จำหน่ายอุปกรณ์แต่งรถ

วันเสาร์ที่ 6 สิงหาคม พ.ศ. 2554

รพ.กรุงเทพร่วมทต.รัษฎาให้ความรู้ EM


เมื่อเร็วๆ นี้ ที่โรงเรียนบ้านเกาะสิเหร่ ต.รัษฎา อ.เมือง ภูเก็ต นายเชาวเลิศ จิตต์จำนงค์ รองนายกเทศมนตรีตำบลรัษฎา เป็นประธานเปิดและให้การต้อนรับคุณปารียา จุลพงษ์ ผู้จัดการฝ่ายกิจสาธารณะโรงพยาบาลกรุงเทพภูเก็ต และคุณนนทลี มรรคาวาณิช ประธานมูลนิธิมรรคาวาณิช ร่วมบรรยายให้ความรู้เกี่ยวกับการใช้ประโยชน์จากจุลินทรีย์ที่มีประสิทธิภาพ (EM) กับสิ่งแวดล้อม ในโครงการสร้างน้ำใจคืนน้ำใสให้ชาวรัษฎา ประจำปี 2554 ซึ่งทางกองสาธารณสุขและสิ่งแวดล้อม เทศบาลตำบลรัษฎา ได้จัดขึ้น โดยมีนักเรียนในระดับชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 2 และ 3 โรงเรียนเกาะสิเหร่ จำนวน 80 คน
ทั้งนี้นายเชาวเลิศ ได้กล่าวว่า สำหรับการจัดกิจกรรมในครั้งนี้ เพื่อปลูกฝังให้เยาวชนตระหนักถึงอันตรายจากการใช้สารเคมีกับสิ่งแวดล้อม โดยรณรงค์ให้หันมาใช้จุลินทรีย์ที่มีประสิทธิภาพ(EM) ทดแทนการใช้สารเคมีที่เป็นอันตราย เพื่อสุขภาพที่ดีของคนในชุมชนต่อไป
สำหรับกิจกรรมในครั้งนี้ ทางทีมวิทยากรได้ให้ผู้เข้ารับการอบรมปั้น EM Ball เพื่อใช้บำบัดน้ำเสียบริเวณชุมชนเกาะสิเหร่ และผสมน้ำ EM ขยาย เพื่อนำกลับไปใช้ประโยชน์ที่บ้าน อาทิ รดน้ำต้นไม้ ล้างรถ แก้ปัญหาส้วมเต็ม ฯลฯ เพื่อลดการใช้สารเคมีที่เป็นอันตรายกับสิ่งแวดล้อม
ด้านคุณปารียา ได้กล่าวว่า ทางโรงพยาบาลกรุงเทพภูเก็ตและมูลนิธิมรรคาวาณิช ยังคงสานต่อโครงการรณรงค์และบำบัดน้ำเสียในชุมชนโดยการใช้จุลินทรีย์ที่มีประสิทธิภาพ(EM) อย่างต่อเนื่อง เพื่อสิ่งแวดล้อมและสุขภาพที่ดีของคนในชุมชนต่อไป ทั้งนี้หากหน่วยงานใดสนใจการบรรยายดังกล่าว สามารถติดต่อได้ที่ฝ่ายกิจสาธารณะ โทร 1719 ต่อ 1284 ทางโรงพยาบาลฯ และมูลนิธิฯ ยินดีจัดทีมวิทยากรบรรยายให้ความรู้ทั้งภาคทฤษฎีและปฏิบัติ โดยไม่เสียค่าใช้จ่าย

1 เดือน กับการให้บริการของรพ.อบจ.ภูเก็ต


นายแพทย์จักร สมณะ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลองค์การบริหารส่วนจังหวัดภูเก็ต ได้เปิดเผยความคืบหน้าหลังจากโรงพยาบาล อบจ.ภูเก็ต เปิดให้บริการผู้ป่วยในอย่างเป็นทางการ เมื่อวันที่ 1 กรกฎาคม 2554 ที่ผ่านมาว่า โรงพยาบาล อบจ.ภูเก็ต ประสบความสำเร็จเป็นอย่างมาก ได้การตอบรับเป็นอย่างดีจากประชาชน โดยมีการบอกต่อๆ กันมามากยิ่งขึ้น ซึ่งขณะนี้มีจำนวนผู้ใช้บริการโรงพยาบาลวันละกว่า 100 คน และคาดว่าในอีกไม่ช้า จะเพิ่มถึงจำนวนวันละ 300 คน ทั้งนี้ พบว่าผู้ป่วยที่มาใช้บริการส่วนใหญ่ มีอาการของไข้หวัด ความดันโลหิตสูง และเนื่องด้วยจังหวัดภูเก็ตมีผู้ป่วยสูงอายุที่มีปัญหาเรื่องข้อเสื่อมค่อนข้างมาก ดังนั้นจึงมีผู้มาใช้บริการแผนกกระดูกและข้อในโรงพยาบาล อบจ.ภูเก็ต จำนวนมากเช่นเดียวกัน
นายแพทย์จักร กล่าวอีกว่า โรงพยาบาล อบจ.ภูเก็ต มีแพทย์เฉพาะทางหลายด้าน ทั้งอายุรกรรม ศัลยแพทย์ สูตินารีแพทย์ กระดูกและข้อ กุมารแพทย์ และทันตกรรม โดยทางแพทย์จะแนะนำการรักษาสุขภาพให้กับประชาชน ให้หมั่นออกกำลังกาย และตรวจสุขภาพประจำปี พร้อมทั้งมีแพคเกจตรวจสุขภาพ ตามเพศ และอายุไว้บริการประชาชน นอกจากมีความพร้อมด้านบุคลากรการแพทย์แล้ว ยังมีความพร้อมด้านเครื่องมือแพทย์ที่ทันสมัย เทียบเท่าโรงพยาบาลเอกชน เช่น เครื่องทีซีแสกน เครื่องอัลตราซาวน์ หน่วยบริการไตเทียม รวมถึงอุปกรณ์ในการผ่าตัด ซึ่งให้บริการเหมือนเอกชน แต่อัตราค่ารักษาเท่ารัฐบาล
ทางด้านนายแพทย์วิวัฒน์ รัตนชัย แพทย์เฉพาะทางด้านอายุรกรรมโรงพยาบาล อบจ.ภูเก็ต กล่าวว่า ในฐานะที่เป็นชาวมุสลิมก็รู้สึกดีใจที่ท่านนายก อบจ.ภูเก็ต นายไพบูลย์ อุปัติศฤงค์ และผู้อำนวยการโรงพยาบาล อบจ.ภูเก็ต ได้ให้ความสำคัญกับการให้บริการพี่น้องชาวภูเก็ตโดยไม่เลือกกลุ่ม จัดให้มีบริการอย่างเต็มที่สำหรับพี่น้องมุสลิม ทั้งมีห้องละหมาด และร้านอาหารฮาลาลภายในโรงพยาบาล ซึ่งชาวมุสลิมสามารถใช้บริการได้อย่างสบายใจ และในฐานะแพทย์อายุรกรรม พบว่า ตลอดหนึ่งเดือนที่ผ่านมาได้เจอกับคนไข้ที่เป็นโรคความดันโลหิตสูง โรคเบาหวาน โรคหัวใจ นอกจากนั้น ก็พบผู้ป่วยที่มีอาการเกี่ยวกับโรคติดเชื้อ ทางเดินอาหารอักเสบ เป็นต้น สำหรับผู้ป่วยที่มีความจำเป็นต้องนอนโรงพยาบาล เราก็พร้อมรองรับการรักษา รวมถึงมีห้องไอซียู ไว้บริการผู้ป่วยตามอาการด้วย
อย่างไรก็ตาม สำหรับขณะนี้จังหวัดภูเก็ตได้มีโรคที่กำลังระบาด คือ ไข้เลือดออก จึงอยากฝากให้ผู้ปกครองทุกท่านให้ช่วยกันดูแลบุตรหลานอย่างใกล้ชิด โดยการปฏิบัติคือ นอนกางมุ้ง ไม่อยู่ในที่อับชื้น ควรสวมใส่เสื้อผ้าแขนยาว เพื่อเป็นการระวังไม่ให้ยุงกัด ทั้งนี้ หากพบว่าบุตรหลานเริ่มต้นมีไข้ 1 – 2 วันแรก หรือมีอาการไข้สูง คลื่นไส้อาเจียน ผู้ปกครองควรพาพบแพทย์โดยเร็วที่สุด หากพบเหตุกรณีฉุกเฉิน สามารถเรียกรถฉุกเฉินได้ตลอด 24 ชั่วโมง โทร. 1669 ส่วนโรงพยาบาล อบจ.ภูเก็ต โทร.076-358 888

ฉลองตักบาตรวันแม่ 12 สิงหาคม


เมื่อวันที่ 6 สิงหาคม 54 ที่บริเวณโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพเฉลิมพระเกียรติฯตำบลฉลอง อ.เมือง ภูเก็ตนายณัฎฐ์พงศ์ วิมลพันธุ์ นายกองค์การบริหารส่วนตำบลฉลอง เป็นประธานในการทำบุญตักบาตร ข้าวสารอาหารแห้งพระสงฆ์ จำนวน 79 รูป เนื่องในโอกาสจัดงานเทิดพระเกียรติ 12 สิงหามหาราชินี ครั้งที่ 14 ประจำปี 2554 โดยมีคณะผู้บริหาร สมาชิกสภา หัวหน้าส่วนราชการ เจ้าหน้าที่พนักงาน รวมทั้งประชาชนในพื้นทีตำบลฉลอง เข้าร่วม หลักจากเสร็จพิธีทำบุญตักบาตร ทางอบต.ฉลอง ได้ร่วมกับทีมงานจาก สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดภูเก็ต และโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพเฉลิมพระเกียรติฯ จัดมีกิจกรรม การตรวจสุขภาพ ตรวจวัดความดันโลหิต เบาหวาน ตรวจคัดกรองโรคอัมพฤกษ์ อัมพาต และโรคทั่วไป ให้กับผู้สูงอายุในพื้นที่

จากนั้นในช่วงค่ำมีการถวายราชสดุดีพร้อมร่วมกันถวายพระพรชัยมงคล และร่วมจุดเทียนชัยถวายพระพร สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ โดยได้รับเกียรติจากนายสมเกียรติ สังข์ขาวสุทธิรักษ์ รองผู้ว่าราชการจังหวัดภูเก็ต เป็นประธานในพิธีฯ มีการมอบเกียรติคุณแม่ดีเด่น ประจำหมู่บ้าน 10 หมู่บ้าน ของตำบลฉลอง และมีการแสดงของศูนย์พัฒนาเด็กเล็กบ้านโคกทราย-โรงเรียน อบจ.บ้านนาบอน โรงเรียนวัดลัฎฐิวนาราม (วัดใต้) โรงเรียนบ้านฉลอง การแสดงของชมรมผู้สูงอายุตำบลฉลอง และการแสดงบนเวทีของวงซุปเปอร์แด้นซ์ โรงเรียนเทศบาลบ้านสามกอง อีกด้วย
นายกอบต.ฉลอง กล่าวอีกว่า การจัดกิจกรรมเทิดพระเกียรติฯครั้งนี้ เนื่องจากวันที่ 12 สิงหาคม เป็นวันคล้ายวันพระราชสมภพ สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์พระบรมราชินีนาถ และปีนี้ ตนในนามตัวแทนของตำบลฉลอง โดยข้าราชการทุกฝ่าย คณะกรรมการ องค์การบริหารส่วนตำบลฉลอง – กำนัน – ผู้ใหญ่บ้าน – เจ้าหน้าที่สาธารณสุข – เจ้าหน้าที่โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพเฉลิมพระเกียรติฯ ตำบลฉลอง – กลุ่มอสม. – ข้าราชการตำรวจ – ทหาร – อปพร. – ชมรมผู้สูงอายุ และประชาชนทุกหมู่เหล่า ได้พร้อมใจจัดให้มีพระราชพิธีเฉลิมพระเกียรติถวายพระพรชัยมงคล เฉลิมพระชนมพรรษา สมเด็จพระนางเข้า สิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ เพื่อแสดงความจงรักภัคดี และน้อมรำลึกในพระมหากรุณาธิคุณ ที่ทรงปฏิบัติพระราชกรณียกิจ ยังความร่วมเย็น แก่พสกนิกรชาวไทยทุกหมู่เหล่า มาจนถึงทุกวันนี้

เยี่ยมพี่น้องมุสลิม ในเดือนรอมฎอน


เมื่อคืนของวันที่ 4 สิงหาคม 2554 ที่มัสยิดนูรุ้ลอิสลาม (บ้านบ่อสอม) ตำบลไม้ขาว อำเภอถลาง จังหวัดภูเก็ต นายไพบูลย์ อุปัติศฤงค์ นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดภูเก็ต พร้อมด้วยนายสรธรรม จินดา รองนายก อบจ.ภูเก็ต ได้ลงพื้นที่เยี่ยมเยียนพี่น้องประชาชนเขตพื้นที่ตำบลไม้ขาว ในโครงการส่งเสริมประเพณีวัฒนธรรมการถือศีลอดในเดือนรอมฎอนของพี่น้องชาวมุสลิมในจังหวัดภูเก็ต ประจำปี 2554 โดยมี นายสมเกียรติ สังข์ขาวสุทธิรักษ์ รองผู้ว่าราชการจังหวัดภูเก็ต นายประยูร หนูสุก วัฒนธรรมจังหวัดภูเก็ต นายสราวุธ สีสาคูคาม นายก อบต.ไม้ขาว และหัวหน้าส่วนราชการ เข้าร่วม
สำหรับการเยี่ยมเยียนพี่น้องชาวตำบลไม้ขาวในครั้งนี้ ทางองค์การบริหารส่วนจังหวัดภูเก็ต ได้มอบเงินสนับสนุน พร้อมอินทผลัมเพื่อการละศีลอด ให้แก่ 7 มัสยิด ประกอบด้วย มัสยิดบ้านบ่อสอม มัสยิดหมากปรก มัสยิดทุ่งคา มัสยิดบ้านหยิด มัสยิดคอเอน มัสยิดบางดุก และมัสยิดนาส้มป่อย โดยร่วมรับประทานอาหารเย็นกับ นายบำรุง สำเภารัตน์ ประธานคณะกรรมการอิสลามจังหวัดภูเก็ต ตลอดจนกำนัน ผู้ใหญ่บ้าน และพี่น้องมุสลิมอีกด้วย
นายไพบูลย์ อุปัติศฤงค์ นายก อบจ.ภูเก็ต กล่าวว่า “ขอขอบคุณในการต้อนรับที่อบอุ่นในเดือนรอมฎอนและรู้สึกภูมิใจอย่างยิ่งที่ได้มาร่วมพิธีละศีลอดในค่ำคืนนี้ สำหรับเดือนนี้ เป็นเดือนอันประเสริฐ ประตูสวรรค์เปิด ประตูนรกปิด ซึ่งพวกเราได้มาร่วมกันทำความดี แบ่งปันไมตรี ให้ในสิ่งที่ดีแก่กัน เชื่อว่าการทำความดีตลอดเดือนรอมฎอน จะเป็นสิ่งที่เป็นมงคล ซึ่งอัลเลาะห์จะประทานพรให้ ทั้งนี้ ขอให้ทุกท่านประสบความสำเร็จ คิดสิ่งใดขอให้สมความประสงค์ทุกประการ”

กมธ.คมนาคมวุฒิสภา ตามปัญหาสนามบินภูเก็ต


เมื่อวันที่ 5 สิงหาคม 2554 ที่ห้องประชุมสำนักงานท่าอากาศยานภูเก็ต บริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) คณะกรรมาธิการการคมนาคม คณะกรรมาธิการทรัพยากรธรรมชาติ และสิ่งแวดล้อม นำโดยนางภารดี จงสุขธนามณี กรรมาธิการและประธานอนุกรรมาธิการด้านคมนาคมอากาศยาน วุฒิสภา ประชุมติดตามและตรวจสอบการดำเนินงานของท่าอากาศยานภูเก็ต โดยมีนายนิวิทย์ อรุณรัตน์ รองผู้ว่าราชการจังหวัดภูเก็ต นางธันยรัศม์ อัจฉริยะฉาย ประธานกรรมาธิการการท่องเที่ยว วุฒิสภา นางดวงใจ คอนดี ผู้อำนวยการท่าอากาศยานภูเก็ต พร้อมด้วยผู้บริหารท่าอากาศยานภูเก็ต หน่วยงานราชการที่เกี่ยวข้อง นายสมบูรณ์ จิรายุส นายกสมาคมธุรกิจการท่องเที่ยวจังหวัดภูเก็ต และภาคเอกชนที่เกี่ยวข้องเข้าร่วม
ทั้งนี้ทางท่าอากาศยานภูเก็ต ได้ชี้แจงเกี่ยวกับการพัฒนาท่าอากาศยานภูเก็ต ว่า ท่าอากาศยานภูเก็ตมีเนื้อที่ประมาณ 1,382 ไร่ มีทางวิ่งยาว 3,000 เมตร มี 23 หลุมจอด รองรับอากาศยานขึ้น-ลงได้ชั่วโมงละ 20 ลำอาคารผู้โดยสาร เป็นอาคาร 3 ชั้น พื้นที่ 32,500 ตารางเมตร รองรับผู้โดยสารได้ปีละ 6.5 ล้านคน มีพื้นที่ที่จอดรถพื้นที่ 24,863 ตารางเมตร จอดรถส่วนบุคคลได้ 366 คันและจอดรถบัสได้ 77 คัน อาคารคลังสินค้า พื้นที่ 6,950 ตารางเมตร รับสินค้าได้ปีละ 36,500 ตัน ปริมาณการจราจรทางอากาศเปรียบเทียบระหว่างปี 2552 กับปี 2553 พบว่าเพิ่มขึ้นประมาณ 28% โดยมีเที่ยวบินขึ้นลงประมาณ 46,000 เที่ยว ในขณะที่จำนวนผู้โดยสารซึ่งผ่านสนามบินเทียบระหว่างปี 2552 กับปี 2553 พบว่าเพิ่มขึ้นประมาณ 24% โดยมีจำนวน 4.7 ล้านคน มีสายการบินจำนวน 36 สายการบินเป็นสายการบินประจำ 31 สายการบินและเช่าเหมาลำ 5 สายการบิน จำนวน 60 เมือง 23 ประเทศ
อย่างไรก็ตามจากการเติบโตของผู้โดยสารอย่างต่อเนื่องส่งผลให้เกิดความแออัดของผู้ใช้บริการและเกินขีดความสามารถที่มีอยู่ จึงได้มีการจัดทำโครงการพัฒนาท่าอากาศยานภูเก็ตปี 2552 – 2556 เพื่อลดปัญหาดังกล่าวและสามารถที่จะรองรับผู้โดยสารเพิ่มขึ้นเป็น 12.5 ล้านคน แบ่งเป็นผู้โดยสารระหว่างประเทศ 5 ล้านคนต่อปี และผู้โดยสารภายในประเทศ 7.5 ล้านคนต่อปี ภายในปี 2563 และมีหลุมจอดเพิ่มขึ้น จาก 15 หลุมจอด เป็น 25 หลุมจอด มีงานที่จะต้องดำเนินการประกอบด้วย กลุ่มงานที่ 1 ออกแบบทางขับและลานจอดและขยายระบบเติมน้ำมันอากาศยาน กลุ่มงานที่ 2 ก่อสร้างอาคารผู้โดยสารระหว่างประเทศ กลุ่มงานที่ 3 ก่อสร้างอาคารจอดรถ และสำนักงาน ทภก.ก่อสร้างอาคารทดแทน และกลุ่มงานที่ 4 ก่อสร้างระบบถนนและสาธารณูปโภคภายในท่าอากาศยานก่อสร้างระบบถนนและสาธารณูปโภคภายในท่าอากาศยาน ซึ่งขณะนี้ทั้งหมดอยู่ระหว่างการดำเนินการ ขณะเดียวกันก็มีการจัดทำโครงการเร่งด่วนเพื่อแก้ปัญหาเฉพาะหน้าเพื่อลดปัญหาต่างๆ ที่เกิดขึ้น เช่น การปรับปรุงห้องน้ำ การเพิ่มจำนวนที่พักรอของผู้โดยสาร เป็นต้น
ทั้งนี้หลังจากที่ทางคณะกรรมาธิการฯ ได้รับฟังบรรยายสรุปแล้ว ได้มีการเสนอความคิดเห็นและข้อเสนอแนะต่างๆ อย่างกว้างขวาง อาทิ การเพิ่มจำนวนที่นั่งสำหรับผู้โดยสารที่มีค่อนข้างน้อย จำนวนร้านค้าที่มีจำนวนมากเกินไป ปัญหาหลุมจอดสำหรับเครื่องบินเช่าเหมาลำที่มีไม่เพียงพอ การเตรียมพร้อมรับปัญหาสิ่งแวดล้อม ไม่ว่าจะเป็นมลพิษทางเสียง น้ำเสีย หรือขยะ ปัญหาการจราจรภายในท่าอากาศยานและภายนอก ปัญหารถให้บริการทั้งที่ถูกต้องและไม่ถูกต้อง การจัดกิจกรรมช่วยเหลือสังคมที่ควรจะมีความต่อเนื่องและสร้างสรรค์ การชี้แจงข้อมูลของโครงการให้กับประชาชนในชุมชนได้รับทราบ การเพิ่มรันเวย์ การออกแบบอาคารใหม่ควรให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องในท้องถิ่นทั้งภาครัฐ ประชาชนและเอกชนได้มามีส่วนร่วมด้วย เป็นต้น
อย่างไรก็ตามหลังจากที่ทางผู้บริหารท่าอากาศยานภูเก็ตชี้แจงและตอบข้อซักถามต่างๆ แล้ว นางภารดี กล่าวสรุปว่า ในบางประเด็นที่เป็นปัญหานั้นในส่วนของการท่าฯภูเก็ต ยังไม่สามารถให้ความกระจ่างได้ เนื่องจากการบริหารจัดการจะเป็นการสั่งการมาจากส่วนกลาง เมื่อกลับไปกรุงเทพฯ แล้วจะได้เชิญผู้ที่เกี่ยวข้องทุกฝ่ายมาชี้แจงเพื่อให้เกิดความกระจ่างอีกครั้ง เพราะจากข้อปัญหาต่างๆ ที่ได้รับทราบพบว่าเป็นปัญหาที่ค่อนข้างวิกฤตสำหรับภูเก็ตมาก โดยเฉพาะความแออัดของสนามบินซึ่งปัจจุบันเกินขีดความสามารถที่มีอยู่ และจะรายงานผลมาให้ทางจังหวัดภูเก็ตได้รับทราบด้วย

รพ.วชิระจัดงานวันแม่แห่งชาติ 12 สิงหาคม


 
เมื่อวันที่ 5 สิงหาคม 2554 ที่โรงพยาบาลวชิระภูเก็ต นายแพทย์เจษฎา จงไพบูลย์พัฒนะ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลวชิระภูเก็ต เป็นประธานเปิด กิจกรรมเทิดพระเกียรติ เนื่องในวันคล้ายวันเฉลิมพระเกียรติพระชนม์พรรษา สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์พระบรมราชินีนาถ 12 สิงหาคม 2554 ซึ่งทางโรงพยาบาลวชิระภูเก็ต ร่วมกับงานอนามัยแม่และเด็กสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดภูเก็ต และเครือข่าย ได้ร่วมกันจัดขึ้น เพื่อเป็นการเทิดพระเกียรติ เนื่องในวันคล้ายวันเฉลิมพระเกียรติพระชนม์พรรษา สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์พระบรมราชินีนาถ เป็นการกระตุ้นและประชาสัมพันธ์ให้ทุกคนเลี้ยงลูกด้วยนมแม่อย่างเดียว 6 เดือน และการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่พร้อมอาหารตามวัยจนลูกอายุ 2 ปี ตามคำขวัญสัปดาห์นมแม่โลก ว่า “นมแม่ดี บอกต่อรอบทิศด้วยจิตอาสา ร่วมมือ ร่วมใจ เพื่อให้เด็กไทยได้กินนมแม่” โดยมีบรรดาคุณแม่ซึ่งนำลูกๆ มาร่วมกิจกรรมเป็นจำนวนมาก อาทิ การประกวดแม่ตั้งครรภ์คุณภาพ กิจกรรมหนูน้อยนมแม่ แข่งคลาน การเสวนา "แม่ทำงานให้ลูกกินนมแม่ได้จริงหรือ" บอร์ดนิทรรศการ การเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ สาธิตอุปกรณ์บีบน้ำนมเก็บ มุมเด็กเล่น พัฒนาการเด็ก เป็นต้น
นายแพทย์เฉลิมพล วิริยานุกูลวงศ์ หัวหน้ากลุ่มงานสูติ – นรีเวชกรรม กล่าวว่า การจัดกิจกรรมเทิดพระเกียรติเนื่องในวันคล้ายวันเฉลิมพระชนมพรรษา สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์พระบรมราชินีนาถ 12 สิงหาคม และสัปดาห์นมแม่โลก (World Breastfeeding Week) ตรงกับวันที่ 1-7 สิงหาคมของทุกปี ซึ่งเป็นสัปดาห์ที่ประเทศต่างๆ ทั่วโลกร่วมกันรณรงค์การส่งเสริมการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่พร้อมกัน โดยมีองค์กรเครือข่ายพันธมิตรการส่งเสริมการเลี้ยงลูกด้วยนมแห่งโลก (WABA) เป็นผู้ประสานงาน เพื่อเป็นการกระตุ้นและประชาสัมพันธ์ให้ทุกคนเลี้ยงลูกด้วยนมแม่อย่างเดียวในระยะเวลา 6 เดือน และการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่พร้อมอาหารตามวัยจนลูกอายุ 2 ปี ทั้งนี้เพราะในน้ำนมแม่มีสารอาหารพร้อมระบบภูมิคุ้มกัน ทำให้เด็กแข็งแรงไม่เจ็บป่วย ลดโรคระบบทางเดินหายใจได้ 2-5 เท่า ของเด็กกินนมผง และนมแม่เป็นต้นทุนของการพัฒนาสมองและสติปัญญา ซึ่งสถิติกรมอนามัย ปี 2550 พบเด็กไทยกินนมแม่อย่างน้อย 6 เดือน ร้อยละ 15
ทั้งนี้ ตลอด 20 ปี การเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ที่ไทยเป็นสมาชิกของปฏิญญาอินโนนเซนติ องค์การอนามัยโลกไทยได้รับรองโรงพยาบาลเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ 100 เปอร์เซ็นต์ จำนวน 483 แห่ง มีข้อกำหนด ประกอบด้วย 1.ประเทศสมาชิกต้องมีนโยบายและกิจกรรมเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ต่อเนื่อง 2.ต้องฝึกอบรมเจ้าหน้าที่ให้ปฏิบัติเรื่องนโยบายนมแม่อย่างเคร่งครัด 3.ชี้แจงหญิงตั้งครรภ์ถึงประโยชน์ของนมแม่ 4.ช่วยให้แม่ให้นมหลังคลอดบุตร 5.สอนการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ 6.อย่าให้ผสมผสานอาหารอื่นให้ทารกนอกจากนมแม่ 7.ให้แม่ – ลูกได้อยู่ร่วมกันหลังคลอดตลอด 24 ชั่วโมง 8.สนับสนุนให้ลูกดื่มนมแม่ตลอด 9.ห้ามลูกดูดจุกนมยาง และ 10.หลังคลอดบุตร ให้แม่เข้าเครือข่ายเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ นายแพทย์เฉลิมพล กล่าว

วันพฤหัสบดีที่ 4 สิงหาคม พ.ศ. 2554

พัฒนาศักยภาพบุคลากรเครือข่ายกีฬา


เมื่อวันที่ 4 สิงหาคม 2554 ที่ห้องบอลรูม โรงแรมเพิร์ล อ.เมือง จ.ภูเก็ต นายนิวิทย์ อรุณรัตน์ รองผู้ว่าราชการจังหวัดภูเก็ต เป็นประธานเปิดโครงการอบรมเชิงปฏิบัติการ การพัฒนาศักยภาพบุคลากรเครือข่ายกีฬาและนันทนาการ จังหวัดภูเก็ต โดยมีนายบัวยัญ สุวรรณมณี ท่องเที่ยวและกีฬาจังหวัดภูเก็ต นายเชษฐวิทย์ ตันติพันธุ์วดี นายกสมาคมกีฬาจังหวัดภูเก็ต นายชัยอนันท์ สุทธิกุล นายกเทศมนตรีเมืองกะทู้ และบุคลากรเครือข่ายกีฬาและนันทนาการจากโรงเรียนต่าง ๆ ในจังหวัดภูเก็ต เข้าร่วมจำนวน 80 คน
โอกาสเดียวกันนี้ได้มีการเสวนาและการให้ความรู้เชิงปฏิบัติการตามโครงการพัฒนาศักยภาพบุคลากรเครือข่ายกีฬาและนันทนาการจังหวัดภูเก็ต เป็นการเสวนาในประเด็นยุทธศาสตร์การพัฒนากีฬาชาติ การเสวนาบทบาทขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น องค์การภาคราชการ และสมาคมกีฬาในการพัฒนากีฬาของจังหวัดภูเก็ต
นายบัวยัญ กล่าวว่า สำนักงานการท่องเที่ยวและกีฬาจังหวัดภูเก็ต ในฐานะเป็นหน่วยงานราชการของกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬาในส่วนภูมิภาค มีหน้าที่ประสานงานโครงการและงบประมาณให้กับหน่วยงานราชการสังกัดกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา เพื่อดำเนินงานส่งเสริม สนับสนุนกิจกรรมด้านการท่องเที่ยวและกีฬา นันทนาการในจังหวัดภูเก็ต ทั้งการจัดอบรมดังกล่าว เพื่อบูรณาการทรัพยากรทุกภาคส่วนในการจัดการด้านที่เป็นระบบโดยเน้นการมีส่วนร่วมของประชาชนทุกระดับ ตลอดจนเพื่อให้องค์กรกีฬาและเครือข่ายกีฬาและนันทนาการมีส่วนร่วมในการบริหารจัดการกีฬาและนันทนาการอย่างมีประสิทธิภาพครอบคลุมทุกพื้นที่ในจังหวัด และเพื่อพัฒนาศักยภาพบุคลากรเครือข่ายทางด้านการกีฬาและนันทนาการให้มีความรู้ ความสามารถในการบริหารจัดการการกีฬา
ขณะที่นายนิวิทย์ กล่าวว่า จังหวัดภูเก็ตนอกจากจะมีทรัพยากรทางการท่องเที่ยวทางธรรมชาติที่สวยงามเป็นที่รู้จักทั้งชาวไทยและต่างประเทศแล้ว กิจกรรมทางด้านการกีฬาเป็นกิจกรรมหนึ่งที่สร้างชื่อเสียงให้กับจังหวัดภูเก็ตและประเทศไทย มีนักกีฬาทั้งชาวไทยและต่างประเทศให้ความสนใจในกิจกรรมทางด้านกีฬาของจังหวัดมากขึ้นต่อเนื่อง ดังนั้นการพัฒนาศักยภาพของบุคลากรด้านพลศึกษา กีฬาและนันทนาการให้มีประสิทธิภาพจึงเป็นเรื่องสำคัญ รวมทั้งการที่เราได้รับการคัดเลือกให้เป็นเจ้าภาพการแข่งขันกีฬาเยาวชนแห่งชาติในปี 2555 และการเป็นสถานที่จัดการแข่งขันเอเชี่ยนบีชเกมส์ในอีก 2 ปีข้างหน้าด้วย

มูลนิธิกุศลธรรมภูเก็ตจัดเทกระจาด


เมื่อวันที่ 4 สิงหาคม 2554 ที่ห้องประชุมชั้น 2 อาคารมูลนิธิกุศลธรรมภูเก็ต นายนิวิทย์ อรุณรัตน์ รองผู้ว่าราชการจังหวัดภูเก็ต พร้อมด้วยนางเบญจวรรณ ตัมพานุวัตร ประธานมูลนิธิกุศลธรรมภูเก็ต นายแพทย์ศิริชัย ศิลปอาชา ประธานหอการค้าจังหวัดภูเก็ต และคณะกรรมการมูลนิธิกุศลธรรมภูเก็ต ได้ร่วมกันมอบข้าวสารให้กับโรงเรียนต่างๆ ในจังหวัดภูเก็ตจำนวน 37 แห่ง ๆ ละ 250 กิโลกรัม เพื่อนำไปใช้ในโครงการอาหารกลางวันแก่เด็ก นักเรียน ผู้ด้อยโอกาส
จากนั้นในช่วงบ่ายนางเบญจวรรณ ตัมพานุวัตร ประธานมูลนิธิกุศลธรรมภูเก็ต พร้อมด้วยนางรจนา รักแต่งาม ตัวแทนเหล่ากาชาดจังหวัดภูเก็ต ตลอดจนคณะกรรมการมูลนิธิและแขกผู้มีเกียรติ ร่วมในพิธีสักการะและฉลองวันเกิดเทพเจ้าโป๊ยจุนเซี้ยฮุด และพิธีเทกระจาดตามประเพณี ครั้งที่ 2 ประจำปี 2554 ซึ่งทางมูลนิธิกุศลธรรมภูเก็ตจัดขึ้น ในโอกาสนี้มีประชาชนผู้ยากไร้ จำนวนนับพันมารอรับการแจกทาน
นางเบญจวรรณ กล่าวว่า ทางมูลนิธิกุศลธรรมภูเก็ตจะจัดให้มีพิธีเทกระจาดตามประเพณีปีละ 2 ครั้งทุกๆ 6 เดือน และครั้งนี้เป็นครั้งที่ 2 ของปีนี้ ซึ่งตรงกับวัน 5 ค่ำ เดือน 7 หรือวันผ้อต่อ ถือเป็นวันอุทิศส่วนกุศลให้แก่วิญญาณไร้ญาติ ส่วนของการพิธีเทกระจาด (แจกทาน) นั้นจะมีการแจกข้าวสารอาหารแห้ง ซึ่งทางมูลนิธิฯได้จัดเตรียมไว้ และบางส่วนได้รับบริจาคจากผู้มีจิตศรัทธาร่วมบริจาค พร้อมกันนี้ก็ได้มีการประกอบพิธีเซ่นไหว้ดวงวิญญาณไร้ญาติ
สำหรับการเทกระจาคในครั้งนี้ได้มีการจัดเตรียมข้าวสารจำนวน 240 กระสอบ (24,000 กิโลกรัม) ต่อ 6 เดือน บรรจุถุงพลาสติก/ถุงละ 5 กิโลกรัม แจกทานให้แก่ผู้ยากไร้คนละ 5 กิโลกรัม พร้อมด้วยอาหารแห้งและของใช้เบ็ดเตล็ดอื่นๆ ในแต่ละครั้ง จะมีประชาชนผู้ยากไร้ เข้าร่วมรับแจกทานกว่า 2,000 คน

ศาลเด็กให้ความรู้กฎหมายในสถาบันศึกษา


เมื่อวันที่ 4 สิงหาคม 2554 ที่ห้องประชุมโรงเรียนสตรีภูเก็ต นายอรรถการ ฟูเจริญ ผู้พิพากษาหัวหน้าศาลเยาวชนและครอบครัวจังหวัดภูเก็ต เป็นประธานเปิด โครงการเผยแพร่ความรู้ด้านกฎหมายแก่เด็กและเยาวชนในสถาบันการศึกษา ประจำปี 2554 ซึ่งศาลเยาวชนและครอบครัวจังหวัดภูเก็ต จัดขึ้น โดยมี นายจิรวิทย์ ปิติกุลสถิตย์ ผู้พิพากษาสมทบศาลเยาวชนและครอบครัวจังหวัดภูเก็ต คณะครู นักเรียนโรงเรียนสตรีภูเก็ต คณะผู้พิพากษาสมทบ และเจ้าหน้าที่ศาลเยาวชนฯ จังหวัดภูเก็ต เข้าร่วม
นายจิรวิทย์ ปิติกุลสถิตย์ ผู้พิพากษาสมทบศาลเยาวชนและครอบครัวจังหวัดภูเก็ต กล่าวว่า จากการอยู่ร่วมกันเป็นสังคมมนุษย์นั้น จำเป็นต้องมีกฎเกณฑ์และกติกาต่างๆ เพื่อให้ทุกคนในสังคมอยู่ร่วมกันได้อย่างเรียบร้อย มีความสุข กฎเกณฑ์ที่สำคัญในการควบคุมให้ทุกคนต้องประพฤติและปฏิบัติในแนวทางเดียวกัน คือกฎหมาย ทั้งนี้ศาลเยาวชนและครอบครัวจังหวัดภูเก็ต เป็นศาลชั้นต้นที่มีภารกิจในการคุ้มครองเด็กและเยาวชนที่กระทำผิดให้ได้มีโอกาสกลับตนเป็นพลเมืองดีของสังคม ด้วยปัจจุบันเป็นที่ทราบกันดีว่าสภาพสังคม เศรษฐกิจ ก่อให้เกิดปัญหาต่อการกระทำความผิดของเด็กและเยาวชนหลายประการ และยิ่งทวีความรุนแรงมากขึ้น ดังนั้นทุกฝ่าย จะต้องร่วมกันป้องกัน และแก้ไขเพื่อให้เกิดความสงบสุขในสังคม โดยกลุ่มเป้าหมายที่ต้องให้ความสำคัญคือเด็กและเยาวชน ซึ่งจะเป็นอนาคตของประเทศ
ทางด้านนายอรรถการ ฟูเจริญ ผู้พิพากษาหัวหน้าศาลเยาวชนและครอบครัวจังหวัดภูเก็ต กล่าวด้วยว่า เยาวชน คือ อนาคตของชาติ ที่จะสร้างประเทศให้มีความเจริญรุ่งเรืองต่อไป ในขณะเดียวกันในช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อของชีวิตเยาวชนทุกคน ซึ่งขึ้นอยู่กับสภาพแวดล้อม ความเป็นอยู่ของแต่ละครอบครัว เช่น การอบรมเลี้ยงดูของบิดา มารดา การเปลี่ยนแปลงทางด้านร่างกาย อารมณ์ และจิตใจ ซึ่งส่งผลต่อความคิดพฤติกรรมหรือแม้แต่ค่านิยมต่างๆ และสิ่งที่จะเป็นเกราะป้องกันภัยทางสังคม ได้แก่ เยาวชนดีได้คือครอบครัวที่อบอุ่น รวมถึงการได้รับการศึกษาถูกต้อง ก็จะเป็นส่วนหนึ่งในการให้เยาวชนของชาติได้ดำเนินชีวิตก้าวสู่ความสำเร็จต่อไป แต่ปัจจุบันเยาวชนของชาติได้หลงผิดก้าวสู่ทางเดินที่ไม่ถูกต้องเป็นจำนวนมาก ศาลเยาวชนและครอบครัวจังหวัดภูเก็ต จึงหาทางในการช่วยเหลือโดยการให้ความรู้ ความเข้าใจในเรื่องของกฎหมายเบื้องต้น เพื่อป้องกันการกระทำความผิดของเยาวชน ซึ่งคือ การร่วมมือกับสถาบันการศึกษาในการบรรยายความรู้ด้านกฎหมาย ด้วยความมุ่งมั่นของศาลเยาวชนและครอบครัวจังหวัดภูเก็ต จะสามารถทำให้เยาวชน มีจิตสำนึกที่ดี ไม่หันมากระทำความผิด และก้าวสู่ความสำเร็จในอนาคตต่อไป

“คลัสเตอร์ผ้าบาติกภูเก็ต”

เมื่อวันที่ 4 สิงหาคม 2554 ที่ห้องประชุมโรงแรมเพิร์ล อ.เมือง จ.ภูเก็ต นายสมเกียรติ สังข์ขาวสุทธิรักษ์ รองผู้ว่าราชการจังหวัดภูเก็ต เป็นประธานเปิดการสัมมนาสรุปผลการดำเนินงาน โครงการพัฒนาการรวมกลุ่มและเชื่อมโยงอุตสาหกรรม (industrial Cluster Development) “คลัสเตอร์ผ้าบาติกภูเก็ต” ประจำปี 2554 ซึ่งคลัสเตอร์ผ้าบาติกภูเก็ต จัดขึ้น โดยมีนายไพบูลย์ อุปัติศฤงค์ นายก อบจ.ภูเก็ต หน่วยงานราชการที่เกี่ยว และสมาชิกคลัสเตอร์ผ้าบาติกภูเก็ตเข้าร่วม
สำหรับการรวมตัวของผู้ประกอบการผ้าบาติกภูเก็ตเป็นคลัสเตอร์ผ้าบาติกภูเก็ต เกิดขึ้นภายหลังศูนย์ส่งเสริมอุตสาหกรรมภาคที่ 10 กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม ได้เล็งเห็นว่าอุตสาหกรรมผ้าบากติกภูเก็ต เป็นอุตสาหกรรมหนึ่งที่มีความสำคัญทั้งทางเศรษฐกิจและการสืบต่อของวัฒนธรรม ภูมิปัญญาของภูเก็ต ขาดแนวทางในการพัฒนาอย่างยั่งยืน และการส่งเสริมสนับสนุนจากหน่วยงานภาครัฐ จึงได้มอบหมายให้บริษัทเอ็น. พี. ชินดัง คอลซัลแท็นซ์ จำกัด เข้ามาทำการศึกษาและดำเนินการรวมกลุ่มผู้ผลิตผ้าบาติกของจังหวัดภูเก็ตภายใต้โครงการพัฒนาการรวมกลุ่มและเชื่อมโยงอุตสาหกรรมผ้าบากติกจังหวัดภูเก็ต เพื่อผลักดันให้ผู้ประกอบการฯ พัฒนาศักยภาพในการแข่งขันของอุตสาหกรรมผ้าบาติกให้สามารถรับมือกับกระแสการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นและสามารถเติบโตได้อย่างต่อเนื่อง ภายใต้วิสัยทัศน์ “คลัสเตอร์บาติกภูเก็ตเป็นศูนย์บูรณาการบาติกของประเทศไทยได้รับการยอมรับในระดับนานาชาติ” เพื่อนำเสนอผลการดำเนินงานของกลุ่ม ซึ่งเป็นครั้งแรกที่มีการรวมตัวกันของผู้ประกอบการผลิตผ้าบาติกในพื้นที่จังหวัดภูเก็ต จำนวน 20 ราย เพื่อจะร่วมผลักดันให้ผ้าบาติกเดินหน้าไปสู่เป้าหมายตามวิสัยทัศน์ที่กำหนดไว้
นายเฉลิม แสงจันทร์ ประธานคลัสเตอร์ผ้าบาติกภูเก็ต กล่าวว่า การผลิตผ้าบาติกในจังหวัดภูเก็ตเริ่มต้นมาประมาณ 40 ปี และได้รับความนิยมเป็นอย่างมากในช่วงปี 2546 ผลจากการที่หน่วยงานภาครัฐเข้าไปส่งเสริมให้กลุ่มต่างผลิตผ้าบาติกันเป็นจำนวนมากจนเกิดร้านผลิตผ้าบาติกมากกว่า 60 แห่ง แต่หลังจากนั้นความนิยมของผ้าบาติก็เริ่มลดลงจนปัจจุบันเหลือเพียงประมาณ 10 กว่าร้านเท่านั้นและเป็นผู้ผลิตที่แท้จริง สาเหตุที่การผลิตผ้าบาติกลดลง เนื่องจากที่ผ่านมาผู้ผลิตในภูเก็ตต่างคนต่างทำ ต่างคนต่างขายทำให้ผาบาติกภูเก็ตขาดการพัฒนารูปแบบและอยู่กับที่ รวมทั้งบางส่วนที่เคยได้รับการสนับสนุนจากภาครัฐก็ไม่ได้รับการสนับสนุนเพิ่มเติม
“หลังจากมีการรวมตัวกันเป็นคลัสเตอร์ผ้าบาติกภูเก็ตแล้ว ทำให้เกิดการพัฒนาผ้าบาติกแนวใหม่ขึ้น และจะมีการพัฒนาผ้าบาติกของภูเก็ตไปสู่ยุทธศาสตร์และวิสัยทัศน์ที่วางไว้ โดยเฉพาะการทำให้ผ้าบาติกเป็นอีกหนึ่งอัตลักษ์ของภูเก็ต เนื่องจากเมื่อมีการรวมตัวกันก็จะทำให้สามารถต่อรองในเรื่องของการสั่งซื้อวัสดุอุปกรณ์ต่างๆ ที่มีราคาแพงให้มีราคาที่ลดลง เพราะจะมีการสั่งซื้อครั้งละเป็นจำนวนมาก นอกจากนี้ก็จะมีการถ่ายทอดเทคนิคการผลิตไปสู่เยาวชนคนรุ่นหลัง การกระจายงานให้กับผู้ประกอบการด้วยกันเนื่องจากบางร้านมียอดสั่งเข้ามาจำนวนมากแต่ไม่สามารถผลิตได้ทัน รวมถึงการแลกเปลี่ยนและพัฒนาเทคนิคการผลิตใหม่ๆ ให้เกิดขึ้นด้วย”
นายเฉลิม กล่าวด้วยว่า เมื่อมีการรวมกลุ่มกันได้แล้ว เราก็ต้องการการสนับสนุนจากหน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้องในการจัดตั้งศูนย์บูรณาการบาติก เพื่อใช้เป็นสถานที่รวบรวมงานของสมาชิก การสอนเทคนิคการเขียนบาติให้กับคนรุ่นหลัง รวมทั้งการพัฒนาเทคนิคการทำผ้าบาติกแบบสมัยใหม่ ให้ตรงกับความต้องการของกลุ่มลูกค้า และเป็นสถานที่ในการจัดจำหน่ายให้กับนักท่องเที่ยว ซึ่งขณะนี้ต้องยอมรับว่ากลุ่มลูกค้าผ้าบาติกประมาณ80% เป็นคนไทย ฉะนั้นการจะผลักดันให้ผ้าบาติกเป็นสินค้าเพื่อให้ชาวต่างชาติซื้อเป็นของที่ระลึกจำเป็นจะต้องมีการพัฒนางานให้ตรงกับความต้องการของต่างชาติ โดยเฉพาะเรื่องของการนำศิลปะ การพัฒนาลายผ้าและรูปแบบผลิตภัณฑ์ให้ตรงกับความต้องการ จากเดิมที่มีเฉพาะลายทะเล ดอกไม้เท่านั้น