เมื่อวันที่ 4 กุมภาพันธ์ 54 ที่ห้องประชุมศูนย์ปฏิบัติการจังหวัดภูเก็ต (POC) พ.ต.อ.โกมล วัตรากรณ์ รองผบก.ภ.จว.ภูเก็ต เป็นประธานการประชุม เรื่องการตรวจยืนยันสารเสพติดในปัสสาวะ ครั้งที่ 1/2554 จัดโดยศูนย์ต่อสู้เพื่อเอาชนะยาเสพติดจังหวัดภูเก็ต (ศตส.จ.ภก.) เพื่อหารือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ประกอบด้วย อัยการจังหวัด เจ้าหน้าที่ตำรวจทุกสภ.ในพื้นที่
ทั้งนี้พ.ต.อ.โกมล วัตรากรณ์ รองผบก.ภ.จว.ภูเก็ต กล่าวการ สำหรับการประชุมในครั้งนี้ เป็นการประชุม ต่อเนื่องจากการประชุมเมื่อครั้งที่ผ่านมา เรื่องการตรวจยืนยันสารเสพติดในปัสสาวะของพิสูจน์หลักฐานจังหวัดภูเก็ต ศูนย์วิทยาศาสตร์การแพทย์ ที่ 14 (ภูเก็ต) ซึ่งมีการนำประเด็นดังกล่าวเข้าที่ประชุมมาโดยตลอด ศตส.จ.ภก.จึงได้มีหนังสือถึงอธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ เพื่อขอความอนุเคราะห์ในการพิจารณากำหนดให้ศูนย์วิทยาศาสตร์การแพทย์ที่ 14 (ภูเก็ต) เป็นสถานตรวจพิสูจน์ และได้มีหนังสือถึงผู้บัญชาการสำนักงานพิสูจน์หลักฐานตำรวจ ในการขอความร่วมมือพิจารณาระเบียบข้อกฎหมาย และแนวทางปฏิบัติ เพื่ออนุญาตให้พิสูจน์หลักฐานจังหวัดภูเก็ต ตรวจยืนยันสารเสพติดในปัสสาวะได้ ซึ่งจากประเด็นดังกล่าว สรุปได้ว่า ทั้งพิสูจน์หลักฐานจังหวัดภูเก็ต และศูนย์วิทยาศาสตร์กรแพทย์ที่ 14 (ภูเก็ต) ไม่สามารถตรวจยืนยันสารเสพติดในปัสสาวะได้ จึงได้มีการประชุมหน่วยงานที่เกี่ยวข้องขึ้นดังกล่าวในวันนี้เพื่อหาข้อยุติและแนวทางปฏิบัติในการดำเนินการในพื้นที่
พ.ต.อ.โกมล กล่าวอีกว่า จากประเด็นดังกล่าวข้างต้นเนื่องจากการดำเนินการตรวจยืนยันสารเสพติดในปัสสาวะของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในพื้นที่ ที่ผ่านมา เมื่อตรวจเบื้องต้นมีผลเป็นบวก ก็จะส่งตรวจยืนยัน ณ ศูนย์วิทยาศาสตร์การแพทย์สุราษฎร์ธานี ในระยะหลังจะส่งตรวจยืนยัน ณ ศูนย์วิทยาศาสตร์การแพทย์ตรัง และบางหน่วยงานก็จะส่งผ่านไปยังโรงพยาบาลวชิระภูเก็ตก่อน บางหน่วยงานก็เก็บตัวอย่างไว้นานกว่าจะส่งตรวจยืนยัน ซึ่งมีผลต่อระยะเวลาในการส่งตรวจยืนยัน และการเก็บรักษา อาจส่งผลต่อการตรวจยืนยันสารเสพติดในปัสสาวะ เพราะมีข้อมูลในกรณีที่ผลตรวจปัสสาวะเบื้องต้นมีผลเป็นบวก และผู้ถูกตรวจ ยอมรับว่าใช้สารเสพติดแต่ผลการตรวจยืนยันจากศูนย์วิทยาศาสตร์การแพทย์ กลับมีผลเป็นบวก คือไม่พบสารเสพติด ทำให้สำนักงานอัยการสั่งไม่ฟ้อง เนื่องจากไม่มีวัตถุพยานยืนยัน
จากปัญหาดังกล่าว ศตส.จ.ภก.จึงหาแนวทางแก้ไขปัญหาโดยการส่งตรวจยืนยันไปยังสถานที่เดิมคือ ศูนย์วิทยาศาสตร์การแพทย์ตรัง พร้อมทั้งผลักดันให้ศูนย์วิทยาศาสตร์การแพทย์ของจังหวัดภูเก็ต ให้สามารถและรับรองผลการตรวจได้ นอกจากนี้ยังให้เจ้าหน้าที่ที่อยู่ในกระบวนการจัดเก็บ และจัดส่ง ได้มีการซักซ้อมในการจัดเก็บและจัดส่งไปยังศูนย์วิทยาศาสตร์การแพทย์ ให้เป็นไปตามระเบียบ คือให้ส่งไม่เกิน 3 วัน ซึ่งที่ประชุมต่างก็เห็นด้วยกับขบวนดังกล่าว
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น