อสังหาฯ ภูเก็ตโอด ผลกระทบผังเมืองใหม่
เมื่อวันที่ 20 สิงหาคม 54 ที่ห้องประชุมภูเก็ต แกรนด์ บอลรูม โรงแรมรอยัลภูเก็ต ซิตี้ อ.เมือง จ.ภูเก็ต นายไชยวัฒน์ เทพี ปลัดจังหวัดภูเก็ต เป็นประธานเปิดการสัมมนาเชิงวิชาการ หัวข้อ “เจาะลึกผังเมืองรวม จังหวัดภูเก็ต ปี 54” ซึ่งทางสมาคมอสังหาริมทรัพย์ภูเก็ต จัดขึ้น เพื่อให้ความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับกฎหมายผังเมืองรวมจังหวัดภูเก็ต ปี พ.ศ.2554 ซึ่งประกาศเป็นกฎกระทรวง โดยมีผลบังคับใช้มาตั้งแต่วันที่ 7 กรกฎาคม 2554 ที่ผ่านมา ซึ่งมีระยะเวลาการบังคับใช้ 5 ปี โดยจะไปสิ้นสุดในวันที่ 6 กรกฎาคม 2559 เพื่อให้ผู้เข้าร่วมสัมมนาได้นำความรู้ต่างๆ ไปปรับใช้กับกิจการงานที่เกี่ยวข้องในโอกาสต่อไป โดยมี ส่วนราชการที่เกี่ยวข้อง องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และผู้ประกอบการอสังหาริมทรัพย์ภูเก็ตสนใจเข้าร่วมเป็นจำนวนมาก
ทั้งนี้สาระสำคัญการเปลี่ยนแปลงระหว่างผังเมืองรวมเกาะภูเก็ต ปี 2548 กับผังเมืองรวมจังหวัดภูเก็ต ปี 2554 สรุป คือ มีการเพิ่มประเภทสีของพื้นที่ จากเดิม 13 ประเภท เป็น 16 ประเภท ที่เพิ่มใหม่ 3 ประเภท ได้แก่ สีฟ้า ประเภทที่โล่งเพื่อรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อม การท่องเที่ยว และการประมง สีฟ้ามีเส้นทแยงสีขาว ประเภทที่โล่งเพื่อนันทนาการ และการรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อมชายฝั่งทะเล และสีฟ้ามีกรอบและเส้นทแยงสีน้ำตาล ประเภทอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติ และการรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อมชายฝั่งทะเล นอกจากนี้ยังมีการเปลี่ยนแปลงรายละเอียดข้อกำหนดการใช้ประโยชน์พื้นที่ด้วย
นายธนันท์ ตัณฑ์ไพบูลย์ นายกสมาคมอสังหาริมทรัพย์ภูเก็ต กล่าวว่า ด้วยผังเมืองเดิมซึ่งประกาศใช้เมื่อปี 2548 ได้หมดอายุลงเมื่อปี 2553 ที่ผ่านมา และก่อนหน้านี้ได้มีการต่ออายุการบังคับใช้ออกไป 2 ปี เนื่องจากอยู่ระหว่างการจัดทำผังเมืองใหม่ แต่ปรากฏว่าใช้ไปได้ประมาณปีเศษ ก็มีการประกาศใช้ผังเมืองใหม่ คือ ผังเมืองจังหวัดภูเก็ต โดยมีผลบังคับใช้มาตั้งแต่วันที่ 7 กรกฎาคม 2554 ที่ผ่านมา ซึ่งมีประเด็นที่เป็นข้อสงสัยและถกเถียงกันอย่างกว้างขวางของคนในพื้นที่ เพราะในรายละเอียดของผังเมืองใหม่นั้นดูเหมือนว่าจะทำให้การขยายตัวทางด้านการเจริญเติบโตของธุรกิจช้าไปหรือไม่
“แม้ว่าในช่วงที่ผ่านมาภูเก็ตจะได้รับผลกระทบจากปัญหาเศรษฐกิจและการเมือง แต่การท่องเที่ยวก็มีการเติบโตอย่างต่อเนื่อง ส่งผลให้ธุรกิจอสังหาริมทรัพย์โตตามไปด้วย ดังนั้นการกำหนดพื้นที่ในโซนสีต่างๆ ซึ่งมีการเปลี่ยนแปลงจะไปส่งผลให้การเติบโตช้าลงหรือไม่ และในบางประเด็นที่ประกาศใช้นั้นจะไดรอนสิทธิของประชาชนหรือไม่ ซึ่งเป็นเรื่องที่ต้องมีการพูดคุยกัน เช่น บางพื้นที่เดิมซึ่งสามารถจัดสรรได้ แต่เมื่อมีประกาศใช้กฎหมายใหม่ไม่สามารถดำเนินการได้ ปัญหาการใช้ประโยชน์พื้นที่เพื่อทำกิจการรอง ซึ่งมีการคิดเป็นเปอร์เซ็นต์ ใครทำก่อนย่อมสามารถดำเนินการแต่คนทำทีหลังหมดสิทธิ เป็นต้น”
นายธนันท์ กล่าวด้วยว่า จากการที่ได้พูดคุยหารือกับผู้บริหารของกรมโยธาธิการและผังเมืองซึ่งบอกว่ากฎหมายเมื่อมีปัญหาสามารถที่จะแก้ไขได้ แต่ส่วนตัวมองว่ากระบวนการในการแก้กฎหมายนั้นช้ามาก ดังนั้นจุงอยากฝากไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้องว่า ในการออกกฎหมายใดๆ ที่เกี่ยวข้องกับท้องถิ่นนั้นควรที่จะมีการบูรณาการร่วมกัน โดยจะต้องมีการเชิญผู้มีส่วนได้ส่วนเสียทุกกลุ่มมาร่วมแสดงความคิดเห็นเพื่อจะได้ไม่เกิดปัญหาตามมาภายหลัง
อย่างไรก็ตามต้องบอกว่าสำหรับภูเก็ตที่ผ่านมานั้นการเติบโตทางเศรษฐกิจจะเป็นไปแบบธรรมชาติและตามดีมานท์ซับพลายซึ่งจะขึ้นกับการท่องเที่ยวเป็นหลัก และที่ผ่านมาก็จะเป็นลักษณะของการเติบโตและชะลอเป็นระยะๆ ขึ้นกับปัจจัยที่มากระทบ เนื่องจากท่องเที่ยวเป็นเรื่องที่อ่อนไหวง่าย จึงเชื่อว่าการเติบโตของภูเก็ตจะไม่เป็นลักษณะแบบก้าวกระโดด ซึ่งในการนำผังเมืองมาบังคับใช้นั้นเป็นเรื่องที่ดีในการที่จะควบคุมการเติบโต แต่ขณะเดียวกันก็ควรที่จะให้คนท้องถิ่นได้มีส่วนร่วมในการนำเสนอความคิดเพื่อให้เป็นไปตามสถานการณ์ที่แท้จริง
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น