จำหน่ายอุปกรณ์แต่งรถ

วันเสาร์ที่ 10 สิงหาคม พ.ศ. 2556

ดีเอสไอเผย 11 กลุ่มอิทธิพลอยู่เบื้องหลังแท็กซี่ป้ายดำ



เมื่อวันที่ 9 สิงหาคม 2556 ที่ท่าอากาศยานนานาชาติ จังหวัดภูเก็ต นายสมศักย์ ภูรีศรีศักดิ์ รมว.การกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา พร้อมด้วยนายสุวัตร สิทธิหล่อ ปลัดกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา, นายธาริต เพ็งดิษฐ์ อธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษหรือ DSI นาวาอากาศตรีศิธา ทิวารี ประธานคณะกรรมการบริษัทท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) ตลอดจนหน่วยงานราชการที่เกี่ยวข้องในพื้นที่ 


นำโดยนายไมตรี อินทุสุต ผู้ว่าราชการจังหวัดภูเก็ต พล.ต.ต.โชติ ชวาลวิวัฒน์ ผบก.ภ.จว.ภูเก็ต ตำรวจท่องเที่ยว นายสันติ ป่าหวาย ท่องเที่ยวและกีฬาจังหวัดภูเก็ต และหัวหน้าส่วนราชการที่เกี่ยวข้อง นอกจากนี้ยังมีนางธันยรัศมิ์ อัจฉริยะฉาย สมาชิกวุฒิสภาจังหวัดภูเก็ต ตรวจเยี่ยมศูนย์ปฏิบัติร่วมเพื่อป้องกันและปราบปรามผู้มีอิทธิพลที่เป็นภัยต่อการท่องเที่ยวหรือ ศปอท.(ชั่วคราว) ภายในท่าอากาศยานภูเก็ต อ.ถลาง จ.ภูเก็ต 


หลังจากนั้นคณะทั้งหมดได้มีการประชุมและพิจารณาการจัดระเบียบรถรับจ้างที่มีลักษณะเป็นกลุ่มผู้มีอิทธิพลข่มขู่และทำร้ายร่างกายนักท่องเที่ยว ภายในท่าอากาศยานภูเก็ต และในแหล่งท่องเที่ยวของจังหวัดภูเก็ต ตลอดจนแนวทางการแก้ปัญหาเกี่ยวกับตัวแทนถือครองหลักทรัพย์หรือนอมินี และปัญหาอื่นๆ เกี่ยวกับการท่องเที่ยวในพื้นที่จังหวัดภูเก็ต รวมทั้งแนวทางการปฏิบัติงานของ ศปอท. ด้วย 


นายสมศักย์ กล่าวว่า การผลักดันจัดตั้งศูนย์ฯ เกิดจากมติของที่ประชุมฯ เมื่อวันที่ 25 กรกฎาคมที่ผ่านมา และนางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม แม้จะมีภารกิจอื่นๆ แต่ได้ให้ความสนใจ ติดตามการดำเนินการของเจ้าหน้าที่หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ทั้งในส่วนกลางและในจังหวัดภูเก็ต โดยศูนย์ฯ แห่งนี้ จะมีเจ้าหน้าที่หน่วยงานพันธมิตร มาร่วมปฏิบัติงานหมุนเวียนตลอด 24 ชั่วโมง 


โดยกระทรวงการท่องเที่ยวฯ สนับสนุนงบประมาณ และทางกระทรวงยุติธรรม ยินดีสนับสนุนการทำงานของเจ้าหน้าที่ทุกฝ่าย ทราบว่าอยู่ระหว่างการดำเนินการตั้งแผนกท่องเที่ยว ในช่วงประมาณเดือนกันยายนนี้ กรณีของนอมินีนั้น ทราบว่าไม่ได้มีเฉพาะประเทศรัสเซีย เกาหลีหรือจีนเท่านั้น หากแต่ยังมีชาติอื่นๆ รวมอยู่ด้วย โดยอยู่ระหว่างการรวบรวมข้อมูล เพื่อดำเนินการตามกฎหมายอย่างเด็ดขาดต่อไป 


ด้านนาวาอากาศตรีศิธา ทิวารี ประธานคณะกรรมการบริษัทท่าอากาศยานไทย จำกัด(มหาชน) (ทอท.) กล่าวว่า ในความรับผิดชอบของท่าอากาศยานนั้น เกี่ยวข้องกับพื้นที่จัดตั้งศูนย์ฯ และการเข้ามาประกอบอาชีพของแท็กซี่หรือลีมูซีน จากสถิติข้อมูลที่มีอยู่ คือ รถรับจ้างทุกประเภทในท่าอากาศยานนานาชาติภูเก็ต มีประมาณ 550 คัน ซึ่งรถทุกคันหมดอายุสัมปทานไปเมื่อวันที่ 30 มิถุนายนที่ผ่านมา 


ขณะนี้ ทอท.กำลังพิจารณาว่า จะนำการดำเนินงานกับรถบริการสาธารณะที่ให้บริการ ณ ท่าอากาศยานนานาชาติสุวรรณภูมิ มาปรับใช้ที่จังหวัดภูเก็ตได้หรือไม่ เพราะการจัดการแบบสุวรรณภูมนั้นปรากฏว่า แทบไม่มีการร้องเรียนจากนักท่องเที่ยวหรือผู้โดยสารเลย แต่ค่าโดยสารรถแท็กซี่ของภูเก็ตจะต้องสูงกว่ากรุงเทพมหานครแน่นอน เพราะผู้ขับขี่แท็กซี่ที่ภูเก็ต ได้รับค่าโดยสารเพียงเที่ยวเดียว ส่วนเที่ยวกลับต้องตีรถเปล่า 


ซึ่งอยู่ระหว่างพิจารณากำหนดราคาเพื่อให้เกิดความเหมาะสม เพราะเราต้องการช่วยเหลือผู้ที่เป็นรากหญ้าและเป็นเจ้าของรถที่แท้จริง เนื่องจากทราบว่าที่ผ่านมาจะต้องเสียค่าหัวคิวคันละประมาณ 300,000 บาท รวมไปถึงค่าผ่อนรถ จึงทำให้เป็นภาระของผู้ขับเจ้าของรถที่จะต้องหาเงินมาจ่าย 


ในขณะที่นายธาริต เพ็งดิษฐ์ อธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษหรือ DSI กล่าวว่า ได้จัดส่งเจ้าหน้าที่ เข้ามารวบรวมข้อมูล สภาพปัญหาต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับการท่องเที่ยวจังหวัดภูเก็ต โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การติดต่อประสานงาน เจ้าหน้าที่ตำรวจในพื้นที่ เพื่อแลกเปลี่ยนข้อมูล เกี่ยวข้องกับกลุ่มผู้มีอิทธิพล ประมาณ 2 – 3 สัปดาห์ที่ผ่านมา 


จนในที่สุดสามารถ รวบรวมข้อมูล รายชื่อบุคคล หรือกลุ่มอิทธิพล รวม 11 ราย ที่พัวพันกับรถแท็กซี่ป้ายดำ บางส่วน บางราย ยังมีผลประโยชน์ทางด้านการรับแลกเปลี่ยนเงินตราต่างประเทศที่ผิดกฎหมาย ประกอบไปด้วยนักการเมืองท่องถิ่น นักธุรกิจท้องถิ่น และกลุ่มองค์กรบางราย นอกจากนี้ยังมีการจับตาผู้บริหารองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นทั้งพื้นที่ที่มีการไปจัดตั้งซุ้มไม้ไผ่หน้าโรงแรมที่เปิดใหม่เพื่อให้มีการรวมตัวของกลุ่มแท็กซี่ 


“ตามนโยบายของนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬาคือต้องการให้การประกอบธุรกิจที่ผิดกฎหมาย และเกี่ยวข้องกับการท่องเที่ยวนั้น ต้องหยุดทันที คือ ทางเจ้าหน้าที่มีการส่งสัญญาณ มาแล้ว ในปัจจุบันคือ ขอร้องให้หยุดทันทีและในระหว่างนี้ เป็นการให้โอกาส ผู้เกี่ยวข้องปรับตัว ให้อยู่ภายใต้ระเบียบกฎหมายและยืนยันว่า เจ้าหน้าที่มีข้อมูล หลักฐานในเชิงลึก ที่สามารถเอาผิดได้ ในกรณีที่กระทำผิดสำเร็จอยู่แล้ว ต้องดำเนินคดีเป็นรายๆ ไป 


ส่วนที่กำลังเข้าข่ายเจ้าหน้าที่ ก็ต้องว่ากันไปตามพยานหลักฐาน ที่มีอยู่ โดยบุคคลต่างด้าว 3 ชาติหลักที่พูดถึงกันมากที่มีในเมืองพัทยา จังหวัดชลบุรี และจังหวัดภูเก็ต คือ รัสเซีย เกาหลีและ จีน ในขณะที่ความจริง บริษัทต่างชาติ สามารถทำได้ถูกต้องตามกฎหมายไทย แต่ที่เป็นปัญหาอยู่ คือ คนไทยมีส่วนร่วมด้วย โดยไม่เห็นแก่ประเทศชาติบ้านเมือง ในกลุ่มที่มีลักษณะของบริษัท รับชำระบัญชี บริษัทกฎหมายไปแนะนำให้บริษัทต่างชาติหลีกเลี่ยงกฎหาย เพื่อสร้างค่าให้กับบริษัทนั้นๆ 


และเหมือนกับว่าบริษัทอยู่ในอุ้งมือให้กับบริษัทเอกชนไทยเหล่านั้น จนบริษัทต่างชาติกลายเป็นบริษัทที่ทำธุรกิจในแบบสีเทา เช่น มีบริษัทต่างชาติแห่งหนึ่ง มีการจัดตั้งเป็นบริษัทในเครือ มากถึง 200 แห่ง ถึงขนาดมีการใช้ เลขที่ห้อง หรือหมายเลขโทรศัพท์ จดทะเบียนเป็นชื่อบริษัท เมื่อวันเวลาผ่านไป เป็นปี ปัญหาจะไปปรากฏที่ การแสดงงบดุลของบริษัท ที่ต้องรายงานต่อหน่วยงานกระทรวงพาณิชย์ในเรื่องนี้ มีรายละเอียดมาก” 


นายธาริต กล่าวด้วยว่า ทาง DSI และเจ้าหน้าที่หน่วยงานหลักในศูนย์ปฏิบัติการร่วมเพื่อป้องกันและปราบปรามผู้มีอิทธิพล ที่เป็นภัยต่อการท่องเที่ยวจังหวัดภูเก็ต พยายามเอ็กซเรย์ข้อมูล ปัญหาผู้มีอิทธิพลเสมอมา เพราะมีรายชื่อ ทั้งบุคคล และกลุ่มรถแท็กซี่รับจ้างป้ายดำ มีพฤติกรรมข่มขู่ผู้โดยสาร หน่วงเหนี่ยวอิสรภาพ หรือมีการกรรโชกนักท่องเที่ยวเข้าข่ายผิดกฎหมาย 


และต่อไปจะต้องนำเอากฎหมายฟอกเงิน การอายัดทรัพย์สิน มาตรวจสอบ กลุ่ม รายชื่อผู้มีอิทธิพลหรือกลุ่มเหล่านี้ อย่างต่อเนื่อง รวมทั้ง หาก ตรวจสอบพบเพิ่มเติม เจ้าหน้าที่ก็จะดำเนินการตามกฎหมายอย่างเฉียบขาดต่อไป โดยภายใน 30 วันนับจากนี้ จะมีการดำเนินการใช้กฎหมายฟอกเงินเป็นกรณีตัวอย่าง อย่างน้อยหนึ่งกลุ่ม ซึ่งอาจจะเป็น 1 ใน 11 รายชื่อ หรือนอกเหนือจากนั้น 


ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น