จำหน่ายอุปกรณ์แต่งรถ

วันอังคารที่ 31 มกราคม พ.ศ. 2560

ศรชล.เขต 3 เปิดปฏิบัติการ “ย่ำเท้า เข้าท่า”

ศรชล.เขต 3 เปิดปฏิบัติการ “ย่ำเท้า เข้าท่า” 
ตรวจสภาพความพร้อมท่าเทียบเรือประมง 


เมื่อวันที่ 30 มกราคม 2560 ที่หน้ากองบัญชาการทัพเรือภาคที่ 3 ต.วิชิต อ.เมือง จ.ภูเก็ต พล.ร.ต.พิสัย สุขวัน รองผู้บัญชาการทัพเรือภาคที่ 3 เป็นประธานเปิดปฏิบัติการ “สำรวจและตรวจสภาพความพร้อมท่าเทียบเรือประมง ศรชล.เขต 3” ในพื้นที่ ศรชล. เขต 3 ประกอบด้วย จ.ภูเก็ต, จ.ระนอง, จ.พังงา, จ.กระบี่, จ.ตรัง และ จ.สตูล โดยมี รองผู้อำนวยการ ศรชล.เขต 3 และรองผู้บัญชาการทัพเรือภาคที่ 3 หัวหน้าฝ่ายอำนวยการ ศรชล.เขต 3 ฝ่ายอำนวยการใน ศรชล.เขต 3 ผู้แทนหน่วยราชการต่างๆ หัวหน้าชุดเฉพาะกิจสำรวจและตรวจสภาพความพร้อมท่าเทียบเรือประมง ในพื้นที่ ศรชล.เขต 3 เข้าร่วม 
 


นาวาเอกภุชงค์ รอดนิกร หัวหน้าฝ่ายนโยบายและแผน ศรชล.เขต 3 กล่าวถึงการปฏิบัติการสำรวจและตรวจสภาพความพร้อมท่าเทียบเรือประมง ศรชล.เขต 3 ว่า มีวัตถุประสงค์ เพื่อดำเนินการสำรวจและตรวจสภาพความพร้อมท่าเทียบเรือประมงในพื้นที่ ศรชล.เขต 3 จำนวน 160 ท่า ที่ได้ขึ้นทะเบียนกับกรมประมงไว้แล้ว รวมทั้งท่าเทียบเรือประมงที่ยังไม่มีการขอขึ้นทะเบียน ระหว่างวันที่ 30 มกราคม -13 กุมภาพันธ์ 2560 รวม 15 วัน ในพื้นที่ 6 จังหวัดอันดามัน ประกอบด้วย จ.ภูเก็ต, จ.ระนอง, จ.พังงา, จ.กระบี่, จ.ตรัง และ จ.สตูล 


โดยประกอบกำลังเป็นชุดเฉพาะกิจสำรวจและตรวจสภาพความพร้อมท่าเทียบเรือประมงจังหวัดต่างๆ ได้แก่ เจ้าหน้าที่จากกองทัพเรือ กรมเจ้าท่า กรมประมง ตำรวจน้ำ และกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง จำนวน 11 ชุด แบ่งเป็น จ.ภูเก็ต 1 ชุด จ.ระนอง 2 ชุด จ.พังงา 3 ชุด จ.กระบี่ 2 ชุด จ.ตรัง 1 ชุด และ จ.สตูล 2 ชุด 


ขณะที่ พล.ร.ต.พิสัย สุขวัน รองผู้บัญชาการทัพเรือภาคที่ 3 กล่าวว่า ตามนโยบายของรัฐบาลในการแก้ปัญหาการทำประมงผิดกฎหมาย ขาดการรายงาน และไร้การควบคุม หรือ IUU Fishing โดยมอบหมายให้กองทัพเรือ จัดตั้งศูนย์บัญชาการแก้ไขปัญหา การทำประมงผิดกฎหมาย หรือ ศปมผ. โดยมีผู้บัญชาการทหารเรือเป็นผู้บัญชาการ และมอบหมายให้ศูนย์ประสานการปฏิบัติในการรักษาผลประโยชน์ของชาติทางทะเลเขต 3 (ศรชล.เขต 3) ทำหน้าที่ประสานการปฏิบัติในการแก้ไขปัญหาการทำประมงผิดกฎหมายในพื้นที่ฝั่งทะเลอันดามัน ซึ่งได้เริ่มปฏิบัติงานตั้งแต่วันที่ 1 พฤษภาคม 2558


“การสำรวจและตรวจสภาพความพร้อมท่าเทียบเรือประมงนั้น นับเป็นสิ่งที่มีความสำคัญอีกขั้นตอนหนึ่งในการแก้ไขปัญหาประมงผิดกฎหมาย เนื่องจากท่าเทียบเรือประมงเป็นสถานที่ในการขนถ่ายสัตว์น้ำ ซึ่งจะต้องมีความเป็นมาตรฐานสามารถตรวจสอบที่มาของสัตว์น้ำว่าจับมาจากที่ใด มีจำนวนเท่าไหร่ มีการใช้แรงงานอย่างไร มีระบบสิ่งอำนวยความสะดวกและสุขอนามัยที่มีมาตรฐาน 


ทั้งนี้ ศรชล.เขต 3 ได้ตรวจสอบพบว่า ปัจจุบันในพื้นที่ฝั่งทะเลอันดามัน มีท่าเทียบเรือประมงที่ขอขึ้นทะเบียน 160 ท่า จึงจำเป็นต้องตรวจสอบว่า ท่าเรือดังกล่าวมีสภาพความพร้อมมากน้อยเพียงใด มีการจัดสร้างถูกต้องหรือไม่ เพื่อที่จะได้นำข้อมูลที่รับมากำหนดแนวทางในการแก้ไขปัญหา รวมทั้งลดจำนวนท่าเทียบเรือประมงที่ไม่ได้มาตรฐานออกไปจากระบบ ทั้งนี้เพื่อให้เกิดการยอมรับในระดับสากล รวมทั้งเพื่อล็อคปลดใบเหลืองอย่างเป็นรูปธรรมด้วย” พล.ร.ต.พิสัย กล่าว 
 

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น