กรม ทช.วางทุ่นจอดเรือและฐานทุ่นแนวเขตเกาะราชา
ป้องกันทิ้งสมอในแนวปะการัง และกำหนดเขตปลอดภัยว่ายน้ำ
ในระหว่างวันที่ 10-11 มกราคม 2560 กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง (ทช.) โดยสำนักอนุรักษ์ทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง นำโดยนายไพทูล แพนชัยภูมิ ผู้อำนวยการส่วนอนุรักษ์ทรัพยากรทางทะเลฯ ร่วมกับเจ้าหน้าที่ส่วนอนุรักษ์ทรัพยากรทางทะเล สำนักงานบริหารจัดการทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งที่ 6 (สบทช.6) กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง (ทช.) และผู้ประกอบการท่องเที่ยวเกาะราชาใหญ่ ต.ราไวย์ อ.เมือง จ.ภูเก็ต จัดวางทุ่นจอดเรือ และวางฐานทุ่นแนวเขต
เพื่อไม่ให้มีการทิ้งสมอในบริเวณแนวปะการัง และเขตปลอดภัยสำหรับว่ายน้ำของนักท่องเที่ยว บริเวณอ่าวพลับพลา จำนวน 40 ลูก บริเวณอ่าวสยาม จำนวน 20 ลูก และอ่าวทือ จำนวน 30 ลูก รวมจำนวน 90 ลูก ซึ่งเป็นกิจกรรมหนึ่งของโครงการบริหารจัดการพื้นที่และฟื้นฟูแนวปะการังโดยมีส่วนร่วมในพื้นที่จังหวัดพังงา ภูเก็ตและสุราษฎร์ธานี ของกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง
นายไพทูล แพนชัยภูมิ ผู้อำนวยการส่วนอนุรักษ์และฟื้นฟูทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง สำนักอนุรักษ์ทรัพยากรทางทะเลฯ การจัดวางทุ่นจอดเรือและวางฐานทุ่นแนวเขต เพื่อไม่ให้มีการทิ้งสมอในบริเวณแนวปะการัง และเขตปลอดภัยในการเล่นน้ำบริเวณอ่าวพลับพลา อ่าวสยามและอ่าวทือ เกาะราชาใหญ่ อ.เมืองภูเก็ต เป็น ส่วนหนึ่งของโครงการบริหารจัดการพื้นที่และฟื้นฟูแนวปะการังโดยมีส่วนร่วมในพื้นที่จังหวัดพังงา ภูเก็ตและสุราษฎร์ธานี ซึ่งทางกรม ทช. จัดทำขึ้น
เพื่อดำเนินการจัดการพื้นที่และฟื้นฟูแนวปะการังที่เสื่อมโทรมของจังหวัดภูเก็ต พังงาและสุราษฎร์ธานี เพื่อสร้างกระบวนการมีส่วนร่วมในการฟื้นฟูแนวปะการัง
"ที่ผ่านมาแม้จะมีการติดตั้งทุ่นสำหรับผูกเรือ แต่ก็มีปัญหา เพราะเมื่อมีเรือเข้าไปจำนวนมากบางครั้งใบพัดเรือจะไปโดนสายทุ่นทำให้ขาด ปัญหาการใช้ทุ่นไม่ถูกวิธี เช่น การผูกทุ่นบริเวณท้ายเรือทำให้มีการยกตัว เป็นต้น ผูกเรือแช่ไว้เป็นเวลานาน เอาเชือกทุ่นไปผูกคล้องกับเรือแทนที่จะนำเชือกเรือมาผูกกับทุ่น
ขณะที่เรือขนาดใหญ่จะกินพื้นที่ในการวางทุ่น ประกอบกับมีการติดตั้งอุปกรณ์เพิ่มเติม เช่น การติดตั้งสไลด์เดอร์กับตัวเรือ เป็นต้น เมื่อทุ่นเกิดปัญหาจะต้องรอเจ้าหน้าที่ฯ เข้าไปซ่อมแซม บางครั้งไม่ทันเวลา เพราะทะเลฝั่งนี้ท่องเที่ยวได้ตลอดทั้งปี"
นายไพทูล กล่าวด้วยว่า ขณะนี้การติดตั้งทุ่นทั้ง 3 อ่าว ได้ดำเนินการเสร็จเรียบร้อยแล้ว หลังจากนี้เป็นหน้าที่ของทุกฝ่าย โดยเฉพาะเรือที่เข้าไปใช้ทุ่นซึ่งจะต้องผูกทุ่นให้ถูกวิธี เช่น ไม่นำเชือกทุ่นขึ้นไปผูกกับท้ายเรือ ผูกทุ่นโดยใช้เชือกเรือมาผูกกับทุ่นผูกบริเวณหัวเรือ หากทุ่นชำรุดขาดหายจะต้องช่วยกันซ่อมแซม เป็นต้น จากการพูดคุยกับผู้ประกอบการเกาะราชาใหญ่ ทราบว่าหลังจากนี้จะมีการจัดประชุมเพื่อหารือและกำหนดมาตรการกับเรือทุกลำที่เข้าไปใช้ทุ่น รวมทั้งจะรณรงค์ให้ทุกฝ่ายร่วมมือกันรักษาทุ่น ซึ่งขณะนี้มีจำนวนเพียงพอตามที่ร้องขอจากทางราชการ
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น