เมื่อวันที่ 23 เมษายน 2555 ที่โรงแรมเมโทรโพล อ.เมือง ภูเก็ต นายกิตติพงษ์ เหล่านิพนธ์ สวัสดิการและคุ้มครองแรงงานจังหวัดภูเก็ต เป็นประธานในการประชุมชี้แจงโครงการสถานประกอบกิจการสีขาวป้องกันและแก้ไขปัญหายาเสพติด ประจำปี 2555 โดยมีสถานประกอบการสีขาวในจังหวัดภูเก็ตจำนวน 40 แห่ง เข้าร่วม
นายกิตติพงษ์ กล่าวว่า รัฐบาลประกาศนโยบายแก้ไขปัญหายาเสพติด โดยกำหนดวาระแห่งชาติภายใต้ยุทธศาสตร์พลังแผ่นดินเอาชนะยาเสพติด ให้ทุกภาคส่วนในสังคมร่วมกันดำเนินการเร่งรัดการป้องกันและแก้ไขปัญหายาเสพติดให้ประสบความสำเร็จโดยเร็ว เพื่อลดการขยายตัวของปัญหายาเสพติดในภาพรวมทั่วประเทศ มิให้ปัญหายาเสพติดส่งผลกระทบต่อความมั่นคง ความปลอดภัยในวิถีชีวิตของประชาชนโดยปกติ
ทั้งนี้ปัญหายาเสพติดเมื่อเกิดขึ้นในสถานประกอบกิจการ ส่งผลกระทบต่อการดำเนินกิจการมากมายหลายอย่าง เช่น ผลผลิตลดลง เนื่องจากประสิทธิภาพในการทำงานของลูกจ้างลดลง เพิ่มภาระค่าใช้จ่ายในการชดเชยความเสียหาย เมื่อเกิดอุบัติเหตุจากการทำงานอันเนื่องมาจากลูกจ้างเสพยาเสพติดในการรักษาพยาบาล การโจรกรรมทรัพย์ อีกทั้งเกิดความขัดแย้งในกลุ่มลูกจ้าง เกิดความไม่ปลอดภัยในการทำงาน บั่นทอนสุขภาพร่างกายและจิตใจ สุดท้ายส่งผลให้ภาพลักษณ์ของสถานประกอบกิจการไม่ดีกระทบต่อธุรกิจ
ด้วยเหตุผลดังกล่าวกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานได้จัดให้มีโครงการสถานประกอบกิจการสีขาวป้องกันและแก้ไขปัญหายาเสพติด ให้อยู่ในเกณฑ์ในแต่ละอำเภอของทุกจังหวัด เป็นความเร่งด่วนที่จะต้องแก้ไขพร้อมทั้งสร้างความเข้มแข็งให้กับสถานประกอบกิจการในพื้นที่ต่างๆ เพื่อสนองนโยบายดังกล่าว
สำนักงานสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานจังหวัดภูเก็ต จึงกำหนดจัดโครงการสถานประกอบกิจการสีขาวป้องกันและแก้ไขปัญหายาเสพติด ประจำปีงบประมาณ 2555 ขึ้น เพื่อส่งเสริมและสนับสนุนให้สถานประกอบกิจการเข้ามามีส่วนร่วมในการป้องกันและแก้ไขปัญหายาเสพติดในสถานประกอบกิจการตามยุทธศาสตร์พลังแผ่นดินเอาชนะยาเสพติด อีกทั้งเพื่อสร้างสังคมแบบอย่างในการป้องกันและแก้ไขปัญหายาเสพติดให้กลุ่มผู้ใช้แรงงาน ให้มีความตระหนักถึงโทษภัยของยาเสพติด การสร้างความร่วมมือร่วมใจในการป้องกันและแก้ไข
ตลอดจนเพื่อติดตามเฝ้าระวังสถานประกอบกิจการกลุ่มเสี่ยงที่เคยเข้าร่วมโครงการสถานประกอบกิจการสีขาวให้มีความเข้มแข็งต่อเนื่องแบบยั่งยืนและเพื่อรณรงค์ส่งเสริมให้นายนายจ้างของสถานประกอบกิจการปรับเจตคติที่ดีต่อลูกจ้างในรายที่ตรวจพบว่าเป็นผู้เสพ/ผู้ติดยาเสพติดหรือสารเสพติด และส่งเข้ารับการบำบัดรักษาฟื้นฟูให้สามารถทำงานได้ตามปกติเพื่อคุณภาพชีวิตที่ดีทั้งร่างกายและจิตใจของลูกจ้าง มีเป้าหมายการดำเนินใน 40 แห่งของสถานประกอบกิจการใหม่ และสถานประกอบกิจการแห่งเก่าที่เข้าร่วมโครงการอีก 10 แห่ง
โดยขั้นตอนการดำเนินงานเริ่มจากการประชาสัมพันธ์เชิญชวนนายจ้าง/ลูกจ้างเข้าร่วมโครงการฯ, จัดประชุมชี้แจง, ส่งเสริม สนับสนุน ตรวจติดตามเพื่อเฝ้าระวังให้รักษามาตรฐานตามหลักเกณฑ์, ค้นหาผู้เสพ ผู้ติดยาเสพติดในสถานประกอบการเพื่อส่งเข้ารับการบำบัดรักษา, การจัดกิจกรรมป้องกันปัญหายาเสพติดในสถานประกอบการ, การตรวจประเมินสถานประกอบกิจการ และการประกาศเกียรติคุณให้แก่สถานประกอบกิจการที่ผ่านเกณฑ์มาตรฐานของโครงการฯ
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น