยืมเพื่อนำเงินไปใช้หนี้นอกระบบ และการส่งคืนเงินให้กับทางธนาคารด้วย

ขณะที่พ.ต.อ.วันไชย เอกพรพิญช์ ผกก.สภ.เมืองภูเก็ต กล่าวว่า ที่ผ่านมาทาง สภ.เมืองภูเก็ตก็ได้มีการกวดขันในเรื่องการกู้ยืมนอกระบบ โดยเฉพาะในรายที่มีการข่มขู่หรือทำร้ายร่างกายลูกหนี้มาอย่างต่อเนื่องอยู่แล้ว โดยเป็นตามนโยบายของรัฐบาล สำนักงานตำรวจแห่งชาติ กองบัญชาการตำรวจภูธรภาค 8 และกองบังคับตำรวจภูธรจังหวัดภูเก็ต ซึ่งภายหลังจากที่รัฐบาลจัดทำโครงการแก้ปัญหาหนี้นอกระบบทำให้ปัญหาการแจ้งความดำเนินคดีเกี่ยวกับการทำร้ายร่างกายกรณีของการทวงหนี้นอกระบบไม่เกิดขึ้นอีกเลย

อย่างไรก็ตาม พ.ต.อ.วันไชย กล่าวว่า โครงการนี้เป็นประโยชน์ทั้งในส่วนของเจ้าหนี้ซึ่งก็จะได้เงินที่ให้กู้ยืมไปกลับคืนมา ในขณะที่ส่วนของลูกหนี้ก็สามารถที่จะใช้หนี้ได้ตามกำลังความสามารถของตัวเอง และไม่ต้องเจอกับการถูกทวงถามด้วยวิธีการต่างๆ เช่น การทำร้ายร่างกาย เป็นต้น ดังนั้นหากมีการชี้แจงทำความเข้าใจให้ถึงกลุ่มเป้าหมายก็จะไม่เกิดปัญหา เพราะเจ้าหนี้ย่อมต้องการเงินคืนอยู่แล้ว

ส่วนของนางอัมพา ก่อสุข อาชีพค้าขาย เล่าว่า เป็นหนี้อยู่ประมาณ 200,000 บาท มีเจ้าหนี้ 3 ราย โดยจะต้องจ่ายหนี้เฉพาะดอกเบี้ยเดือนละประมาณ 30,000 บาท เนื่องจากเจ้าหนี้เป็นชาวบ้านทั่วไป จึงไม่มีปัญหาเรื่องของการทวงหนี้ ทั้งนี้ก่อนที่จะมาขึ้นทะเบียนเข้าร่วมโครงการฯ ได้มีการพูดคุยกับเจ้าหนี้ทั้ง 3 รายแล้วก็ไม่ขัดข้อง และคิดว่าโครงการนี้เป็นโครงการที่ดีจะสามารถช่วยบรรเทาความเดือดร้อนได้เป็นอย่างมาก เพราะการกู้ยืมของตนนั้นนำมาใช้ในการประกอบอาชีพ แต่เนื่องจากการค้าขายในระยะที่ผ่านมาไม่สู้ดีนัก จึงทำให้มีปัญหาไม่สามารถที่จะส่งคืนดอกเบี้ยหรือเงินต้นได้

นอกจากนี้นางอัมพา เล่าด้วยว่า มีเพื่อนแม่ค้าด้วยกันซึ่งไปกู้ยืมเงินมาและต้องจ่ายดอกเบี้ยสูงถึงร้อยละ 60 ต่อเดือน ประกอบกับประสบปัญหาภาวะการท่องเที่ยวไม่ดีทำให้ไม่มีเงินไปส่งดอกเบี้ย ทางเจ้าหนี้ได้ส่งคนมาทำร้ายและทำลายข้าวของ ซึ่งน่ากลัวมาก และขณะนี้เขาก็ต้องหนีไปอยู่ที่อื่น



ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น