เมื่อวันที่ 23 สิงหาคม 2556 ที่บริเวณชั้น 3 ห้างสรรพสินค้าบิ๊กซี ภูเก็ต อ.เมือง จ.ภูเก็ต นายผดุง บรรจงศิลป์ รองผู้ว่าการการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค หรือ PEA เป็นประธานเปิดโครงการ “ต้นแบบการให้บริการ PEA Front office” และเปิดบริการตู้ชำระเงินค่าไฟฟ้าอัตโนมัติ (PEA GENIUS) ของการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค เป็นโครงการนำร่อง 1 ใน 4 พื้นที่ ได้แก่ ชลบุรี อุบลราชธานี เชียงใหม่ และภูเก็ต ในห้วงระยะเวลา 6 เดือนระหว่างเดือนสิงหาคม 2556 – มกราคม 2557
โดยมีนายเกรียงไกร ตันตยกุส ผู้ช่วยผู้ว่าการการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค นายวรา จันทร์เจ้า ผู้อำนวยการ การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค เขต 2 ภาคใต้จังหวัดนครศรีธรรมราช นายกรีฑา โชติวิชญ์พิพัฒน์ นายกเทศมนตรีตำบลวิชิต นายสำราญ จินดาพล นายกเทศมนตรีตำบลฉลอง นายอรุณ โสฬส นายกเทศมนตรีตำบลราไวย์ ตลอดจนคณะผู้บริหารการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค เขต 2 ภาคใต้จังหวัดนครศรีธรรมราช การไฟฟ้าส่วนภูมิภาคจังหวัดภูเก็ต และหัวหน้าส่วนราชการที่เกี่ยวข้องกับร่วม
นายผดุง บรรจงศิลป์ รองผู้ว่าการการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค กล่าวว่า การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค มีนโยบายจัดทำแผนงาน Smart & Green Office โดยจัดทำโครงการนำร่อง PEA Front office ซึ่งเริ่มดำเนินการในปี 2556 เพื่อเพิ่มความสะดวกให้กับผู้ใช้ไฟมากขึ้น ด้วยการให้บริการที่รวดเร็วในการรับชำระค่าไฟฟ้า และการบริการอื่นๆ เช่น การชำระเงินค่าไฟฟ้า การขอใช้ไฟฟ้า การติดตั้งมิเตอร์ การแจ้งแก้ไขไฟฟ้าขัดข้องและงานรับรอง เป็นต้น
เพื่อลดปริมาณความแออัดโดยไม่ต้องเดินทางมายังสำนักงานการไฟฟ้าฯ และได้กำหนดนำร่องเปิดจุดบริการ PEA Front office ในศูนย์การค้า จำนวน 4 แห่ง ในเขตพื้นที่ การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค 4 ภาคๆ ละ 1 แห่ง ได้แก่ ชลบุรี อุบลราชธานี เชียงใหม่ และภูเก็ต พร้อมเปิดบริการตู้ชำระเงินค่าไฟฟ้าอัตโนมัติ (PEA GENIUS)ด้วย เป็นระยะเวลา 6 เดือน ระหว่างเดือนสิงหาคม 2556 – มกราคม 2557
“การดำเนินการโครงการนำร่องนั้น จัดขึ้นโดยกองทุนวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีของ PEA ซึ่งได้มอบทุนสนับสนุนให้กับวิทยาลัยพาณิชยศาสตร์ มหาวิทยาลัยบูรพา เพื่อทำการศึกษา วิจัย พัฒนาและสร้างต้นแบบการให้บริการของ PEA Front office จัดทำเคาน์เตอร์เซอร์วิสให้บริการด้านต่างๆ เช่น การชำระเงินค่าไฟฟ้า การขอใช้ไฟฟ้า การติดตั้งมิเตอร์ การแจ้งแก้ไขไฟฟ้าขัดข้องและงานรับรอง เป็นต้น
นอกจากนี้ยังได้จัดทำนวัตกรรมตู้ชำระเงินค่าไฟฟ้าอัตโนมัติ (PEA GENIUS) เพื่อเพิ่มความสะดวกรวดเร็วในการให้บริการแก่ผู้ใช้ไฟฟ้าที่มาชำระเงินค่าไฟฟ้ามากยิ่งขึ้น เพียงนำใบแจ้งหนี้มาสแกน นำเงินใส่ช่องชำระเงินอัตโนมัติและรอรับเงินทอนเท่านั้น”
นายผดุง กล่าวด้วยว่า การดำเนินโครงการนำร่องดังกล่าวนั้นเป็นการศึกษา วิจัยและพัฒนา เพื่อดำเนินการและแก้ไขปัญหาที่อาจเกิดขึ้นของโครงการ และเมื่อการดำเนินการตามโครงการนำร่องแล้วเสร็จในระยะเวลาที่กำหนด จะได้นำข้อมูลหรือปัญหาอุปสรรคต่าง ๆที่ได้รับ ไปแก้ไข ปรับปรุง เพื่อพัฒนาเป็นต้นแบบและขยายผลการให้บริการไปยังจังหวัดอื่นๆ ต่อไปในอนาคตด้วย
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น