เมื่อวันที่ 14 พฤษภาคม 2555 ที่ห้องประชุมแคแสด มหาวิทยาลัยราชภัฎภูเก็ต นายสมเกียรติ สังข์ขาวสุทธิรักษ์ รองผู้ว่าราชการจังหวัดภูเก็ต เป็นประธานเปิดโครงการสัมมนาติดตามความก้าวหน้ากระบวนการฟื้นฟูวิถีชีวิตและเตรียมพร้อมรับมือภัยพิบัติ โดยชุมชนเป็นหลัก ซึ่งมูลนิธิชุมชนไท ร่วมกับสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) แอร์เอเชีย และ unwomen จัดขึ้น
โดยมีตัวแทนแกนนำเครือข่ายต่างๆ ทั่วประเทศเข้าร่วม อาทิ เครือข่ายสิทธิคนจนพัฒนาภูเก็ต เครือข่ายทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมปทุมธานี เครือข่ายชุมชนจังหวัดอุบล เครือข่ายรักษ์อ่าวไทยตอนบนและบางขุนเทียน เครือข่ายตำบลกะเบื้องใหญ่ จ.นครราชสีมา เครือข่ายตำบลท่าหิน จ.สงขลา เป็นต้น
นายไมตรี จงไกรจักร์ เครือข่ายชุมชนจังหวัดพังงา กล่าวว่า จากเหตุการณ์ภัยพิบัติที่เกิดขึ้นทั่วประเทศ และมีแนวโน้มว่าจะเกิดมากขึ้นเรื่อยๆ ทั้งน้ำท่วม แผ่นดินไหว การเตือนภัยสินามิ และเหตุอื่นๆ ซึ่งนักวิชาการและองค์กรที่เกี่ยวข้อง มีความเห็นร่วมกันว่าการจัดการภัยพิบัติโดยชุมชนเป็นแกนหลัก เป็นแนวทางแก้ปัญหาที่สำคัญ โดยเฉพาะการใช้ภัยพิบัติเป็นเงื่อนไขสร้างกระบวนการพัฒนาที่เน้นการมีส่วนร่วมของผู้หญิง กลุ่มเปราะบาง ครอบครัว ชุมชน เครือข่ายและอื่นๆ เชื่อมโยงให้ภาคีความร่วมมือภายนอกหนุนช่วยอย่างเป็นระบบ สนับสนุนให้เกิดแผนเตรียมพร้อมรับภัยพิบัติ เมื่อเกิดเหตุจะทำให้การฟื้นฟูทุกด้านเกิดขึ้นอย่างรวดเร็ว และสามารถต่อเนื่องไปสู่การจัดการทรัพยากรธรรมชาติร่วมกันอย่างยั่งยืนได้
โดยในส่วนของการดำเนินการตามกระบวนการดังกล่าว มาอย่างต่อเนื่องในระยะ 1 ปีที่ผ่านมา ซึ่งมีหลากหลายรูปแบบตามบริบทของแต่ละพื้นที่ โดยมีประสบการณ์การจัดการภัยพิบัติของเครือข่ายผู้ประสบภัยสึนามิเป็นศูนย์เรียนรู้ที่สำคัญ จึงได้มีการจัดสัมมนาดังกล่าวขึ้น เพื่อติดตามความก้าวน้าและแลกเปลี่ยนประสบการณ์การจัดการภัยพิบัติแต่ละเครือข่าย ร่วมกันถอดบทเรียนและองค์ความรู้ที่เกิดขึ้นในกระบวนการดำเนินการ ร่วมกันพัฒนาระบบสื่อสารเมื่อเกิดภัยพิบัติให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น ตลอดจนเพื่อร่วมกันกำหนดแนวทางการดำเนินงานและวางแผนงานในระยะต่อไป นายไมตรี กล่าว
ขณะที่นายสมเกียรติ กล่าวว่า ปัจจุบันภัยธรรมชาติเกิดขึ้นในทุกพื้นที่ ซึ่งการจัดเวทีแลกเปลี่ยนเรียนรู้ดังกล่าวถือว่าเป็นช่วงเวลาที่เหมาะสม โดยเฉพาะในส่วนของจังหวัดภูเก็ตซึ่งเดิมจะเน้นเรื่องภัยสึนามิเป็นหลัก แต่ปัจจุบันจะต้องมีการวางแผนรับมือแผ่นดินไหวด้วย แม้จะเกิดขึ้นมานานแล้วแต่เป็นเรื่องใหม่สำหรับภูเก็ต ประกอบกับภัยจากแผ่นดินไหวไม่สามารถที่จะแจ้งล่วงหน้าได้
ซึ่งในการดำเนินการนั้นนอกจากจะมีการเตรียมพร้อมและมีกลไกของหน่วยงานภาครัฐเข้ามาดูแลแล้ว ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการจัดทำแผนรับมือ บุคลากรและเครื่องไม้เครื่องมือต่างๆ แล้ว กลไกในภาคประชาชนในแต่ละพื้นที่ก็มีส่วนสำคัญอย่างมากในการเป็นเครือข่ายแจ้งข้อมูลข่าวสารให้กับหน่วยงานภาครัฐ และการร่วมกันกำหนดแนวทางปฏิบัติในการดูแลช่วยเหลือตัวเอง ครอบครัวชุมชนและทรัพย์สินในเบื้องต้น เนื่องจากแต่ละพื้นที่จะมีปัญหาหรือปัจจัยที่เกี่ยวข้องแตกต่างกัน โดยมีหน่วยงานภาครัฐเป็นผู้สนับสนุนช่วยเหลือ รวมไปถึงการจัดทำคู่มือในการปฏิบัติตัวเมื่อเกิดภัยพิบัติขึ้น
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น