เมื่อวันที่ 16 กุมภาพันธ์ 2554 ที่โรงแรมรอยัล ภูเก็ตซิตี้ อ.เมือง จ.ภูเก็ต นายวีรวัฒน์ จันทร์เพ็ญ รองผู้ว่าราชการจังหวัดภูเก็ต เป็นประธานเปิดการประชุมสันนิบาตเทศบาลภาคใต้ ครั้งที่ 1 ประจำปี 2554 ซึ่งสันนิบาตเทศบาลภาคใต้ โดยเทศบาลนครภูเก็ตและเทศบาลต่างๆ ในจังหวัดภูเก็ต ร่วมกันเป็นเจ้าภาพจัดขึ้น โดยมีนายกเทศมนตรีและปลัดเทศบาล ในพื้นที่ 14 จังหวัดภาคใต้ ตลอดจนเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องเข้าร่วม
ทั้งนี้นอกจากการประชุมฯของสันนิบาตฯ ตามวาระแล้ว ยังมีการบรรยาย เรื่อง แผนที่ทางเดินยุทธศาสตร์กับการพัฒนาสุขภาพขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น โดยใช้กลไกกองทุนหลักประกันสุขภาพของเทศบาล, การบริหารจัดการกองทุนหลักประกันสุขภาพเทศบาล การอภิปรายเรื่อง รายได้กับการกระจายอำนาจ และการบรรยายเรื่อง ทิศทางการใช้ที่ดินราชพัสดุองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น
นางสาวสมใจ สุวรรณศุภพนา นายกเทศมนตรีนครภูเก็ต ในฐานะประธานสันนิบาตเทศบาลภาคใต้ กล่าวว่า สมาคมสันนิบาตภาคใต้ได้กำหนดให้มีการประชุมฯ เป็นประจำทุกปี โดยมีผู้เข้าร่วมประชุมประกอบด้วยนายกเทศมนตรี และปลัดเทศบาลทั้งภาคใต้ 14 จังหวัด จำนวน 263 เทศบาล เพื่อส่งเสริมให้เกิดความรัก ความสามัคคี รวมถึงบูรณาการความร่วมมือ ระหว่างเทศบาลในภาคใต้ เพื่อนำปัญหาอันเป็นอุปสรรคต่อการบริหาร การพัฒนาท้องถิ่นในแต่ละพื้นที่มาร่วมกันกำหนดแนวทางและมาตรการ มุ่งผลสัมฤทธิ์ เพิ่มศักยภาพและขีดความสามารถ สร้างความได้เปรียบในการแข่งขัน พัฒนาองค์กรให้เป็นองค์กรแห่งการเรียนรู้ รวมทั้งพัฒนาบุคลากรในองค์กรให้มีความรู้ ความสามารถก้าวทันกับสภาวะ การเปลี่ยนแปลงในปัจจุบัน ยกระดับด้านการบริการสาธารณะของเทศบาลให้มีมาตรฐาน โดยยึดประชาชนเป็นศูนย์กลาง ตลอดจนสร้างความพึงพอใจให้แก่ประชาชนและพัฒนาท้องถิ่นให้มีความเจริญก้างหน้าเป็นเมืองน่าอยู่อย่างยั่งยืน
“การจัดประชุมสันนิบาตเทศบาลภาคใต้ในครั้งนี้ นับเป็นสิ่งสำคัญอันจะก่อให้เกิดการบูรณาการระหว่างเทศบาลทั้ง 14 จังหวัดภาคใต้ เป็นการนำปัญหาและอุปสรรคในการบริหารงานของแต่ละพื้นที่มาร่วมกันกำหนดแนวทางแก้ไขตลอดจนพัฒนาให้เกิดการบริหารจัดการที่ดี ซึ่งจะนำไปสู่ประโยชน์สุขแก่ประชาชนรวมถึงเป็นการส่งเสริมให้ท้องถิ่นมีความเจริญก้าวหน้า ยกระดับท้องถิ่นให้น่าอยู่อย่างยั่งยืนต่อไป” นางสาวสมใจกล่าว
ขณะที่นายวีระวัฒน์ จันทร์เพ็ญ รองผู้ว่าราชการจังหวัดภูเก็ต กล่าวว่า การประชุมร่วมกันของผู้บริหารเทศบาลต่างๆ นั้นเป็นเรื่องที่สำคัญ เนื่องจากจะมีกฎหมายใหม่ๆ และการเปลี่ยนแปลงรูปแบบการบริหารงานที่ออกมาใหม่ และท้องถิ่นจะต้องนำไปใช้ ซึ่งจะต้องมีการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ปัญหาอุปสรรคร่วมกัน เพื่อจะได้รับรู้รับทราบแนวทางการแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้น เนื่องจากในแต่ละพื้นที่จะมีความแตกต่างกัน ไม่ว่าจะเป็นลักษณะของที่ตั้ง ภูมิประเทศ ทรัพยากรและความเคลื่อนไหวทางสังคม ดังนั้นเพื่อให้การบริหารในการพัฒนานำไปสู่เป้าหมายที่วางไว้ตลอดจนเพื่อให้เกิดการประสานแผนงานโครงการต่างๆ เกิดประโยชน์สูงสุดก็จำเป็นที่จะต้องมีการพบปะหารือกันสม่ำเสมอ ประกอบกับรูปแบบในการปกครองที่เน้นการกระจายอำนวยมากขึ้น
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น