จำหน่ายอุปกรณ์แต่งรถ

วันจันทร์ที่ 28 มิถุนายน พ.ศ. 2553

ทช.จัดประชุมวิทยาศาสตร์ทางทะเล 53


เมื่อวันที่ 28 มิถุนายน 2553 ที่ห้องประชุมโรงแรมรอยัลภูเก็ต ซิตี้ อ.เมือง จ.ภูเก็ต ดร.นิศากร โฆษิตรัตน์ รองปลัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เป็นประธานเปิดการประชุมวิชาการวิทยาศาสตร์ทางทะเล 2553 “ความหลากหลายทางชีวภาพทะเลในประเทศไทย: อุปสรรคและโอกาส” ซึ่งทางคณะกรรมการสมุทรศาสตร์ระหว่างรัฐบาล กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง ร่วมกับสถาบันวิจัยและพัฒนาทรัพยากรทางทะเล ชายฝั่งทะเลและป่าชายเลน ตลอดจนหน่วยงานภาครัฐ เอกชน และมหาวิทยาลัยต่าง ๆ รวม 16 องค์กร จัดขึ้น โดยมีผู้เข้าร่วมประมาณ 400 คน

การประชุมครั้งนี้ ประกอบด้วย การบรรยายพิเศษจากผู้ทรงคุณวุฒิจากในประเทศและต่างประเทศ จำนวน 7 เรื่อง การเสวนาจำนวน 2 เรื่อง การนำเสนอผลงานวิจัยจำนวน 150 เรื่อง แยกเป็นการนำเสนอภาคบรรยาย 84 เรื่อง และภาคโปสเตอร์ 66 เรื่อง เช่น การพยากรณ์แนวโน้มของระดับน้ำในทะเลอันดามันด้วยตัวแบบถดถอยบนตัวเองเชิงนุกรมเวลา การประยุกต์ใช้ข้อมูลภาพถ่ายดาวเทียมในการทำแผนที่ปะการัง ผลกระทบจากการท่องเที่ยวและมาตรการจัดการแนวปะการังน้ำตื้น เกาะไข่นอก จ.พังงา เป็นต้น นอกจากนั้นยังมีการจัดแสดงนิทรรศการ แนะนำกิจกรรมและสินค้าที่เกี่ยวข้องกับการศึกษาวิจัยด้านวิทยาศาสตร์ทางทะเลของหน่วยงานต่าง ๆ ทั้งจากภาครัฐและเอกชนรวม 25 หน่วยงาน โดยจัดไปถึงวันที่ 30 มิถุนายนนี้

นายประวิม วุฒิสินธุ์ รองอธิบดีกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง กล่าวว่า ทรัพยากรธรรมชาติทางทะเลและชายฝั่งมีความสำคัญต่อระบบนิเวศและความหลากหลายทางชีวภาพทางทะเลในประเทศไทย รวมทั้งการพัฒนาด้านเศรษฐกิจจากการท่องเที่ยวและการประมง ความเสื่อมโทรมของทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งได้รับผลกระทบจากการพัฒนาพื้นที่บริเวณชายฝั่งทะเลและกิจกรรมต่างๆ ในทะเล เช่น การท่องเที่ยว การประมง เป็นต้น รวมทั้งจากปัจจัยธรรมชาติที่นอกเหนือการควบคุม ซึ่งนับวันจะทวีความรุนแรงขึ้น การแก้ปัญหาเหล่านี้หรือการกำหนดมาตรการในการบริหารจัดการจำเป็นต้องดำเนินการบนพื้นฐานของวิชาการและผลงานวิจัยที่เกี่ยวข้อง การศึกษาด้านวิทยาศาสตร์ทางทะเลมีความเชื่อมโยงกับระบบนิเวศและสิ่งแวดล้อมทางทะเลและชายฝั่งโดยตรง

“ในวาระแห่งการเฉลิมฉลองครบรอบ 50 ปี ของคณะกรรมาธิการสมุทรศาสตร์ภายใต้ยูเนสโก กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง ได้รับเป็นเจ้าภาพหลักในการจัดประชุมวิชาการวิทยาศาสตร์ทางทะเลอีกครั้งหนึ่ง โดยมอบหมายให้สถาบันวิจัยและพัฒนาทรัพยากรทางทะเล ชายฝั่งทะเล และป่าชายเลน เป็นผู้ดำเนินการ ร่วมกับหน่วยงานเจ้าภาพร่วมอีก 16 แห่ง ทั้งภาครัฐ เอกชนและมหาวิทยาลัยต่างๆ เพื่อเป็นการเปิดโอกาสให้บุคลากรที่ดำเนินการศึกษาวิจัยในหลากหลายสาขาวิชาที่เกี่ยวข้องกับวิทยาศาสตร์ทางทะเล และความหลากหลายทางชีวภาพ ได้มีโอกาสนำเสนอผลงาน แลกเปลี่ยนความรู้และประสบการณ์ เพื่อเป็นประโยชน์ในการพัฒนาการศึกษาวิจัย ให้สอดคล้องกับสถานการณ์ปัญหาในปัจจุบัน รวมถึงการเปลี่ยนแปลงที่จะเกิดขึ้นในอนาคต” นายประวิมกล่าว



ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น