เมื่อวันที่ 7 มีนาคม 2554 ที่ห้องประชุม สำนักบริหารยุทธศาสตร์และบูรณาการการศึกษาที่ 10 อ.เมือง จ.ภูเก็ต นายวีระวัฒน์ จันทร์เพ็ญ รองผู้ว่าราชการจังหวัดภูเก็ต เป็นประธานเปิดโครงการค่ายปรับเปลี่ยนพฤติกรรมผู้เสพ/ผู้ติดยาเสพติด จังหวัดภูเก็ต ปี 2554 “ทำความดีเพื่อแผ่นดิน” รุ่นที่ 1 ซึ่งศูนย์ปฏิบัติการต่อสู้เพื่อเอาชนะยาเสพติด จ.ภูเก็ต ร่วมกับสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดภูเก็ต และสำนักบริหารยุทธศาสตร์และบูรณาการการศึกษาที่ 10 จัดขึ้น ให้กับผู้ติดยาเสพติดจำนวน 100 คน โดยมีทีมวิทยากรกระบวนการจากกองร้อยตำรวจตระเวนชายแดน 425 และทีมวิทยากรจากเครือข่ายผู้ให้การบำบัดรักษายาเสพติดจังหวัดภูเก็ต คือ หน่วยบำบัดสังกัดสาธารณสุขจังหวัดภูเก็ต สำนักงานคุมประพฤติจังหวัดภูเก็ต สถานพินิจและคุ้มครองเด็กและเยาวชนจังหวัดภูเก็ต และเรือนจำจังหวัดภูเก็ต ร่วมเป็นวิทยากรกระบวนการ
สำหรับการจัดโครงการค่ายปรับเปลี่ยนพฤติกรรมผู้เสพ/ผู้ติดยาเสพติด จังหวัดภูเก็ต ปี 2554 “ทำความดีเพื่อแผ่นดิน” นั้น สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดภูเก็ต ได้ดำเนินการสนองนโยบายรัฐบาล ตามยุทธศาสตร์ 5 รั้วป้องกัน ระยะที่ 3 โดยได้รับการสนับสนุนงบประมาณจากสำนักงานป้องกันและปราบปรามยาเสพติด (ปปส.) ที่จัดสรรให้กับศูนย์ปฎิบัติการต่อสู้เพื่อเอาชนะยาเสพติดจังหวัดภูเก็ต (ศตส.จ.ภก.) จัดทำโครงการค่ายปรับเปลี่ยนพฤติกรรมจังหวัดภูเก็ตปี 2554 ขึ้น เพื่อนำกลุ่มบุคคลเข้าสู่กระบวนการปรับเปลี่ยนแนวคิด วิถีการดำเนินชีวิต สร้างบุคลากรเหล่านี้ ให้มีความรู้และทักษะช่วยเหลือผู้อื่นในพื้นที่หมู่บ้านและชุมชนของจังหวัดภูเก็ตให้ห่างไกลจากยาเสพติด
นพ.วิวัฒน์ ศีตมโนชญ์ รองนายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดภูเก็ต กล่าวว่า ปัจจุบันปัญหาการแพร่ระบาดของยาเสพติดเข้าไปกลุ่มเด็กและเยาวชน และผู้ใช้แรงงาน ซึ่งเป็นกำลังสำคัญของชาติ เป็นจำนวนมาก จากสถานการณ์การเฝ้าระวังปัญหายาเสพติดปี 2553 จังหวัดภูเก็ต พบว่ากลุ่มอายุ 18-24 ปี กลุ่มอาชีพรับจ้าง มีการใช้ยาเสพติดมากที่สุด และนิยมใช้ยาเสพติดประเภทเมทแอมเฟตามีนและกัญชามากที่สุด ซึ่งทั้งหมดนี้ได้เข้าสู่กระบวนการบำบัดรักษาและฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ติดยาเสพติดในระบบสมัครใจ และระบบบังคับบำบัดในโรงพยาบาล และโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพประจำตำบลแล้ว โดยเป็นผู้บำบัดระบบสมัครใจ 90 คน ผู้บำบัดระบบบังคับบำบัด 716 คน เข้าค่ายปรับเปลี่ยนพฤติกรรม 227 คน นอกจากนี้ยังบำบัดรักษาระบบต้องโทษในเรือนจำและสถานพินิจและคุ้มครองเด็กและเยาวชนอีก 175 คน เพื่อแก้ไขปัญหายาเสพติดในจังหวัดภูเก็ต ซึ่งจากข้อมูลจะเห็นว่าการบำบัดรักษายาเสพติดในระบบบังคับบำบัดมีจำนวนมากและแนวโน้มเพิ่มมากขึ้นมากกว่าการบำบัดรักษาในระบบสมัครใจ
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น