เมื่อวันที่ 26 มิถุนายน 2553 ที่ห้องประชุมด่านศุลกากรภูเก็ต อ.เมือง จ.ภูเก็ตคณะกรรมาธิการการพาณิชย์และทรัพย์สินทางปัญญา สภาผู้แทนราษฎร นำโดยนายเรืองเดช สุพรรณฝ่าย ประธานที่ปรึกษาคณะกรรมาธิการฯ ประชุมร่วมกับนายนิวิทย์ อรุณรัตน์ รองผู้ว่าราชการจังหวัดภูเก็ต นายอนันต์ศรีประเสริฐ รักษาการหัวหน้าด่านศุลกากรภูเก็ต และผู้ที่เกี่ยวข้อง ในโอกาสเดินทางมาศึกษาดูงานเรื่อง แนวทางการป้องกันและปราบปรามการละเมิดทรัพย์สินทางปัญญาใน จ.ภูเก็ต เพื่อรับฟังปัญหาและแนวทางการไขในการที่จะนำเสนอโครงการต่อรัฐบาลในการช่วยเหลือต่อไป
นายเรืองเดช สุพรรณฝ่าย ประธานที่ปรึกษาคณะกรรมาธิการฯ กล่าวว่า จากการรับฟังบรรยายสรุปพบว่า ในพื้นที่ภูเก็ตจะไม่มีเรื่องของการผลิตสินค้าละเมิดลิขสิทธิ์ แต่จะมีการนำเข้ามาจากพื้นที่อื่น โดยกลุ่มผู้สนใจซื้อสินค้าจะมีเพียงบางกลุ่ม แต่ก็ยังจำเป็นที่จะต้องมีการช่วยกันดูแลเพื่อไม่ให้เกิดปัญหาขึ้น ขณะเดียวกันได้รับทราบถึงปัญหาของท่าเทียบเรือน้ำลึกภูเก็ต เนื่องจากปัจจุบันยังใช้ประโยชน์ไม่เต็มที่ ดังนั้นจะได้มีการนำเสนอต่อรัฐบาลในการที่จะพัฒนาและปรับปรุงเพื่อนำมาใช้ประโยชน์ให้เหมาะสมและศักยภาพของพื้นที่ โดยเฉพาะรองรับเรื่องของการท่องเที่ยว ตลอดจนการจัดทำเป็นดิวตี้ฟรีโซน ซึ่งคิดว่ามีความจำเป็นสำหรับการท่องเที่ยว
ขณะที่นายนิวิทย์ อรุณรัตน์ รองผู้ว่าราชการจังหวัดภูเก็ต กล่าวว่า สำหรับภูเก็ตไม่มีปัญหาเรื่องของการผลิตสินค้าละเมิดลิขสิทธิ์ แต่ที่พบจะเป็นการนำเข้ามาจากประเทศเพื่อนบ้านโดยทางบก ซึ่งจะไม่เป็นที่นิยมของนักท่องเที่ยวกลุ่มยุโรปซึ่งมีกำลังซื้อสูง ทั้งนี้จะมีความนิยมในกลุ่มของต่างชาติบางกลุ่มเท่านั้น อย่างไรก็ตามทางจังหวัดและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องก็ไม่ได้ปล่อยปละละเลย จะมีการจัดชุดกำลังเจ้าหน้าที่ออกไปตรวจสอบอยู่ตลอดเวลา ส่วนของยาเสพติดที่จะเข้ามาทางเรือนั้นคิดว่าค่อนข้างน้อยมาก โดยเฉพาะในส่วนของเรือสำราญ แต่ไม่ได้หมายความว่าไม่มีเลย โดยอาจจะมีบ้างก็จะเป็นการใช้กันในกลุ่มของนักท่องเที่ยวและจำนวนไม่มาก เช่น ยาไอซ์ เป็นต้น
นายอนันต์ศรีประเสริฐ รักษาการหัวหน้าด่านศุลกากรภูเก็ต กล่าวว่า ในส่วนของการจับกุมการนำเข้าและจำหน่ายสินค่าละเมิดลิขสิทธิ์นั้น ทางศุลกากรจังหวัดภูเก็ตร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องมีการดำเนินการมาอย่างต่อเนื่อง ซึ่งเมื่อต้นเดือนที่ผ่านมาได้มีการเผาทำลายสินค้าที่สามารถจับกุมได้จำนวนกว่า 47,000 ชิ้น ส่วนใหญ่พบว่าจะมีการลักลอบนำเข้าทางบก ส่วนของทางน้ำนั้นยังไม่พบ ซึ่งในการตรวจตราทางน้ำต้องยอมรับว่าทำได้ค่อนข้างยาก และจะต้องมีสายข่าวที่ชัดเจน ไม่เฉพาะในเรื่องของสินค้าละเมิดลิขสิทธิ์เท่านั้น แต่รวมถึงปัญหายาเสพติดด้วย ส่วนของเรือยอช์ทนั้นแต่ละปีจะมีเรือที่แจ้งเข้าออกประมาณ 1,200 ลำ แต่ในความเป็นจริงจะมีมากกว่านี้ เพราะบางส่วนจะมีการแจ้งเข้าที่ จ.สตูล จ.กระบี่ หรือจังหวัดอื่นๆ ซึ่งได้เสนอไปยังกรมศุลกากรในการจัดทำระบบรวมรวบข้อมูลคอมพิวเตอร์เพื่อให้สามารถเชื่อมโยงข้อมูลในแต่ละด่านที่มีการแจ้งเข้าออกไปไว้ได้
อย่างไรก็ตามทางคณะกรรมาธิการฯ ยังได้ตั้งข้อสังเกตว่า ทำไมไม่มีการจับกุมยาเสพติดทางเรือ เพราะคิดว่าน่าจะมีการลักลอบนำเข้ามา โดยเฉพาะเรื่อสำราญต่างๆ ที่นำนักท่องเที่ยวเข้ามาเป็นจำนวนมาก ซึ่งคิดว่าอาจจะมีลักษณะของประเภท ยาไอซ์ หรือโคเคน