เมื่อวันที่ 10 มกราคม 2554 ที่ห้องประชุมศาลาประชาคมจังหวัดภูเก็ต นายนิวิทย์ อรุณรัตน์ รองผู้ว่าราชการจังหวัดภูเก็ต เป็นประธานเปิดการสัมมนาเครือข่ายผู้เสียโอกาสคนจนเมืองและกลุ่มชาติพันธุ์เพื่อการปฎิรูป กรณี กลุ่มชาติพันธุ์ชาวเล โดยมีตัวแทนกลุ่มชาติพันธุ์ชาวเล จาก 6 จังหวัดอันดามัน เข้าร่วมประมาณ 100 คน เพื่อเป็นการเชื่อมโยงเครือข่ายกลุ่มชาติพันธ์ชาวเลอย่างมีระบบมากขึ้น จัดทำข้อมูลและประเด็นปัญหาที่เป็นปัจจุบันนำไปสู่การวางแผนและการทำงานเพื่อพัฒนากลุ่มชาติพันธุ์ชาวเล รวมถึงการเรียนรู้สถานการณ์กลุ่มชาติพันธุ์ต่างในประเทศ เพื่อนำไปสู่การแก้ไขปัญหากลุ่มชาติพันธุ์ชาวเลที่เป็นรูปธรรมและยั่งยืนต่อไป
นายสนิท แซ่ซั่ว กรรมการแก้ไขปัญหากลุ่มชาติพันธุ์ กล่าวว่า หลังเกิดอุบัติภัยสึนามิทำให้กลุ่มพี่น้องชาวเลเป็นที่รู้จักมากขึ้น ในขณะเดียวกันปัญหาที่มีอยู่ดั้งเดิมและปัญหาใหม่ๆ ก็ยังคงรุมเร้าและทวีความรุนแรงเพิ่มมากขึ้น ทั้งปัญหาการร้องเรียนเรื่องที่ดินอยู่อาศัย การทำกินในทะเล รวมถึงวิถีชีวิต จึงได้มีการรวมตัวกันจัดทำข้อมูล ประสานหน่วยงานราชการทนำเสนอปัญหาและแนวทางแก้ไขปัญหา กระทั่งล่าสุดได้มีมติ ครม.เห็นชอบในหลักการแนวนโยบายในการฟื้นฟูวิถีชีวิตชาวเล ตามแนวทางจัดทำพื้นที่วัฒนธรรมพิเศษชาวเล เมื่อวันที่ 2 มิถุนายน 2553 ประกอบด้วย การสร้างความมั่นคงในที่อยู่อาศัย การผ่อนปรนเรื่องการประกอบอาชีพอาชีพ โดยใช้อุปกรณ์ดั้งเดิมในพื้นที่เกาะแก่งที่เคยทำกิน การช่วยเหลือด้านสาธารณสุข การแก้ปัญหาสัญชาติสำหรับชาวเลที่ไม่มีบัตรประชาชน การส่งเสริมการศึกษาและสนับสนุนหลักสูตรท้องถิ่น การส่งเสริมด้านภาษาและวัฒนธรรม รวมทั้งการให้มีงบประมาณส่งเสริมวันนัดพบวัฒนธรรมชาวเล
อย่างไรก็ตามล่าสุดเมื่อวันที่ 26 ธันวาคม 2553 ที่ผ่านมาชาวเลบ้านแหลมตุ๊กแก อ.เมือง จ.ภูเก็ต จำนวน 17 คน ได้ออกทำการประมงในทะเลอันดามัน โดยนำสัตว์น้ำที่จับได้ไปขึ้นที่ท่าเรือชั่วคราวหาดยาว หมู่ที่ 6 ต.เกาะลิบง อ.กันตัง จ.ตรัง และได้ถูกเจ้าหน้าที่อุทยานแห่งชาติหาดเจ้าไหม จ.ตรัง ทำการจับกุมพร้อมยึดเรือและของกลาง ประกอบด้วย หอยหน้ายักษ์หรือหอยสังข์หนาม หอยสังข์แดง ถือว่าเป็นการจับกุมที่ไม่เป็นธรรมเนื่องจากสัตว์น้ำที่ชาวเลจับได้มิได้เป็นการจับสัตว์น้ำในเขตอุทยาน รวมถึงหอยทั้งสองชนิดที่ถูกยึดเป็นของกลางก็มิได้เป็นสัตว์สงวนต้องห้ามแต่อย่างใด ล่าสุดคดีนี้ทางเจ้าหน้าที่ตำรวจมีความเห็นสั่งไม่ฟ้องและมีการปล่อยตัวชั่วคราว ขณะนี้อยู่ระหว่างรอคำสั่งพนักงานอัยการว่ามีความเห็นสั่งฟ้องหรือไม่อย่างไร จากกรณีที่เกิดขึ้นนี้ทำให้เห็นชัดว่า มติ ครม.เป็นเพียงลายลักษณ์อักษรทางเจ้าหน้าที่และหน่วยงานของรัฐเองมิได้นำพานำไปสู่การปฏิบัติอย่างแท้จริง นายสนิท กล่าว
ขณะที่นางปรีดา คงแป้น คณะกรรมการสมัชชาปฎิรูป กล่าวว่า ชุมชนชาวเลกระจายอยู่ใน 6 จังหวัดอันดามัน จำนวนกว่า 30 ชุมชน ยังคงประสบปัญหาทั้งด้านความไม่มั่งคงในที่อยู่อาศัย เพราะไม่มีเอกสารสิทธิที่ดิน ปัญหาที่ทำกินอยู่ในเขตอุทยาน เขตอนุรักษ์พันธุ์สัตว์น้ำ และถูกเอกชนกำหนดเขตท่องเที่ยว ปัญหาสุสานและสถานที่ประกอบพิธีกรรมถูกรุกรานจากการท่องเที่ยว นอกจากนี้ยังมีปัญหาเรื่องเศรษฐกิจ สังคม การศึกษา และอื่นๆ เนื่องจากชาวเลเป็นกลุ่มชาติพันธุ์ที่รักความสงบ มีวิถีชีวิตอยู่กับธรรมชาติ ไม่มีความรู้และมักถูกเอาเปรียบ จึงเป็นกลุ่มที่เปราะบาง หากไม่มีการปกป้องจากสังคมอาจมีโอกาสสูญเสียความหลากหลายทางวัฒนธรรมในพื้นที่อันดามันได้
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น