จำหน่ายอุปกรณ์แต่งรถ

วันพุธที่ 15 ธันวาคม พ.ศ. 2553

ท่องเที่ยวเชิงการแพทย์/สุขภาพ ในกรอบ IMT-GT


เมื่อวันที่ 15 ธันวาคม 2553 ที่ห้องแกรนด์บอลรูม โรงแรมรอยัล ภูเก็ต ซิตี้ อ.เมือง จ.ภูเก็ต นายสมบัติ คุรุพันธ์ ปลัดกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา เป็นประธานเปิดการประชุมเชิงปฎิบัติการความร่วมมือด้านการท่องเที่ยวเชิงการแพทย์ ในเวทีระหว่างประเทศ International Conference on IMT–GT Medical Tourism และปาฐกถาพิเศษหัวข้อ “การส่งเสริมความเป็นศูนย์กลางการท่องเที่ยวเชิงการแพทย์ตามแนวทางการพัฒนาเศรษฐกิจสามฝ่าย อินโดนีเซีย – มาเลเซีย – ไทย ( Indonesia-Malaysia-Thailand Growth Triangle: IMT-GT) เพื่อเปิดโอกาสให้ทุกภาคส่วนได้ร่วมแลกเปลี่ยนเรียนรู้ ความคิดเห็น ข้อเสนอแนะและประเมินความต้องการในการท่องเที่ยวเชิงการแพทย์/สุขภาพ และร่วมกันหาแนวทางบูรณาการการดำเนินเชิงรุก เน้นหนัก 14 จังหวัดภาคใต้ของไทย กับ 10 รัฐของประเทศอินโดนีเซีย และ 8 รัฐของประเทศมาเลเซีย โดยมีผู้บริหารระดับสูงด้านการท่องเที่ยวของไทย มาเลเซีย อินโดนีเซีย ตลอดจนภาครัฐและเอกชนที่เกี่ยวข้องเข้าร่วม

นายสมบัติ กล่าวว่า จากจุดเริ่มต้นเมื่อปี 2552 ประเทศไทยโดยกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา เป็นเจ้าภาพจัดการประชุมด้านการท่องเที่ยวที่ อ.หาดใหญ่ จ.สงขลา และมีกิจกรรมการแข่งขันกีฬา 3 ประเทศ ตลอดจนการจัด Familiarization Trip โดยการส่งเสริมตลาดท่องเที่ยวร่วมกันในลักษณะ Intra IMT-GT และจากนอกภูมิภาค ประกอบกับนโยบายของรัฐบาลและแผนยุทธศาสตร์การพัฒนาชาติที่ต้องการให้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางการแพทย์/สุขภาพนานาชาติ โดยตั้งเป้าที่จะนำเม็ดเงินไหลเข้าประเทศไทยกว่า 4 แสนกว่าล้านบาท ดังนั้นกระทรวงการท่องเที่ยวฯ โดยสำนักปลัดกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา จึงผลักดันส่งเสริมนโยบายดังกล่าวเพื่อให้ประเทศไทยเป็นผู้นำด้านการท่องเที่ยวเชิงการแพทย์/สุขภาพในอนุภูมิภาค ภูมิภาคเอเชีย ระดับนานาชาติและระดับโลก

“จากกรอบความร่วมมือสามเหลี่ยมเศรษฐกิจ IMT-GT ด้านการท่องเที่ยว ซึ่งมีความเห็นร่วมกันให้ปี 2552-2558 เป็นปีแห่งการเฉลิมฉลองกิจกรรมท่องเที่ยวต่างๆ ร่วมกัน (IMT-GT Celebration Years) เป็นผลสืบเนื่องจากที่ทั้งสามฝ่ายเห็นพ้องที่จะผลักดันแผนงานเพื่อการพัฒนาช่วงปี 2009 – 2011 ในการจัดทำแผนการท่องเที่ยวเชิงการแพทย์/สุขภาพที่สนับสนุนให้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลาง เนื่องจากมีศักยภาพและความพร้อมในด้านการแพทย์ มีเครื่องมือทางการแพทย์ที่ทันสมัย มีแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ มีการรักษาในรูปแบบของแพทย์ทางเลือก เช่น สปา นวดแผนโบราณ เป็นต้น และค่ารักษาพยาบาลมีราคาถูกกว่าประเทศเพื่อนบ้าน การเข้าประเทศไม่ยากลำบากค่าใช้จ่ายไม่แพง และผู้ให้บริการมีอัธยาศัยที่ดี ตลอดจนสามารถเป็นศูนย์กลางการท่องเที่ยวหลักที่มีความหลากหลายทั้งหาดทราย ชายทะเล ศิลปวัฒนธรรมประเพณี แหล่งซื้อสินค้าต่างๆ อันจะทำให้รองรับนักท่องเที่ยวที่มาใช้บริการทางการแพทย์ได้เป็นอย่างดี”

นายสมบัติ กล่าวด้วยว่า เพื่อให้บรรลุเป้าหมายดังกล่าวจึงได้มีการจัดทำโครงการส่งเสริมสู่ความเป็นศูนย์กลางการท่องเที่ยวเชิงการแพทย์/สุขภาพ เพื่อให้ไทยเป็นศูนย์กลาง ครอบคลุมถึงกลุ่มนักท่องเที่ยวที่ไม่ได้มาใช้บริการทางการแพทย์ นักท่องเที่ยวที่ซื้อแพคเก็จทัวร์จากบริษัทนำเที่ยว ชาวต่างชาติที่มาอาศัยอยู่ในประเทศไทยด้วยเหตุผลทางการทูต ชาวต่างชาติที่มาอาศัยอยู่ในภูมิภาคเอเชียด้วยเหตุผลทางการทูต

อย่างไรก็ตามนโยบายการท่องเที่ยวเชิงการแพทย์/สุขภาพของไทย เน้นบริการ 4 ด้าน คือ การใช้บริการการรักษาพยาบาล ด้านส่งเสริมสุขภาพ การแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก และสมุนไพร ผลิตภัณฑ์สุขภาพ ทำให้การขยายตัวของการให้บริการทางการแพทย์/สุขภาพ ได้แก่ นักท่องเที่ยวชาวต่างชาติ สามารถสร้างมูลค่าเพิ่มประมาณร้อยละ 0.4 ของผลิตภัณฑ์มวลรวมของประเทศ ซึ่งจะมีเงินรายได้ไหลเข้าประเทศในลักษณะธุรกิจทางการแพทย์ 30% และ 70% เข้าสู่ธุรกิจการท่องเที่ยวของประเทศ โดยประเทศไทยมีนักท่องเที่ยวจากต่างประเทศเข้ามาใช้บริการท่องเที่ยวเชิงการแพทย์/สุขภาพเฉลี่ยปีละประมาณ 1.45 ล้านคน สำหรับในปี 2553 คาดว่าจะมีจำนวนประมาณ 1.6 ล้านคน มีรายได้ประมาณ 60,000 ล้านบาท ทั้งนี้คาดว่าไม่เกินปี 2558 จะมีรายได้จากเมดิคัลฮับประมาณ 100,000 ล้านบาท จึงจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องมีการเตรียมความพร้อมทั้งในการวางยุทธศาสตร์เชิงบูรณาการร่วมกัน การพัฒนาบุคลากร การสร้างสิ่งอำนวยความสะดวก ภายใต้การจัดการอย่างยั่งยืน มีระดับมาตรฐาน มีคุณภาพ ราคายุติธรรม เพื่อให้สามารถครองตลาดในอนุภูภาค ภูมิภาคเอเชีย ระดับนานาชาติและระดับโลกได้

ทั้งนี้นายสมบัติ กล่าวในตอนท้ายว่า จากความพร้อมในทุกๆด้าน และแนวโน้มการตอบรับที่ดี มีความเด่นชัดในการเป็นผู้นำของกลุ่มสมาชิกประเทศในกรอบ IMT-GT ภายในปี 2554 ซึ่งจะสอดรับกับวิสัยทัศน์ของยุทธศาสตร์การพัฒนาการท่องเที่ยว ให้ประเทศไทยเป็นแหล่งท่องเที่ยวที่มีคุณภาพ มีขีดความสามารถในการแข่งขันด้านการท่องเที่ยวระดับโลก สามารถสร้างรายได้และกระจายรายได้โดยคำนึงถึงความเป็นธรรม สมดุลและยั่งยืน ตามแผนพัฒนาการท่องเที่ยวแห่งชาติ พ.ศ.2555 – 2559 ที่จะมีการเสนอให้คณะรัฐมนตรีให้ความเห็นชอบในสัปดาห์หน้า

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น