เมื่อวันที่ 4 ธันวาคม 2554 ที่บริเวณสระน้ำโรงแรมกะตะบีช รีสอร์ท แอนด์สปา ต.กะรน อ.เมือง ภูเก็ต นายตรี อัครเดชา ผู้ว่าราชการจังหวัดภูเก็ต พร้อมด้วย พลเรือโท ธราธร ขจิตสุวรรณ ผู้บัญชาการทัพเรือภาคที่ 3 นายเควิน วิทคราฟท์ ประธานคณะกรรมการจัดการแข่งขัน ได้ร่วมกันลั่นระฆังเรือและชักธงรีกัตต้าเปิดการแข่งขันเรือใบชิงถ้วยพระราชทานภูเก็ตคิงส์คัพรีกัตต้า ครั้งที่ 25 โดยมีบรรดานักแข่งเรือจากทั่วโลกร่วมเข้าร่วมงาน ซึ่งในปีนี้มีจำนวนเรือเข้าร่วมการแข่งขัยมากที่สุดในประวัติศาสตร์ ด้วยเรือประเภท Keelboat และ Multihull รวม 90 ลำ เรือใบเล็กในรุ่นออพทิมิสต์และเลเซอร์จำนวน 38 ลำ และไคท์บอร์ด 19 ลำ สมศักดิ์ศรีรายการรีกัตต้าอันทรงเกียรติแห่งเอเชีย
รายการภูเก็ตคิงส์คัพรีกัตต้าถือเป็นมหกรรมการแข่งขันเรือใบอันโด่งดังของเอเชียที่ดึงดูดทัพเรือใบและลูกเรือฝีมือเยี่ยมจากทั่วทุกมุมโลก และในปี 2554 นี้ก็ได้รับความสนใจจากเหล่านักกีฬามาร่วมแข่งขันเป็นจำนวนมากกว่าทุกปี ทั้งจากประเทศไทย จีน รัสเซีย สิงคโปร์ ออสเตรเลียและสหราชอาณาจักร โดยมีเรือใบแข่งขันทั้งหมด 9 รุ่น ได้แก่ ไออาร์ซี 0 (IRC0),ไออาร์ซี 1 ( IRC1), ไออาร์ซี 2 (IRC2), พรีเมียร์ (Premier), แบร์โบ๊ต ชาร์เตอร์ (Bareboat Charter), ครูซิ่ง คลาส (Cruising Class), โมเดิร์น คลาสสิค (Modern Classic), ไฟร์ฟลาย 850 สปอร์ต (Firefly 850 Sports) และ มัลติฮัลล์ (Multihull) และจะทำการแข่งขันเก็บคะแนนทั้งหมด 5 วัน บนผืนน้ำของหาดกะตะบนเกาะภูเก็ต
มหกรรมการแข่งขันเรือใบชิงถ้วยพระราชทานภูเก็ตคิงส์คัพรีกัตต้าถือกำเนิดขึ้นเมื่อปี พ.ศ. 2530 โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อเป็นการเฉลิมพระเกียรติ เนื่องในวโรกาสอันเป็นมหามงคลที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช ทรงเจริญพระชนมายุครบ 60 พรรษา และการจัดงานในปีนี้นับเป็นครั้งที่ 25 และตรงกับวโรกาสที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ ทรงเจริญพระชนมายุครบ 84 พรรษา
ภูเก็ตคิงส์คัพรีกัตต้าในปีนี้ ได้มีโอกาสต้อนรับเรือรุ่น Swan 82 ขนาด 82 ฟุต ชื่อ Chao Ren Plus One ที่มาอวดโฉมนอกประเทศจีนในงานคิงส์คัพรีกัตต้าครั้งนี้เป็นครั้งแรก โดยเจ้าของเรือลำนี้คือ หวาง บิน ผู้นำเรือรุ่น Swan อีกสองลำเข้าร่วมแข่งขันในประเภท Premier อันได้แก่ เรือ Silandra V ซึ่งควบคุมโดยริคคาร์โด เดโนนี และเรือ Titania of Cowes โดยลูกเรือจากสมาคม Royal Thames Yacht Club ในขณะที่ แฟรงค์ พอง กัปตันเรือใบชาวจีนขาประจำแห่งเรือ Jelik II จะต้องขับเคี่ยวอย่างหนักกับคู่ปรับเก่าในรายการ อย่างเรือทีมพรีเมียร์ (Team Premier), ฟรีไฟร์ (FreeFire) และไฮไฟ (HI FI) ในรุ่น IRC 0
นายเควิน วิทคราฟท์ ประธานคณะกรรมการจัดการแข่งขัน กล่าวว่า “การจัดงานในปีที่ 25 นี้ ถือเป็นเกียรติสำหรับเราอย่างยิ่ง โดยทุกปีที่ผ่านมา เราได้รับการสนับสนุนอย่างดีทั้งจากอาสาสมัครและสปอนเซอร์โดยไม่คิดค่าตอบแทน และที่จะลืมไม่ได้ คือเหล่าคณะกรรมการและผู้จัดงานทั้งในอดีตและปัจจุบัน ที่ช่วยให้การแข่งขันสำเร็จลุล่วงได้ด้วยดีมาโดยตลอด จนกระทั่งในปัจจุบัน งานภูเก็ตคิงส์คัพรีกัตต้าได้กลายเป็นมหกรรมการแข่งขันเรือใบชั้นนำแห่งเอเชีย ซึ่งหนึ่งในวัตถุประสงค์หลักของเราก็คือการส่งเสริมกีฬาเรือใบในประเทศไทย ซึ่งทุกท่านสามารถร่วมเป็นส่วนหนึ่งของเราได้ด้วยการแนะนำเยาวชนให้เข้าร่วมในการแข่งขันรายการต่าง ๆ ซึ่งได้รับความสนใจจากบรรดานักกีฬาเยาวชนทั่วโลก เราจึงตั้งใจจะผลักดันให้เกิดการแข่งขันเรือใบเล็กให้มากยิ่งขึ้นต่อไปในอนาคต สำหรับเยาวชนชาวไทย ก็ได้สร้างความภาคภูมิใจในการแข่งขันเรือใบเล็กรุ่น ออพทิมิสต์ (Optimist) มาแล้ว นั่นคือนพเก้า พูนพัฒน์ กับตำแหน่งแชมเปี้ยนโลกรุ่นเยาวชนหญิง และทีมเยาวชนไทยยังครองตำแหน่งแชมเปี้ยนโลกในประเภททีม Optimist ด้วย นอกจากนี้ งานภูเก็ตคิงส์คัพยังเป็นการแข่งขันรีกัตต้ารายการแรกที่ได้นำกีฬาไคท์บอร์ดมาเข้าร่วมทำการแข่งขัน ซึ่งต้องขอขอบคุณบรรดาสปอนเซอร์ของเราทุกราย ที่ช่วยให้เราสามารถจัดการแข่งขันตามตารางได้อย่างครบถ้วนสมบูรณ์”
: Photography by Guy Nowell :
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น