เมื่อวันที่ 9 พฤษภาคม 2554 ที่ห้องประชุมชั้น 4 ศูนย์พัฒนาเด็กเล็กเทศบาลเมืองป่าตอง อ.กะทู้ จ.ภูเก็ต กลุ่มบริษัทที่ปรึกษา ประกอบด้วย บริษัทเอพซิลอน จำกัด, ศูนย์วิศวกรรมพลังงานและสิ่งแวดล้อม คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ และบริษัท แพลนโปร จำกัด ซึ่งเป็นผู้ดำเนินการศึกษาความเหมาะสมทางด้านเศรษฐกิจ สังคม วิศวกรรม และผลกระทบสิ่งแวดล้อม โครงการก่อสร้างทางหลวงแนวใหม่เชื่อมต่อกะทู้-ป่าตอง ได้จัดให้มีการรับฟังความคิดเห็นกลุ่มย่อยครั้งที่ 2 การศึกษาฯ โครงการดังกล่าวดังกล่าว โดยมีนายเปี่ยน กี่สิ้น นายกเทศมนตรีเมืองป่าตอง รองนายกเทศมนตรี สมาชิกสภาฯ ข้าราชการ ตลอดจนประชาชนในพื้นที่ป่าตอง ทั้งกลุ่มที่เห็นด้วยและไม่เห็นด้วยกับโครงการมาร่วมแสดงความคิดเห็น โดยเฉพาะประชาชนจากชุมชนบ้านมอญ ซึ่งเป็นชุมชนเก่าแก่และไม่เห็นด้วยกับโครงการนี้มาตั้งแต่ต้น เพราะจุดทางเข้า-ออกต้องตัดผ่านชุมชนซึ่งจะทำให้วิถีชีวิตเปลี่ยน หลังจากที่รับฟังคำอธิบายของกลุ่มบริษัทที่ปรึกษาได้บางส่วน ก็ได้ลุกออกจากห้องประชุมและมาเปิดเวทีปราศรัยย่อยด้านล่างอาคาร เพื่อคัดค้านไม่เอาโครงการขุดอุโมงค์ เนื่องจากทำให้ชาวบ้านบ้านมอญได้รับความเดือดร้อน
นายพาณิช สมบัติ แกนนำชาวบ้านมอญ อ.กะทู้ จ.ภูเก็ต ขณะนี้ชาวบ้านบ้านมอญไม่ต้องการให้มีการขุดอุโมงค์ ไม่ว่าจะเป็นทางเลือกใด เนื่องจากชาวชุมชนบ้านมอญจะได้รับผลกระทบโดยตรง โดยเฉพาะวิถีชีวิตของคนในชุมชน เนื่องจากชุมชนบ้านมอญเป็นชุมชนเก่าแก่ที่ชาวบ้านอาศัยมาเป็นเวลานานแล้ว ส่วนการเวนคืนที่ดินนั้นราคาที่ได้มานั้น เชื่อว่าชาวบ้านจะไม่สามารถนำไปหาซื้อบ้านสำหรับอยู่อาศัยได้ในพื้นที่ป่าตองได้ นอกจากนั้นอาชีพของชาวบ้านก็จะถูกทำลาย รวมถึงเรื่องของสิ่งแวดล้อมด้วย
อย่างไรก็ตามในส่วนของการแก้ไขปัญหาและลดอุบัติเหตุที่เกิดในการใช้เส้นทางปัจจุบัน นายพาณิช กล่าวว่า เสนอแนวทางให้มีการปรับปรุงและขยายถนนทางขึ้นลงเขาป่าตองให้กว้างขึ้น โดยตัดเป็นถนนสี่ช่องจราจรและตัดถนนคู่ขนานขึ้นมาอีกเส้นทางหนึ่ง เชื่อมจากถนนผังเมืองสาย ก.มายังเขากมลา เชื่อว่าน่าจะสามารถแก้ไขและลดปัญหาอุบัติเหตุได้
ขณะที่นายธัชพล ขมิ้นทอง ชาวบ้านชุมชนบ้านมอญ กล่าวว่า ชาวบ้านไม่เอาโครงการขุดอุโมงค์แน่นอน เพราะหากมีการขุดอุโมงค์และทางออกอุโมงค์มาออกที่ชุมชนบ้านมอญ ชาวบ้านจะได้รับความเดือดร้อนเป็นอย่างมาก เงินที่ได้จากการเวนคืนเงินก็ไม่สามารถที่จะนำไปซื้อที่ดินเพื่อสร้างที่อยู่อาศัยในพื้นที่ป่าตองได้ และยังจะเป็นการทำลายชุมชนเก่าแก่และดั้งเดิมของป่าตองที่เหลืออยู่เพียงชุมชนเดียว จึงอยากให้ยกเลิกโครงการดังกล่าวนอกจากนั้นยังเป็นการทำลายระบบนิเวศ แม้ว่าความปลอดภัยจะเป็นเรื่องสำคัญ แต่ใช่ว่าการสร้างอุโมงค์จะไม่มีอุบัติเหตุเกิดขึ้น เพราะจากการศึกษาพบว่าอุโมงค์หลายๆ แห่งในต่างประเทศมีอุบัติเหตุเกิดขึ้นบ่อยครั้ง และยังทำให้ผู้ใช้เส้นทางจะต้องเสียค่าใช้จ่าย เชื่อว่าโดยศักยภาพของท้องถิ่นไม่สามารถดำเนินโครงการดังกล่าวได้เอง และจะต้องให้เอกชนเข้ามาดำเนินการ ซึ่งผู้แบกรับภาระคือประชาชนผู้ใช้เส้นทาง
อย่างไรก็ตามกลุ่มบริษัทที่ปรึกษาได้ชี้แจงทำความเข้าใจกับชาวบ้าน และยังยืนยันจากแนวทางที่มีการศึกษาทางเลือกประมาณ 6 ทางเลือก พบว่าทางเลือกที่ 2 เป็นทางเลือกที่เหมาะสมทั้งในด้านวิศวกรรม การลงทุน และผลกระทบสิ่งแวดล้อม แต่ได้มีการปรับเปลี่ยนเพื่อให้มีผลกระทบต่อชาวบ้านน้อยที่สุด ด้วยการปรับแนวลงมาใกล้ถนน 50 ปี เพื่อลดผลกระทบกับราชปาทานนุสรณ์ และบริเวณชุมชนดั้งเดิม จุดเริ่มต้นโดยเบี่ยงออกจากถนนทางหลวงหมายเลข 4029 ที่ประมาณ กม. 0+850 มาทางด้านฝั่งช้าย (ฝั่งทิศใต้) เป็นถนนขนาด 4 ช่องทางจราจร ทางแยกบริเวณนี้เป็นทางยกระดับดิน ควบคุมการจราจรด้วยระบบสัญญาณไฟ เนื่องจากในอนาคตเมื่อปริมาณการจราจรมากขึ้น อาจก่อสร้างสะพานลอยข้ามแยกตามแนวทางหลวงหมายเลข 4029 เพื่อลดจังหวะของรอบสัญญาณไฟได้
แนวเส้นทางจะเบี่ยงตัวลงทางทิศตะวันตกเฉียงใต้และลอดใต้ป่าเขานาคเกิด โดยเข้าสู่ช่วงโครงสร้างปากอุโมงค์ ประมาณ กม. 0+565 และเป็นโครงสร้างอุโมงค์ลอดใต้ป่าเขานาคเกิดที่กม.0+600 อุโมงค์ผายออกจนเป็นรูปตัดทั่วไปของอุโมงค์ที่ กม.0+740 และคงระยะห่างไว้ถึงประมาณกม.1+900 จึงจะเริ่มลู่เข้าหากันจนถึงปากอุโมงค์ที่กม.2+145 ที่ระดับความสูงประมาณ +45.65 รวมความยาวอุโมงค์ 1,580 เมตร จากนั้นแนวเส้นทางจะเป็นโครงสร้างสะพานข้ามถนนพิศิษฐ์กรณีย์ยาว 504 เมตร ความยาวช่วงสะพานจำนวน 3 ช่อง โดยสิ้นสุดโครงสร้างที่กม.2+686 และเข้าเชื่อมกับถนนตามผังเมืองรวมสาย ก ที่บริเวณใกล้อาคาร ARK Resort ฝั่งเหนือ รวมความยาวประมาณ 3.047 กม.
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น