เมื่อเวลา 09.30 น.วันที่ 3 เมษายน 2553 ที่โรงแรมรอยัลภูเก็ตซิตี้ อ.เมือง จ.ภูเก็ต นายบรรยงค์ ลิ้มประยูรวงศ์ อธิบดีกรมพัฒนาธุรกิจการค้า เป็นประธานเปิดการอบรมสัมมนาความรู้เกี่ยวกับกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ว่าด้วยห้างหุ้นส่วนและบริษัท กฎหมายการประกอบธุรกิจของคนต่างด้าวและกฎหมายบัญชี ซึ่งทางกรมพัฒนาธุรกิจการค้า โดยสำนักงานพัฒนาธุรกิจการค้าจังหวัดภูเก็ต จัดขึ้น มีผู้บริหารกรมพัฒนาธุรกิจการค้า นายวีระชัย ตันติวัฒนวัลลภ หัวหน้าสำนักงานพัฒนาธุรกิจการค้าจังหวัดภูเก็ต ผู้ประกอบการธุรกิจ ผู้ทำบัญชีในพื้นที่ จ.ภูเก็ต จ.พังงา และ จ.กระบี่ เข้าร่วมจำนวนประมาณ 280 คน เพื่อให้มีความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับระเบียบปฏิบัติ และขั้นตอนในการจดทะเบียนห้างหุ้นส่วนบริษัทที่มีการแก้ไขปรับปรุงใหม่ เพื่อให้สามารถนำไปปฏิบัติได้อย่างถูกต้อง
นายบรรยงค์ ลิ้มประยูรวงศ์ อธิบดีกรมพัฒนาธุรกิจการค้า กล่าวว่า สืบเนื่องจากกรมพัฒนาธุรกิจการค้า มีกฎหมายที่ใช้ดูแลนิติบุคคลจำนวน 9 ฉบับ เช่น ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ พระราชบัญญัติการบัญชี พ.ศ.2543 พระราชบัญญัติการประกอบธุรกิจของคนต่างด้าว พ.ศ.2542 เป็นต้น ซึ่งการปฏิบัติเพื่อให้เป็นไปตามที่กฎหมายกำหนดในแต่ละฉบับนั้น นิติบุคคลที่มีคนต่างด้าวถือหุ้นอยู่อาจมีการปฏิบัติที่ไม่ถูกต้อง ประกอบกับกรมฯ ได้มีการแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ว่าด้วยหุ้นส่วนและบริษัท ซึ่งมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 11 กรกฎาคม 2551 เป็นผลให้หลักเกณฑ์และแนวทางการปฏิบัติแตกต่างไปจากเดิม รวมทั้งได้มีการแก้ไขเพิ่มเติม พระราชบัญญัติกำหนดความผิดเกี่ยวกับห้างหุ้นส่วนจดทะเบียน ห้างหุ้นส่วนจำกัด บริษัทจำกัด สมาคม และมูลนิธิซึ่งมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 9 มิถุนายน 2551
“ปัจจุบันทั่วประเทศมีนิติบุคคลที่จดทะเบียนจำนวนประมาณ 940,000 ราย แต่ที่ยังมีการทำธุรกิจอยู่ประมาณ 550,000 ราย และมีการยื่นงบดุลการเงินประจำปีเพียงประมาณ 360,000 ราย สาเหตุเนื่องจากมีความไม่รู้หรือเข้าใจเกี่ยวกับกฎหมายและระเบียบปฏิบัติที่กำหนด เช่น กรณีการเลิกทำธุรกิจซึ่งจะต้องแจ้งยกเลิก การย้ายสำนักงาน เป็นต้น ซึ่งเหล่านี้หากไม่ปฏิบัติก็ถือว่ามีความผิดตามกฎหมาย”
นายบรรยงค์ กล่าวด้วยว่า สำหรับจังหวัดภูเก็ตมีบริษัทจดทะเบียนจำนวนประมาณ 14,000 ราย มีการยื่นงบดุลการเงินประมาณ 9,000 ราย หรือประมาณ 70% นอกจากนี้ยังมีในส่วนของบริษัทที่มีการถือครองที่ดินของคนต่างด้าว จึงจำเป็นอย่างยิ่งที่จะดำเนินการให้ส่วนที่เหลืออีก 30% ดำเนินการให้ถูกต้องทั้งเรื่องของการประกอบธุรกิจก่อสร้าง การตรวจสอบธุรกิจ การประกอบธุรกิจของคนต่างด้าวและอื่นๆ ตามที่กฎหมายกำหนด
นายบรรยงค์ กล่าวว่า ปัญหาการถือครองที่ดินจริงๆ เป็นข้อกฎหมาย ซึ่งกฎหมายธุรกิจต่างด้าวมีหัวใจสำคัญอยู่สองเรื่องหลัก คือ เราจะต้องคุ้มครองดูแลคนไทยให้ประกอบธุรกิจได้ในกรณีที่ธุรกิจนั้นเกี่ยวกับความมั่นคง สิ่งแวดล้อม เป็นธุรกิจที่เรายังไม่มีศักยภาพหรือมีความสามารถที่จะแข่งขันได้ เพื่อให้คนไทยประกอบธุรกิจได้โดยไม่มีปัญหา กับเจตนาของกฎหมายฉบับนี้ซึ่งต้องการส่งเสริมให้คนต่างด้าวเข้ามาลงทุนซึ่งก็มีบัญชีธุรกิจสำหรับคนต่างด้าวมาลงทุนว่ามีธุรกิจอะไรบ้าง เมื่อลงทุนแล้วเกิดประโยชน์กับประเทศไทยและ ไม่เกิดผลกระทบกับผู้ประกอบการคนไทย ส่วนการถือครองที่ดินหรือธุรกิจอสังหาริมทรัพย์เป็นธุรกิจที่อยู่ในบัญชีต้องห้าม เมื่ออยู่ในบัญชีต้องห้าม แปลว่าคนต่างด้าวทำไม่ได้ ซึ่งหากมีการตรวจพบจะมีความผิดที่รุนแรง โดยปรับตั้งแต่ 100,000-1,000,000 บาท จำคุก 3 ปี
“จากตรวจสอบธุรกิจที่มีคนต่างด้าวถือหุ้นอยู่นั้นจะมีการสุ่มตรวจในกลุ่มเสี่ยง กรณีที่มีต่างด้าวถือหุ้นค่อนข้างมาก การทำธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ จากการส่งเจ้าหน้าที่ลงมาสุ่มตรวจในพื้นที่ จ.ภูเก็ต พบว่ามีจำนวนประมาณ 100 ราย แต่ยังไม่พบความผิดปกติในเรื่องของการเป็นนอมินี เบื้องต้นที่พบจะเป็นกรณีของการปิดบริษัทโดยไม่สามารถที่จะติดต่อเข้าตรวจสอบได้ประมาณ 10 บริษัท และมีประมาณ 9 บริษัทซึ่งไม่มีการแจ้งย้ายสำนักงาน ขณะนี้อยู่ระหว่างการรวบรวมหลักฐานเพื่อดำเนินคดี และที่มีการตรวจสอบค่อนข้างเข้มข้นนอกจากภูเก็ตแล้ว ยังมีสมุย พัทยา เชียงใหม่”
อย่างไรก็ตามนายบรรยงค์ กล่าวเพิ่มเติมว่า จากข้อมูลการจดทะเบียนจัดตั้งนิติบุคคลพบว่าในปี 2552 จดทะเบียนน้อยกว่าปี 2551 แต่เมื่อพิจารณาในรายละเอียดพบว่าในช่วงปลายปีของปี 2552 มีการจดทะเบียนเพิ่มขึ้นทั้งนี้เป็นผลมาจากนโยบายไทยเข้มแข็งของรัฐบาล และเห็นได้ชัดมากในช่วงเดือนกุมภาพันธ์ 2553 ซึ่งจำนวนผู้จดทะเบียนสูงที่สุดจากการจัดให้มีหอทะเบียนมาเป็นเวลา 90 ปี แม้ว่าจำนวนนิติบุคคลเพิ่มขึ้นไม่มากเพียง 10% แต่จำนวนทุนจดทะเบียนกลับสูงมากถึง 200 % ภาพรวมส่วนใหญ่เป็นธุรกิจก่อสร้างและอสังหาริมทรัพย์ นอกจากนี้ธุรกิจที่ค่อนข้างโดดเด่นมากในช่วงมีนาคมที่ผ่านมา คือ ธุรกิจด้านนันทนาการหรือเอ็นเตอร์เทนเม้นท์ ซึ่งคงต้องจับตาต่อไปว่าจะเป็นอย่างไร
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น