เมื่อวันที่ 28 สิงหาคม 2555 ที่สถาบันวิจัยและพัฒนาทรัพยากรทางทะเล ชายฝั่งทะเลและป่าชายเลน อ.เมือง จ.ภูเก็ตเจ้าหน้าที่กลุ่มสัตว์ทะเลหายาก ฯ ได้นำเต่าทะเลจำนวน 6 ตัว ซึ่งถูกคลื่นซัดมาเกยตื้นบริเวณชายหาดไม้ขาว ต.ไม้ขาว อ.ถลาง จ.ภูเก็ต จำนวน 4 ตัว ส่วนที่เหลือเป็นเต่าที่มาเกยตื้นบริเวณหาดในบ้านน้ำเค็ม จ.พังงา 1 ตัว และอีก 1 ตัวบริเวณชายหาดเกาะคอเขา อ.ตะกั่วป่า จ.พังงาเช่นกัน
ทั้งนี้จากการตรวจสอบของเจ้าหน้าที่พบว่าเต่าทุกตัวเป็นเต่าหญ้าเพศเมีย และอยู่ในวัยที่พร้อมจะผสมพันธุ์ ส่วนใหญ่ได้รับบาดเจ็บตามร่างกายจากการถูกเศษอวนบาด ในจำนวนดังกล่าวมีเต่า 1 ตัว ได้รับบาดเจ็บบริเวณกระดอง คาดว่าน่าจะเกิดจากการถูกใบพัดเรือ มี 2 ตัวขาขาด และอีก 3 ตัวมีรอยบาดแผลจากการถูกเศษอวนบาดที่บริเวณขา
นายก้องเกียรติ กิตติวัฒนาวงศ์ นักวิชาการชำนาญของกลุ่มสัตว์ทะเลหายากฯ กล่าวว่า ในช่วงระยะ 2-3ปีที่ผ่านมา ไม่พบการขึ้นมาวางไข่ของเต่าหญ้าบริเวณแถบชายฝั่งทะเลอันดามันเลย แต่ในระยะนี้กลับพบเต่าหญ้าซึ่งเป็นเพศเมียขึ้นมาเกยตื้นเป็นจำนวนมาก และนับตั้งแต่วันที่ 25 สิงหาคมที่ผ่านมา พบสัตว์ทะเลหายาก เช่น เต่าหญ้า โลมา พะยูน เป็นต้น มาเกยตื้นรวมแล้วประมาณ 10 ตัว ซึ่งการเข้ามาเกยตื้นของสัตว์ทะเลหายากดังกล่าวคาดว่าน่าจะเป็นเพราะคลื่นลมทะเลแรง และสัตว์เหล่านั้นได้รับการบาดเจ็บ มีทั้งที่ได้รับบาดเจ็บจากเศษอวนรัดจนขาขาด ไม่สามารถดำน้ำได้ทำให้ต้องลอยตัวอยู่เป็นเวลานาน จึงมาอาการบาดเจ็บ ประกอบกับในระยะนี้จะเป็นช่วงที่เต่าว่ายน้ำจากทะเลลึกเข้ามาบริเวณชายฝั่งเพื่อหาคู่ผสมพันธุ์ และเตรียมวางไข่ในช่วงปลายปี ระหว่างเดือน พฤศจิกายน – มกราคมของทุกปี
สำหรับเต่าทะเลที่มาเกยตื้นประมาณ 60% พบว่ามีชีวิตรอดถึง 85% แต่ในขณะที่ถูกพบจะมีอาการบาดเจ็บ ส่วนใหญ่จะมีรอยบาดแผลที่เกิดจากการถูกบาดของเศษอวน เนื่องจากเต่าทะเลที่ว่ายน้ำอยู่และกินเศษอวนที่ลอยอยู่ เพราะคิดว่าเป็นอาหาร และบางครั้งก็ถูกเศษอวนพันรอบขาไม่สามารถแกะออกได้ เมื่อเศษอวนเหล่านั้นจะบาดลึกลงไปในเนื้อของเต่า จนถึงกระดูกซึ่งอาจทำให้ขาถูกตัดขาดได้ ดังนั้นจึงอยากรณรงค์ให้งดทิ้งเศษอวน รวมถึงขยะต่างๆ และน้ำมันลงในทะเล เพราะมีผลกระทบและก่อให้เกิดปัญหากับสัตว์น้ำต่างๆ ดังกล่าว นายก้องเกียรติกล่าว
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น