สนามบินภูเก็ตซ้อมแผนฉุกเฉิน : PEMEX 2560
เตรียมพร้อมบุคลากร อุปกรณ์ สร้างความเชื่อมั่น
เมื่อคืนของวันที่ 25 สิงหาคม 2560 ที่หลุมจอดอากาศยานที่ 16 ท่าอากาศยานภูเก็ต อ.ถลาง จ.ภูเก็ต นายสนิท ศรีวิหค รองผู้ว่าราชการจังหวัดภูเก็ต เป็นประธานการฝึกซ้อมแผนฉุกเฉินเต็มรูปแบบ (Phuket International Airport Emergency Plan Exercise : PEMEX) ประจำปีงบประมาณ 2560 ซึ่งท่าอากาศยานภูเก็ตจัดขึ้น ตามข้อตกลงระหว่างท่าอากาศยานของรัฐภาคี
เพื่อให้เป็นแนวทางในการปฏิบัติเมื่อมีเหตุการณ์เกิดขึ้นและเป็นไปด้วยความเรียบร้อยและมีประสิทธิภาพเพื่อให้ส่วนราชการ รัฐวิสาหกิจ บริษัทสายการบิน และบริษัทผู้ประกอบการสามารถปฏิบัติได้ในสถานการณ์จริง นางมนฤดี เกตุพันธุ์ รองกรรมการผู้อำนวยการใหญ่ สายงานมาตรฐานท่าอากาศยานและการบิน บริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) นายเพ็ชร ชั้นเจริญ ผู้อำนวยการท่าอากาศยานภูเก็ต ผู้บริหารท่าอากาศยานภูเก็ต หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ทั้งจากหน่วยงานราชการ รัฐวิสาหกิจ สายการบิน และผู้ประกอบการในท่าอากาศภูเก็ต เข้าร่วม
ทั้งนี้เป็นการซ้อมแผนฉุกเฉินในบทที่ 2 จากทั้งหมด 15 บท โดยจำลองสถานการณ์อากาศยานอุบัติการณ์ภาคพื้น (Aircraft Ground Incident) กรณีน้ำมันหกล้นปลายปีกอากาศยานและเกิดไฟลุกไหม้ ซึ่งหน่วยงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้องตามแผนฉุกเฉิน จะได้ฝึกซ้อมขั้นตอนการปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่ ในการสั่งกา การเข้าควบคุมและแก้ไขสถานการณ์ เพื่อทดสอบความรวดเร็ว ถูกต้อง และความชำนาญของเจ้าหน้าที่ รวมทั้งเป็นการทดสอบขีดความสามารถ ของเครื่องมือและอุปกรณ์ต่างๆด้วย
นายเพ็ชร ชั้นเจริญ ผู้อำนวยการท่าอากาศยานภูเก็ต กล่าวว่า ในการบริหารงานท่าอากาศยาน สิ่งที่ต้องให้ความสำคัญมากที่สุด เป็นอันดับหนึ่ง คือ งานด้านความปลอดภัยในพื้นที่ท่าอากาศยาน เพื่อสร้างความมั่นใจให้กับผู้ใช้บริการ สายการบิน ผู้ประกอบการ รวมไปถึงผู้ปฏิบัติงานในท่าอากาศยานด้วย ซึ่งท่าอากาศยานภูเก็ต ได้ให้ความสำคัญในการจัดการฝึกซ้อมแผนฉุกเฉินเป็นประจำทุกปี เพื่อให้เป็นไปตามข้อกำหนดขององค์การการบินพลเรือนระหว่างประเทศที่กำหนดให้แต่ละท่าอากาศยานของรัฐภาคี จะต้องมีการฝึกซ้อมแผนฉุกเฉินเป็นประจำทุกปี
และเป็นไปตามข้อเสนอแนะที่ปรากฏอยู่ใน ICAO Doc.9137 (Airport Service Manual) และเพื่อให้เกิดความปลอดภัย สอดคล้องกับข้อบังคับของคณะกรรมการการบินพลเรือน ฉบับที่ 82 เรื่อง ระบบการจัดการนิรภัยสนามบิน ตลอดจนเพื่อให้ผู้เข้าร่วมการฝึกซ้อม มีความรู้ ความเข้าใจ ในการติดต่อประสานงาน และสามารถปฏิบัติงานในสถานการณ์ฉุกเฉินได้อย่างถูกต้อง เหมาะสม และใช้เวลาน้อยที่สุดในการเข้าแก้ไขสถานการณ์ เพื่อลดผลกระทบจากเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นโดยเร็วที่สุด
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น