จำหน่ายอุปกรณ์แต่งรถ

วันพฤหัสบดีที่ 10 พฤษภาคม พ.ศ. 2555

ปัญหากัดเซาะชายฝั่งอันดามัน 6 จังหวัด



เมื่อวันที่ 10 พฤษภาคม 2555 ที่ห้องประชุมสวนหลวง โรงแรมคาทีน่าภูเก็ต นายจำเริญ ทิพญพงศ์ธาดา รองผู้ว่าราชการจังหวัดภูเก็ตเป็นประธานเปิดการประชุมโครงการจัดทำแผนหลักและแผนปฏิบัติการแก้ไขปัญหาการกัดเซาะชายฝั่งบริเวณชายฝั่งอันดามัน ซึ่งทางกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งได้มอบหมายให้มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ เป็นที่ปรึกษาและดำเนินการจัดทำโครงการฯ
โดยมีตัวแทนจากกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง (ทช.) ตัวแทนมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ นายกเทศมนตรี นายกองค์การบริหารส่วนตำบล ตัวแทนสถาบันการศึกษา ตัวแทนจากหน่วยงานภาครัฐ ผู้นำองค์กรและชุมชนต่างๆ ในพื้นที่ 6 จังหวัด ได้แก่ ภูเก็ต พังงา กระบี่ ระนอง ตรังและสตูลเข้าร่วม 


รศ.นพรัตน์ บำรุงรักษ์ ตัวแทนมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ กล่าวว่า ตามรายงานการวิจัยการเปลี่ยนแปลงชายฝั่งภาคใต้ ทั้งโดยมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ และสถาบันการศึกษาอื่นๆ ชี้ตรงกันว่า พื้นที่ภาคใต้ฝั่งอ่าวไทย ตั้งแต่จังหวัดชุมพร สุราษฎร์ธานี นครศรีธรรมราช สงขลา ปัตตานีและนราธิวาส ประสบปัญหาการกัดเซาะชายฝั่งรุนแรง สร้างความเดือดร้อนต่อชุมชนภาคใต้อย่างประเมินค่าไม่ได้ทั้งชีวิต ทรัพย์สิน และวิถีการดำรงชีวิต นอกจากนั้นยังพบว่าการกัดเซาะชายฝั่งทะเลมีแนวโน้มจะทวีความรุนแรงมากขึ้น โดยพื้นที่ชายฝั่งอันดามัน จำนวน 6 จังหวัด ได้แก่ ภูเก็ต พังงา กระบี่ ตรัง ระนองและสตูล ได้เกิดการกัดเซาะที่มีแนวโน้มจะทวีความรุนแรงมากขึ้นเช่นกัน 


ในการนี้กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง ได้เล็งเห็นความสำคัญในการแก้ไขปัญหาการกัดเซาะชายฝั่งบริเวณทะเลอันดามัน โดยได้มีแนวคิดในการส่งเสริมให้ทุกภาคส่วนได้มีส่วนร่วมในการแก้ไขปัญหาอย่างบูรณาการ จึงได้มอบหมายให้มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์เป็นที่ปรึกษาโครงการจัดทำแผนหลักและแผนปฏิบัติการแก้ไขปัญหาการกัดเซาะชายฝั่งบริเวณชายฝั่งอันดามันดังกล่าว ซึ่งขณะนี้ทางที่ปรึกษาได้ดำเนินการสำรวจพื้นที่ที่ประสบปัญหาการกัดเซาะชายฝั่งในพื้นที่ดังกล่าวเสร็จเรียบร้อยแล้ว เพื่อให้การจัดทำแผนหลัก และแผนปฏิบัติการเกิดความสัมฤทธิ์ผลเป็นรูปธรรมและเกิดคุณประโยชน์สูงสุดต่อท้องถิ่น จึงได้มีการจัดสัมมนาดังกล่าวขึ้น เพื่อแลกเปลี่ยนความคิดเห็นเกี่ยวกับสภาพปัญหา สาเหตุและความต้องการของชุมชนในการแก้ไขปัญหาการกัดเซาะชายฝั่งในแต่ละพื้นที่ เพื่อเป็นแนวทางในการจัดทำแผนหลักและแผนปฏิบัติการแก้ไขปัญหาการกัดเซาะชายฝั่งทะเลอันดามันที่เหมาะสมกับสภาพพื้นที่และวิถีชีวิตของชุมชน รศ.นพรัตน์กล่าว 


ขณะที่ ผศ.พยอม รัตนมณี ผู้เชี่ยวชาญด้าววิศวกรรมชายฝั่งทะเล หัวหน้าโครงการฯ กล่าวว่า จากการเริ่มต้นศึกษามาตั้งแต่ช่วงปลายปี 2554 พบว่าพื้นที่ใน 6 งหวัดอันดามันที่ประสบปัญหาการกัดเซาะชายฝั่งมีจำนวนประมาณ 40 จุด เช่น จ.ภูเก็ต บริเวณหาดราไวย์ หาดรัษฎา จ.ระนอง บริเวณอ่าวเคย หาดประพาส เป็นต้น ซึ่งมีแนวโน้มความรุนแรงเพิ่มมากขึ้น แต่เมื่อเทียบกับฝั่งอ่าวไทยพบว่าความรุนแรงน้อยกว่า โดยสาเหตุของปัญหามาจากคลื่นลมแรง และระดับน้ำทะเลที่เพิ่มสูงขึ้น สำหรับแนวทางการแก้ปัญหาจะใช้หลักด้านวิศวกรรมและภูมิปัญหาท้องถิ่นมาช่วย เช่น การปลูกป่าชายเลน การปักไม้ไผ่ เป็นต้น ซึ่งแต่ละพื้นที่จะใช้วิธีการที่แตกต่างกัน ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างการรวบรวมความคิดเห็นของผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้อง 


ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น