เมื่อวันที่ 26 มกราคม 2554 ที่ ห้องภูเก็ตแกรนด์บอลรูม 2 โรงแรมรอยัล ภูเก็ต ซิตี้ อ.เมือง จ.ภูเก็ต นายนิวิทย์ อรุณรัตน์ รองผู้ว่าราชการจังหวัดภูเก็ต เป็นประธานพิธีเปิดการประชุมรับฟังความคิดเห็นครั้งที่ 2 โครงการบูรณาการอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวอันดามันสู่การเป็นศูนย์กลางการท่องเที่ยวระดับโลกบนฐานความเข้มแข็งของชุมชนตามแนวเศรษฐกิจพอเพียง ซึ่งทางสำนักบริหารยุทธศาสตร์กลุ่มจังหวัดภาคใต้ฝั่งอันดามัน จัดขึ้น เพื่อนำเสนอแผนแม่บทและแผนการส่งเสริมกิจกรรมการท่องเที่ยวและประชาสัมพันธ์ เพื่อนำไปสู่การเป็นศูนย์กลางการท่องเที่ยวระดับโลกบนฐานความเข้มแข็งของชุมชนตามแนวเศรษฐกิจพอเพียงอย่างเป็นรูปธรรม โดยมีหัวหน้าส่วนราชการ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ผู้แทนสถาบันการศึกษา สื่อมวลชนในพื้นที่ กลุ่มจังหวัดอันดามัน (ระนอง พังงา ภูเก็ต กระบี่และตรัง) เข้าร่วม
นายพิชิต บุญรอด นักวิเคราะห์นโยบายและแผนชำนาญการพิเศษ สำนักบริหารยุทธศาสตร์กลุ่มจังหวัดอันดามัน (OSM) กล่าวว่า จากที่ได้มีการรับฟังความคิดเห็นครั้งที่ 2 เมื่อต้นเดือนมกราคมที่ผ่านมา ได้มีข้อเสนอกรอบยุทธศาสตร์การพัฒนาการท่องเที่ยวอันดามัน โดยกำหนดวิสัยทัศน์ Andaman Paradise, More to Explore มีเป้าประสงค์เชิงยุทธศาสตร์ เพื่อให้นักท่องเที่ยวสามารถเข้าถึงแหล่งท่องเที่ยวได้อย่างมีประสิทธิภาพ สะดวก ปลอดภัย และประทับใจ, พื้นที่และบริการของอันดามันจะต้องสะอาด สะอาดและสะอาด, แหล่งท่องเที่ยว และสินค้าและบริการที่เกี่ยวข้องจะต้องมีการนำเสนอคุณค่าทางใจที่สะท้อนความเป็นประวัติศาสตร์ ประเพณีวัฒนธรรม หรือวิถีชีวิตที่เป็นเอกลักษณ์ของอันดามันเสมอ ตลอดจนนักท่องเที่ยวประทับใจและต้องการกลับมาเที่ยวอีก
ในส่วนของประเด็นยุทธศาสตร์ ประกอบด้วย 1.การพัฒนาระบบโลจิสติกส์เพื่อการท่องเที่ยวอันดามัน ได้แก่ การพัฒนาโครงข่ายเชื่อมโยงอันดามัน พัฒนาระบบขนส่งสาธารณะในเมืองและระหว่างเมือง ยกระดับคุณภาพบริการข้อมูลข่าวสารเพื่อการท่องเที่ยว 2.การพัฒนาสิ่งแวดล้อม สร้างบรรยากาศที่เป็นสวรรค์ให้กับนักท่องเที่ยว ได้แก่ การฟื้นฟูแหล่งท่องเที่ยวให้กลับสู่ความเป็นธรรมชาติ สร้างอันดามันเป็นพื้นที่สะอาด มีไมตรี และสร้างอันดามันเป็นพื้นที่ปลอดภัย 3.การยกระดับคุณภาพของบริการท่องเที่ยวของธุรกิจทุกประเภท ได้แก่ การพัฒนาคุณภาพบุคลากรผู้ให้บริการ ส่งเสริมระบบราคาที่เป็นธรรมและโปร่งใส 4.การส่งเสริมการพัฒนาสินค้าชุมชนและบริการชุมชนสู่ตลาดอันดามัน ได้แก่ การพัฒนาคุณภาพผลิตภัณฑ์ ส่งเสริมช่องทางการตลาดและการประชาสัมพันธ์สินค้า พัฒนาความสามารถในการจัดการเชิงธุรกิจของเครือข่าย/วิสาหกิจชุมชน และ 5.การสร้างมูลค่าเพิ่มตามนโยบายเศรษฐกิจสร้างสรรค์ ได้แก่ การฟื้นฟูเรื่องราวและประวัติศาสตร์ที่มีคุณค่าของท้องถิ่น ส่งเสริมกระบวนการสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับสินค้าและบริการผ่านเรื่องราวและทรัพยากรที่เป็นเอกลักษณ์ของท้องถิ่น นายพิชิตกล่าว
ทั้งนี้สิ่งที่จะนำไปสู่เป้าหมายของการเป็นสวรรค์อันดามัน (Andaman Paradise) ด้วยการรักษาคุณภาพของสิ่งแวดล้อม ความสวยงามของทรัพยากรธรรมชาติและวัฒนธรรมท้องถิ่น คือ การคงไว้ซึ่งเสน่ห์ของอันดามัน ซึ่งเป็นจุดแข็งที่ทำให้อันดามันเป็นศูนย์กลางการท่องเที่ยวทางทะเลได้อย่างยั่งยืน, รักษาความสะอาด ความปลอดภัย ทำให้เป็นเมืองน่าอยู่ ดึงดูดนักท่องเที่ยว ดึงดูดการลงทุน, การสร้างคุณภาพชีวิตที่ดีให้ชุมชน ผู้คนยิ้มแย้มแจ่มใสมีไมตรีจิต นักท่องเที่ยวประทับใจ มาซ้ำ บอกต่อ และทำให้เป็นจุดหมายปลายทางที่คุ้มค่า คุ้มราคา สำหรับคนทุกกลุ่ม กับเป้าหมายของการเป็น More to Explore มีการเชื่อมโยงความเป็นศูนย์กลางการท่องเที่ยวระดับโลกกับสินค้าท่องเที่ยวและการบริการที่มีชุมชนเป็นฐาน ด้วยการขยายช่องทางประชาสัมพันธ์สินค้าท่องเที่ยว ผลผลิตการเกษตร ผลิตภัณฑ์ท้องถิ่นของชุมชน กับตลาดนานาชาติ, เชื่อมโยง Strategic Positioning ของแต่ละพื้นที่กับการพัฒนาสินค้าและบริการของชุมชน และเชื่อมโยงการเดินทางจากจุดเชื่อมต่อที่สำคัญไปยังแหล่งท่องเที่ยวที่บริหารจัดการโดยเฉพาะชุมชน ซึ่งทั้งหมดมีกิจกรรมนำร่อง ได้แก่ การจัดทำฐานข้อมูลด้านการท่องเที่ยวกลุ่มจังหวัดอันดามัน การจัดทำแผนส่งเสริมชุมชนท่องเที่ยว การจัดทำเว็บไซต์ การจัดทำคู่มือท่องเที่ยวและโบรชัวร์ และการพัฒนาหลักสูตรและดำเนินการอบรมนำร่อง
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น