เมื่อวันที่ 29 สิงหาคม 2557 ที่บริเวณชั้น 1 อาคารรัตนโกสินทร์ 200 ปี โรงพยาบาลศูนย์วชิระภูเก็ต ซึ่งทางโรงพยาบาลได้จัดให้เป็นห้องผู้ป่วยโรคติดเชื้อ นพ.สุวรรณชัย ยิ่งเจริญชัย ผู้ตรวจราชการกระทรวงสาธารณสุข เขต.11 ได้เดินทางตรวจเยี่ยมการเตรียมความพร้อมในการรับมือกับผู้ป่วยโรคอีโบล่า
กรณีที่พบว่ามีผู้โดยสารสงสัยป่วยมีเชื้อไวรัสอีโบล่าจากท่าอากาศยานภูเก็ต
โดยมี นพ.ขจรศักดิ์ แก้วจรัส นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดภูเก็ต นายแพทย์วีรศักดิ์ หล่อทองคำ รองผู้อำนวยการฝ่ายพัฒนาระบบบริการสุขภาพ นายแพทย์นรา กิ่งแก้ว รองผู้อำนวยการฝ่ายแพทย์ และเจ้าหน้าที่พยาบาลควบคุมการติดเชื้อให้การต้อนรับ
พร้อมทั้งนำตรวจความพร้อมภายในห้องแยกโรคความดันลบ และห้องแยกโรคความดันลบแบบประยุกต์ ที่โรงพยาบาลฯ ได้ใช้เป็นห้องและแยกผู้ป่วยจากโรคติดต่อเข้ารับการตรวจรักษา ซึ่งภายในห้องเป็นห้องกระจกควบคุมการแพร่กระจายของเชื้อโรค มีอุปกรณ์ทางการแพทย์ต่างๆ ที่สำคัญที่ใช้ในการตรวจรักษา รวมถึงอุปกรณ์ป้องกันการติดเชื้อสำหรับแพทย์และพยาบาล อาทิเช่น ชุดกาวน์ปลอดเชื้อ ถุงมือ หน้ากาก และถุงเท้าชนิดพิเศษ ที่สามารถป้องกันความเสี่ยงให้เจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติงาน
นพ.สุวรรณชัย กล่าวภายหลังการเข้าตรวจสอบว่า วันนี้ได้มาตรวจความพร้อมการรองรับผู้ป่วยจากโรคอุบัติใหม่ ซึ่งที่ผ่านมาก็เคยผ่านเรื่องแบบนี้และเตรียมพร้อมตลอด ไม่ว่าจะเป็นโรคซา โรคไข้หวัดนก และเชื้อไวรัสที่ระบาดทางตะวันออกกลาง และล่าสุดครั้งนี้คือไวรัสอีโบล่า โดยจะมาตรวจความพร้อมให้สามารถรับมือได้ และให้เกิดความปลอดภัยทั้งในส่วนของผู้ป่วยและบุคลากรทางการแพทย์ และไม่ให้มีการแพร่กระจาย
เนื่องจากภูเก็ตเป็นเมืองท่องเที่ยวที่มีการเดินทางทางเครื่องบิน และมีเที่ยวบินที่มาจากพื้นที่ใกล้เคียงที่มีการแพร่ระบาด ก็จะมีความเสี่ยงต่อการแพร่กระจายของโรคอุบัติใหม่สูง เมื่อเทียบกับหลายๆ จังหวัด เพราะฉะนั้นจึงต้องมีความเข้มข้นในการเตรียมการ ซึ่งที่ผ่านมาสาธารณะสุขจังหวัดภูเก็ตและโรงพยาบาลวชิระภูเก็ตได้ดำเนินการเป็นอย่างดี แต่อย่างไรก็จะต้องมีการฝึกซ้อม ร่วมกับหน่วยงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง ท้องถิ่น และภาคประชาสังคม
และในขณะนี้กลไกดำเนินการสำคัญในการดำเนินงานอยู่ที่ศูนย์ปฏิบัติการกระทรวงสาธารณะสุขซึ่งจะมีผู้เชี่ยวชาญมาเป็นผู้พิจารณา โดยจะเน้นที่การตรวจคนเข้าเมืองโดยเฉพาะที่สนามบินสุวรรณภูมิ ส่วนในภูมิภาคนั้นมีสัดส่วนไม่มาก แต่เมื่อพบผู้ที่มีความเสี่ยงต้องสงสัยติดเชื้อเข้ามา ก็จะต้องผ่านการพิจารณาจากผู้เชี่ยวชาญจากส่วนกลางก่อนจะสื่อสารไปยังภายนอกเพื่อป้องกันการเกิดความตื่นตระหนก หรือมีความเข้าใจผิดของประชาชน
อย่างไรก็ตามในส่วนของประชาชนนั้นขออย่าให้มีความตระหนกมากเกินไป ขอให้ติดตามรับฟังข้อมูลข่าวสารที่มาจากส่วนราชการ และผู้ที่จะเดินทางไปต่างประเทศก็ให้ขอข้อมูลจากหน่วยงานราชการว่าประเทศที่จะเดินทางไปนั้นมีความเสี่ยงมากน้อยเพียงใด และเรื่องความผิดปกติที่เกี่ยวข้องกับสุขภาพให้เป็นหูเป็นตาช่วยแจ้งไปยังสำนักงานสาธารณสุขทุกแห่งเพื่อลงไปตรวจสอบ และสุดท้ายก็หมั่นดูแลสุขภาพและศึกษาวิธีการป้องกันไม่ให้มีการเจ็บป่วย
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น