นายวรรณเกียรติ ทับทิมแสง ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยและพัฒนาทรัพยากรทางทะเล ชายฝั่งทะเลและป่าชายเลน จ.ภูเก็ต กล่าวถึงความคืบหน้าการนำตัวอย่างตัวอ่อนลูกปูที่ถูกคลื่นซัดมาติดบริเวณตลอดแนวชายหาดกะรน อ.เมือง จ.ภูเก็ต เมื่อช่วงเย็นวันที่ 22 เมษายนที่ผ่านมา ว่า จากการที่นักวิชาการนำตัวอย่างตัวอ่อนลูกปูที่เกยตื้นบริเวณชายหาดกะรนมาตรวจสอบ ซึ่งผลสรุปว่าเป็นปูในกลุ่ม Cortunidae ซึ่งเป็นปูในกลุ่มที่กินได้ ประกอบด้วยปูม้า ปูทะเลและปูลาย แต่ยังไม่สามารถระบุชัดลงไปว่าเป็นปูชนิดใดใน 3 ประเภทดังกล่าว เนื่องจากยังมีขนาดเล็กมาก
“เหตุที่บ่งชี้ว่าตัวอ่อนปูดังกล่าวที่พบอยู่ในกลุ่ม Cortunidae เนื่องจากการตรวจสอบในห้องแล็ปพบว่าขาคู่ที่ 5 ของตัวอ่อนดังกล่าว มีลักษณะเป็นใบพายที่ปูใช้สำหรับว่ายน้ำ ลักษณะเช่นนี้จะไม่พบในปูที่อยู่ชายหาดประเภทปูลม”
นายวรรณเกียรติ กล่าวด้วยว่า หลังจากที่พบลูกปูดังกล่าวเมื่อวันที่ 22 เมษายนที่ผ่านมา ยังไม่พบว่ามีลูกปูดังกล่าวขึ้นมาเพิ่มเติมแต่อย่างใด และจากการตรวจสอบคุณภาพน้ำบริเวณชายหาดพบว่าปกติทุกอย่าง ความเห็นส่วนตัวเชื่อว่าในอดีตหรือก่อนหน้านี้อาจจะเคยมีลูกปูถูกคลื่นซัดเข้ามาติดที่ชายหาดแล้ว โดยอาจจะเป็นช่วงกลางคืนทำให้ไม่มีคนเห็น แต่ครั้งนี้เป็นช่วงกลางวันจึงสังเกตเห็นได้
อย่างไรก็ตามลูกปูในกลุ่ม Cortunidae เป็นปูเศรษฐกิจและเป็นปูที่กินได้เมื่อตัวเต็มวัยซึ่งใช้เวลาเป็นปี โดยพฤติกรรมของปูดังกล่าวจะวางไข่บริเวณนอกจากชายฝั่ง และจะลอยไปกับกระแสน้ำ บางส่วนจะกลายเป็นอาหารปลาและบางส่วนก็จะรอด โดยแม่ปูแต่ละตัวจะวางไข่ครั้งละหลายแสนฟอง สันนิษฐานว่าในช่วงที่เกิดเหตุแม่ปูอาจจะวางไข่พร้อมๆ กันจำนวนมากทำให้มีลูกปูเป็นจำนวนมากเช่นกัน หรืออาจจะเป็นเพราะสัตว์ที่เป็นศัตรูและกินลูกปูเป็นอาหารอาจจะมีจำนวนลดลง จึงทำให้โอกาสรอดของลูกปูมีมากขึ้น และยืนยันว่าเหตุการณ์ดังกล่าวไม่ใช่ลางบอกเหตุแต่อย่างใด
ขณะที่นายสุทา ประทีป ณ ถลาง เครือข่ายอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติอ่าวฉลอง อ.เมือง จ.ภูเก็ต กล่าวว่า กรณีของลูกปูที่มาเกยตื้นบริเวณชายหาดนั้นคงไม่ใช้ลางบอกเหตุร้ายแต่อย่างใด เพราะจากการตรวจสอบบริเวณชายหาดอื่นๆ ก็ไม่ได้มีลูกปูขึ้นมาเกยตื้น แต่เป็นเพราะธรรมชาติที่อาจจะเสียสมดุล เนื่องจากลูกปูเหล่าจะเป็นอาหารของสัตว์น้ำอื่นๆ ที่มีขนาดใหญ่กว่า ดังนั้นการที่มีลูกปูรอดชีวิตจำนวนมากก็เป็นเพราะศัตรูของลูกปูลดน้อยลง
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น