เมื่อวันที่ 11 ตุลาคม 2553 นายนิวิทย์ อรุณรัตน์ รองผู้ว่าราชการจังหวัดภูเก็ต พร้อมด้วยนพ.นรินทร์รัชต์ พิชญคามินทร์ นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดภูเก็ต นพ.เจษฎา จงไพบูลย์พัฒนะ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลวชิระภูเก็ต พร้อมคณะ ตรวจเยี่ยมอ๊าม(ศาลเจ้า)จุ้ยตุ่ย เต้าโบ้เก้ง อ.เมือง จ.ภูเก็ต เพื่อตรวจดูความปลอดภัยของอาหาร เช่น การล้างผัก การหั่นผัก ภาชนะใส่ผัก การใช้ตะเกียบ เป็นต้น นอกจากนี้ยังได้มีการตรวจสอบอาหารเจสำเร็จรูปที่เลียนแบบเนื้อสัตว์ด้วย ทั้งนี้เพื่อให้ประชาชนได้บริโภคอาหารเจที่ปลอดภัย
นพ.นรินทร์รัชต์ พิชญคามินทร์ นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดภูเก็ต (สสจ.ภูเก็ต) กล่าวว่า นอกจากการตรวจสอบความปลอดภัยของอาหารแล้ว ก่อนที่จะเข้าสู่งานประเพณีถือศีลกินผัก ทาง สสจ.ภูเก็ต ได้มีการจัดอบรมให้ความรู้แก่คณะกรรมการอ๊าม(ศาลเจ้า) ต่างๆ และม้าทรง เกี่ยวกับการใช้อาวุธและการทำความสะอาดอาวุธที่จะนำมาใช้ในการทิ่มแทงตามร่างกาย เพื่อป้องกันโรคติดต่อต่างๆ จากน้ำลายและเลือด เช่น โรคตับอักเสบ เอดส์ เริม เป็นต้น และได้เชิญชวนให้ม้าทรงของอ๊ามใช้หง่อเอี๋ยเฉี้ยมหรือเหล็กแหลมๆ ขนาดเล็กตามตำนานที่มี หัว 5 สี เหมือนกับอ๊ามบางเหนียว ซึ่งเป็นอ๊ามดีเด่นด้านการรักษาวัฒนธรรมการกินผักและเป็นอ๊ามนำร่องในการใช้หง่อเอี๋ยเฉี้ยมมาตั้งแต่ปี 2550 พร้อมฝากให้คณะกรรมการอ๊ามและหัวหน้าม้าทรงทุกแห่งช่วยกัดสอดส่องดูแลไม่ให้พี่เลี้ยงม้าทรงปฏิบัตินอกเหนือวัฒนธรรมประเพณี เนื่องจากในปีที่ผ่านมามีม้าทรงที่เข้ารับการรักษาตัวที่โรงพยาบาลจากการเสียเลือดมากจำนวน 37 ราย และเสียเลือดจนช็อก จำนวน 4 ราย
ส่วนการดูแลด้านสุขาภิบาลอาหารให้แก่โรงครัวของอ๊ามและร้านอาหารต่างๆ บริเวณรอบอ๊ามทางเจ้าหน้าที่สาธารณสุขจังหวัด ร่วมกับเจ้าหน้าที่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นทั่วทั้งจังหวัดได้ออกตรวจเยี่ยมอ๊ามต่างๆ ให้ดำเนินการผ่านเกณฑ์สุขาภิบาลอาหาร ซึ่งที่ผ่านมายังไม่พบความผิดปกติหรือมีรายงานการรักษาตัวของประชาชนเนื่องจากการรับประทานอาหาร โดยส่วนใหญ่ปฏิบัติตามหลักสุขาภิบาลอย่างถูกต้อง เช่น การสวมหมวก การใช้ผ้ากันเปื้อน เป็นต้น นพ.นรินทร์รัชต์กล่าว
นพ.นรินทร์รัชต์ กล่าวเพิ่มเติมว่า ในช่วงวันสุดท้ายของงานประเพณีซึ่งมีการจุดประทัดเป็นจำนวนมาก และมีผู้ปกครองส่วนหนึ่งที่นำบุตรหลานที่ยังเล็กๆ ร่วมประเพณีด้วย จึงอยากฝากเตือนว่าในช่วงดังกล่าวจะมีทั้งควันประทัดและเสียงที่ดังมาก ซึ่งอาจจะทำให้เกิดปัญหากับระบบหูเด็กได้หากได้รับเสียงดังติดต่อกันเป็นเวลานาน ดังนั้นควรที่จะหลีกเลี่ยงในการนำเด็กเล็กไปยังบริเวณที่มีการจุดประทัดเป็นจำนวนมาก หรือหากไม่สามารถหลีกเลี่ยงได้ก็ควรที่จะใช้อุปกรณ์ในการป้องกันเสียงดัง และการใช้ผ้าปิดปากปิดจมูก
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น