เมื่อวันที่ 4 พฤษภาคม 2555 ที่หอประชุม มหาวิทยาลัยราชภัฏภูเก็ต นางสาวสมหมาย ปรีชาศิลป์ รองผู้ว่าราชการจังหวัดภูเก็ต เป็นประธานเปิดงานมหกรรมแลกเปลี่ยนเรียนรู้ “ร่วมมือ ร่วมใจ พัฒนาเด็กไทย เติบใหญ่มีคุณภาพ” โครงการพัฒนาระบบและกลไกเพื่อเด็กไทยมีโภชนาการสมวัย-ภาคใต้ โดยมีนายสาธิต กลิ่นภักดี ท้องถิ่นจังหวัดภูเก็ต
รศ.แพทย์หญิงลัดดา เหมาะสุวรรณ แพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านโภชนาการเด็ก ภาควิชา กุมารเวชศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ หัวหน้าส่วนราชการ หน่วยงานภาครัฐ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นต่างๆ และองค์กรเกี่ยวข้องเข้าร่วม
ทั้งนี้ยังได้มีการมอบประกาศเกียรติคุณแก่องค์กรที่ผ่านการประเมินรับรองเป็นองค์กรโภชนาการสมวัยจำนวน 11 แห่ง มีการเสวนา การสาธิตโปรแกรมสำเร็จรูป การประกวดนวัตกรรมโภชนาการผ่านการเล่าเรื่อง การทำ Big Book และหนังสือเล่มเล็ก รวมทั้งนิทรรศการเพื่อแลกเปลี่ยนเรียนรู้ประสบการณ์ในการดำเนินงานด้านอาหารและโภชนาการ
รศ.แพทย์หญิงลัดดา กล่าวว่า จากการศึกษาข้อมูลที่สนับสนุนโดยองค์การยูนิเซฟพบว่า ภาวะทุพโภชนาการ การขาดสารไอโอดีน โลหิตจางจากการขาดธาตุเหล็ก และการขาดการเลี้ยงดูและให้การศึกษาที่กระตุ้นพัฒนาการอย่างเหมาะสม เป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้เด็กในประเทศกำลังพัฒนามีพัฒนาการด้านสติปัญญาล่าช้า ด้วยตระหนักถึงความสำคัญของโภชนาการต่อสุขภาพ พัฒนาการด้านสติปัญญา ศักยภาพในการเรียนรู้ และคุณภาพประชาชนในอนาคต นับแต่ พ.ศ.2552 เป็นต้นมา
โครงการพัฒนาระบบและกลไก เพื่อเด็กไทยมีโภชนาการสมวัยภาคใต้ ได้ร่วมกับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น 18 แห่ง ศูนย์พัฒนาเด็กเล็ก 18 แห่ง และโรงเรียน 21 แห่ง ในจังหวัดภูเก็ต พัฒนาระบบและกลไกให้ท้องถิ่นและชุมชน มีศักยภาพและสมรรถนะในการส่งเสริมให้เด็กทารกในชุมชน เด็กปฐมวัยในศูนย์พัฒนาเด็กเล็ก และเด็กวัยเรียนในโรงเรียนได้รับประทานอาหารที่มีคุณค่าทางโภชนาการครบถ้วน ทุกวัน พร้อมทั้งหล่อหลอมให้เด็กเหล่านี้ มีพฤติกรรมการกินอาหารที่เหมาะสม
“จากปี พ.ศ.2552 - 2555 โครงการฯ ได้เสริมสร้างพลังและจุดประกายให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ดำเนินงานโภชนาการในชุมชนให้พึ่งพาตนเองได้อย่างยั่งยืน สร้างระบบและกลไกเพื่อพัฒนาการจัดการอาหารและโภชนาการในศูนย์พัฒนาเด็กเล็กและโรงเรียน มีชุดเรียนรู้กลางและสื่อโภชนาการ สร้างมาตรฐานอาหาร ขนมและเครื่องดื่ม มีโปรแกรมสำเร็จรูปสำหรับการจัดการอาหารและเฝ้าระวังภาวะโภชนาการ รวมทั้งพัฒนาศักยภาพบุคลากรที่เกี่ยวข้องทุกภาคส่วนให้พร้อมดำเนินการด้านอาหารให้เด็กมีโภชนาการสมวัยอย่างยั่งยืน โดยพบในในระหว่างปี พ.ศ.2554-2555
เด็กปฐมวัยในศูนย์พัฒนาเด็กเล็กส่วนใหญ่มีภาวะโภชนาการดีขึ้น มีเด็กขาดสารอาหาร เตี้ย ร้อยละ 0-4.7 ผอมร้อยละ 0-10 มีภาวะโภชนาการเกินเริ่มอ้วนและอ้วนร้อยละ 0.6-6.1 มีบางศูนย์ฯ ที่เด็กเกือบทั้งหมดมีภาวะโภชนาการสมวัย จากการนิเทศและประเมินผลพบศูนย์พัฒนาเด็กเล็กได้มาตรฐานโภชนาการสมวัยระดับดี 1 แห่งสามารถเป็นตัวอย่างเพื่อขยายผลไปยังศูนย์อื่นได้”
รศ.แพทย์หญิงลัดดา กล่าวว่า เพื่อสานต่อกิจกรรมดังกล่าว ทางคณะกรรมการฯ จึงได้จัดงานดังกล่าวขึ้น เพื่อเปิดโอกาสให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น โรงเรียน และศูนย์พัฒนาเด็กเล็ก ได้แลกเปลี่ยนเรียนรู้การสร้างระบบและกลไกเพื่อพัฒนาเด็กในชุมชน ศูนย์พัฒนาเด็กเล็ก และโรงเรียนให้มีโภชนาการสมวัยเพิ่มมากขึ้น
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น