เมื่อเวลา 10.00 น.ของวันที่ 18 กุมภาพันธ์ 2553 ที่บริเวณกระชังเลี้ยงปลาของนายจรูญ ก้อนทรัพย์อยู่ ตั้งอยู่บริเวณหน้าชายหาดป่าหล่าย อ่าวฉลอง อ.เมือง จ.ภูเก็ต เจ้าหน้าที่จากสถาบันวิจัยและพัฒนาทรัพยากรทางทะเล ชายฝั่งทะเลและป่าชายเลน จ.ภูเก็ต ร่วมกับอาสาสมัครนักดำน้ำช่วยกันขนย้ายต้นกัลปังหาสายพันธุ์เมลิเทีย ขนาดต่างๆ ซึ่งนายจรูญ ทำการเลี้ยงไว้รอบๆ กระชังเลี้ยงปลา เพื่อไปปลูกที่บริเวณอ่าวชายหาดเขาขาด และบริเวณสะพานสถาบันวิจัยฯ ตามโครงการคืนกัลปังหาสู่ทะเล ซึ่งสมาคมกรีนฟินส์ และสถาบันวิจัยฯ รวมทั้งนายจรูญ ร่วมกันจัดขึ้น เพื่อศึกษาการปลูกกัลปังหา ซึ่งถือเป็นครั้งแรกของจังหวัดภูเก็ต
นางสาวเทพสุดา ลอยจิ้ว นักวิชาการศึกษาเรื่องกัลปังหา สถาบันวิจัยฯ กล่าวว่า ในทะเลมีกัลปังหาอยู่จำนวนกว่า 24 สายพันธุ์ ซึ่งสายพันธุ์เมลิเทียเป็นกัลปังหาที่พบในทะเลน้ำตื้นจะมีหลายสีทั้งสีแดง สีเหลือง สีส้ม สามารถพบเห็นได้ทั่วไปในระดับน้ำลึกไม่เกิน 5 เมตร โดยปะการังที่มีการย้ายปลูกมีจำนวนมากกว่า 100 กอ
“จำนวนของกัลปังหาขณะนี้ถือว่ามีปริมาณลดลงเรื่อยๆ เช่นเดียวกับปะการัง เนื่องจากบางครั้งจะถูกเรือประมงลากทำลาย ในส่วนของนักวิชาการนั้นอยู่ระหว่างการศึกษาเพื่อเพาะขยายพันธุ์กัลปังหาชนิดต่างๆ เพื่อให้อยู่คู่กับทะเลต่อไป ส่วนการเพาะและย้ายในลักษณะเช่นนี้ถือว่าเป็นครั้งแรก โดยโอกาสรอดน่าจะมีสูงเพราะการย้ายไปปลูกยังพื้นที่ใหม่นั้นจะให้มีรากติดไปด้วย ไม่ได้หักเฉพาะกิ่งเท่านั้น และที่ทราบข้อมูลทางเจ้าของกระชังได้ดำเนินการมาแล้วหลายครั้ง”
ขณะที่นายจรูญ ก้อนทรัพย์อยู่ เจ้าของกระชังเลี้ยงปลาและเพาะเลี้ยงกัลปังหา กล่าวว่า จากการที่เคยได้ย้ายกัลปังหาจากกระชังไปปลุกไว้บริเวณทะเลหน้าเขาขาด พบว่ามีการเติบโตที่ดี และในระหว่างที่เลี้ยงกัลปังหาไว้ในกระชังก็กลายเป็นแหล่งอาศัยของลูกปลาและสัตว์ทะเลขนาดเล็ก โดยจะมีการปล่อยพ่อแม่พันธุ์ปลาเลี้ยงในกระชังและให้วางไข่ตามธรรมชาติ เมื่อไข่ปลาฟักเป็นตัวก็จะว่ายเข้าไปอาศัยอยู่ในกอของกัลปังหา จากนั้นเมื่อลูกปลาโตได้ขนาดพอประมาณก็จะจับมาเลี้ยงไว้ในกระชัง ซึ่งทำให้ประหยัดเงินทุนที่ใช้สำหรับซื้อลูกปลามาเลี้ยงได้ส่วนหนึ่งด้วย
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น