นายสรธรรม จินดา รองนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดภูเก็ต เปิดเผยว่า ในช่วงมรสุมตั้งแต่เดือนเมษายน 2553 ถึง เดือนกุมภาพันธ์ 2554 ทาง อบจ. ภูเก็ต ได้จัดงบประมาณ 10 ล้านบาท ในการจ้างบีชการ์ด เพื่อดูแลความปลอดภัยนักท่องเที่ยว โดยดำเนินงานใน 7 พื้นที่ คือ ต.ราไวย์ หาดในหาน หาดยะนุ้ย ต. กะรน หาดกะตะ กะรน และหาดกะตะน้อย ต. ป่าตอง หาดป่าตอง ต. กมลา หาดกมลา หาดแหลมสิงห์ ต. เชิงทะเล อ่าวบางเทา หาดเลพัง หาดสุรินทร์ ต. สาคู หาดในยาง หาดในทอน และตำบลไม้ขาว หาดไม้ขาว
อย่างไรก็ตามการปฏิบัติงานของบีชการ์ด จำนวน 83 คน ได้กระจายไปทุกหาด โดยบีชการ์ดต้องปฏิบัติหน้าที่ตั้งแต่เวลา 09.00 – 19.00 น. ทุกวัน ซึ่งแต่ละคนต้องการผ่านการฝึกอบรม การช่วยเหลือจากชมรมไลฟ์การ์ดจังหวัดภูเก็ต ทั้งนี้ภารกิจของบีชการ์ด มีหน้าที่เตือนนักท่องเที่ยว ไม่ให้เล่นน้ำโดยการเตือน จะเตือนด้วยวาจา การเตือนด้วย ป้ายทั้งภาษาไทยและอังกฤษ การใช้ธงในการเตือน ธงเหลืองแดง เป็นสัญลักษณ์ให้ระมัดระวังในการเล่นน้ำ ธงแดง ห้ามเล่มน้ำโดยเด็ดขาด นอกจากนี้บีชการ์ด ยังมีภารกิจช่วยเหลือนักท่องเที่ยวจากการประสบอุบัติเหตุต่าง ๆ ด้วย ไม่ว่าจากเจ็ตสกี แมงกะพรุน ซึ่งจะมีการให้ปฐมพยาบาลเบื้องต้นก่อนประสานท้องถิ่น มูลนิธินำส่งโรงพยาบาลรวมถึงทาง อบจ. ภูเก็ต ยังได้ร่วมมือกับสมาคมธุรกิจการท่องเที่ยวจังหวัดภูเก็ต สมาคมโรงแรมไทยภาคใต้ แจ้งเตือนนักท่องเที่ยวในห้องพักด้วย
รองนายก อบจ. ภูเก็ต กล่าวในช่วงท้ายว่า ปัญหาอุปสรรคการปฏิบัติงานของบีชการ์ดส่วนใหญ่เกิดจากการไปห้ามนักท่องเที่ยว แล้วไม่เชื่อฟัง ทำให้เกิดเหตุจมน้ำได้ ที่สำคัญท้องถิ่นไม่มีกฎหมายในการห้าม ซึ่งการดำเนินงานมา 3 เดือน ผลเป็นที่น่าพอใจ มีนักท่องเที่ยวเสียชีวิตเพียง 1 ราย ช่วยเหลือได้กว่า 10 ราย และในอนาคต ทาง อบจ. ภูเก็ตเองจะจัดให้มีการฝึกอบรมบุคคลทั่วไป เรื่องไลฟ์การ์ด เพื่อให้ความรู้ในการช่วยเหลือนักท่องเที่ยว โดยจะเชิญผู้เชี่ยวชาญคือตำรวจน้ำมาเป็นวิทยากรให้
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น