เมื่อวันที่ 27 มกราคม 2554 ที่ห้องประชุม โรงแรม เดอะ เวสทิน สิเหร่เบย์ รีสอร์ท แอนด์ สปา อ.เมือง จ.ภูเก็ต ได้มีการประกอบพิธีลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ (MOU) ในการดำเนินงานส่งเสริมอุตสาหกรรม MICE ของจังหวัดภูเก็ต ระหว่างสำนักงานส่งเสริมการจัดประชุมและนิทรรศการ (องค์การมหาชน) หรือ สสปน.โดยนายอนุศักดิ์ อินทรภูวศักดิ์ ประธานกรรมการ สสปน.กับจังหวัดภูเก็ต โดยนายตรี อัครเดชา ผู้ว่าราชการจังหวัดภูเก็ต เพื่อผลักดันให้ภูเก็ตเป็นจุดหมายปลายทางของการจัดประชุม สัมมนาและการแสดงสินค้าระดับนานาชาติ ตลอดจนเสริมสร้างศักยภาพและความพร้อมในฐานศูนย์กลางการท่องเที่ยว และธุรกิจการค้าของภาคใต้ ดึงดูดผู้เดินทางกลุ่มไมซ์ทั้งตลาดอินบราวนด์และเอาท์บราวนด์ สร้างแรงขับเคลื่อนอุตสาหกรรมไมซ์ไทยสู่เวทีโลก
นายอนุศักดิ์ อินทรภูวศักดิ์ ประธานกรรมการ สสปน.กล่าวว่า การพัฒนาและส่งเสริมให้ภูมิภาคต่างๆ ของประเทศไทยเป็นศูนย์กลางของอุตสาหกรรมการจัดประชุม การท่องเที่ยวเพื่อเป็นรางวัล และการแสดงสินค้านานาชาติ หรืออุตสาหกรรมไมซ์ นับเป็นภารกิจหลักสำคัญของ สสปน. เพราะแต่ละภูมิภาคของประเทศไทยมีความพร้อมและจุดเด่นที่มีความเป็นเอกลักษณ์ตามแต่ละพื้นที่ ซึ่งสามารถพัฒนาให้เกิดกิจกรรมไมซ์ได้อย่างเหมาะสมและมีความแตกต่าง โดยในช่วงปีที่ผ่านมา สสปน.ได้ดำเนินการเชิงรุกผลักดันให้ทั้งกรุงเทพฯ เชียงใหม่ และพัทยา ขยายความเป็นพื้นที่ของการค้า การลงทุน วัฒนธรรมและการท่องเที่ยว สู่การเป็นนครแห่งไมซ์ที่รองรับผู้เดินทางกลุ่มไมซ์ได้อย่างสมบูรณ์ ด้วยการร่วมพัฒนาและส่งเสริมจังหวัดในด้านต่างๆ อย่างต่อเนื่อง
“ภูเก็ตนับเป็นจังหวัดที่มีผู้เดินทางกลุ่มไมซ์เข้ามาเป็นอันดับต้นๆ ของประเทศ โดยเฉพาะอย่างยิ่งผู้เดินทางกลุ่มไมซ์ในแถบเอเชียและยุโรป ด้วยความพร้อมทั้งด้านจำนวนห้องพัก สถานที่จัดประชุม สัมมนา และแสดงสินค้า ที่สามารถรองรับผู้โดยสารทั้งในและต่างประเทศ ภูเก็ตจึงมีศักยภาพและความพร้อมในการเป็นนครแห่งไมซ์ โดยความร่วมมือที่เกิดจากความร่วมมือกันในครั้งนี้ ประกอบด้วยการส่งเสริมให้มีการจัดงานไมซ์ ในจังหวัดภูเก็ตผ่านการสื่อสารประชาสัมพันธ์ให้เป็นที่แพร่หลายทั้งในและต่างประเทศ ถ่ายทอดองค์ความรู้และแลกเปลี่ยนการเรียนรู้เกี่ยวกับธุรกิจไมซ์ระหว่างกันตลอดจน ร่วมมือกันพัฒนาบุคลากรที่เกี่ยวข้องกับอุตสาหกรรม เพื่อให้รองรับการเติบโตของธุรกิจ เผยแพร่องค์ความรู้ดังกล่าวให้กับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ตลอดจนแลกเปลี่ยนข้อมูลข่าวสารเพื่อใช้พิจารณาในการวางผังเมือง ก่อสร้างโครงสร้างพื้นฐาน เส้นทางคมนาคมและขนส่งมวลชนของจังหวัดให้เกิดประโยชน์ เพื่มศักยภาพ และความสามารถในการแข่งขันของอุตสาหกรรมไมซ์ของจังหวัดและประเทศไทยในระดับนานาชาติ”
นายอนุศักดิ์ กล่าวด้วยว่า อุตสาหกรรมไมซ์ของประเทศไทยนับเป็นหนึ่งในอุตสาหกรรมหลักที่รัฐบาลไทยให้ความสำคัญ เพราะเป็นกลไกหลักในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจและสร้างรายได้ให้กับประเทศอย่างต่อเนื่อง ซึ่งสภพาการณ์อุตสาหกรรมไมซ์ของประเทศไทยในขณะนี้ถือว่ามีการเติบโตตามตลาดโลก โดยเฉลี่ยปีหนึ่งจะมีผู้เดินทางกลุ่มไมซ์เข้ามายังประเทศไทยประมาณ 700,000 คน สร้างรายได้เข้าประเทศประมาณ 50,000 ล้านบาท โดยในปีนี้ได้ตั้งเป้าจำนวนผู้เดินทางกลุ่มไมซ์จำนวน 720,000 คน สร้างรายได้ประมาณ 57,000 ล้านบาท
ขณะที่นายตรี อัครเดชา ผู้ว่าราชการจังหวัดภูเก็ต กล่าวว่า ความร่วมมือระหว่างกันนั้นถือเป็นความร่วมมือครั้งสำคัญที่หน่วยงานภาครัฐทั้งสองหน่วยงานได้ร่วมกันดำเนินนโยบายเชิงรุก ผลักดันอุตสาหกรรมไมซ์ของประเทศไทยให้กลายเป็นอีกหนึ่งเครื่องมือที่จะสร้างรายได้และขับเคลื่อนเศรษฐกิจเข้าสู่จังหวัดภูเก็ต นอกจากนี้ยังสอดคล้องกับแผนพัฒนาจังหวัด หรือยุทธศาสตร์ที่สอดคล้องกับแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติอย่างชัดเจน คือ ศูนย์กลางการท่องเที่ยวทางทะเลระดับโลก มีคุณภาพชีวิตที่ดี มีเอกลักษณ์วัฒนธรรม และมีการพัฒนาที่ยั่งยืน มีแผนพัฒนา มีโครงการที่ชัดเจน รวมถึงโครงการสำคัญที่รัฐมนตรีเห็นชอบแล้ว เช่น โครงการขยายสนามบินนานาชาติภูเก็ต โครงการก่อสร้างหอประชุมนานาชาติ เป็นต้น โดยในแต่ละปีภูเก็ตมีโอกาสต้อนรับนักท่องเที่ยวจำนวนหลายล้านคน ในจำนวนนั้นมีนักท่องเที่ยวที่เป็นผู้เดินทางกลุ่มไมซ์รวมอยู่ด้วย
ความพร้อมของภูเก็ตในการรองรับการเป็นนครแห่งไมซ์นั้น จะมีทั้งการคมนาคมขนส่ง มีสนามบินนานาชาติที่สามารถรองรับผู้โดยสารทั้งในและต่างประเทศได้ปีละ 6.5 ล้านคน มีการทำการบินเฉลี่ยสัปดาห์ละ 416 เที่ยวบิน และมีโครงการขยายท่าอากาศยานนานาชาติภูเก็ตเป็น 12.5 ล้านคนต่อปี ซึ่งจะแล้วเสร็จประมาณปี 2555 นอกจากนี้ยังมีโรงแรมระดับ 5 ดาว 4 ดาว 3 ดาว และอื่นๆ จำนวน 628 แห่ง ห้องพักจำนวน 37,543 ห้อง และมีแนวโน้มการขยายตัวของโรงแรมในพื้นที่จังหวัดภูเก็ตร้อยละ 6.6 ต่อปี ประกอบกับเอกลักษณ์ของจังหวัดที่เป็นแหล่งรวมศิลปวัฒนธรรม มีธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมที่โดดเด่น รวมถึงพื้นที่ในจังหวัดกลุ่มอันดามันที่อยู่ระหว่างเสนอให้เป็นพื้นที่มรดกโลก
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น