เมื่อวันที่ 21 สิงหาคม 2555 ที่บริเวณร้านคุณแม่จู้ บ้านเมืองใหม่ ต.เทพกระษัตรี อ.ถลาง จ.ภูเก็ต นายสมเกียรติ สังข์ขาวสุทธิรักษ์ รองผู้ว่าราชการจังหวัดภูเก็ต เป็นประธานเปิดศูนย์จำหน่ายสับปะรดพันธุ์ภูเก็ตแห่งแรกของจังหวัดภูเก็ต พร้อมเยี่ยมชมสวนสับปะรด โดยมีนายเรวัต อารีรอบ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร จังหวัดภูเก็ต นายนฤนาท สุภัทรประทีป นายอำเภอถลาง หัวหน้าส่วนราชการ ข้าราชการเกี่ยวข้อง กลุ่มเกษตรผู้ปลูกสับปะรดในจังหวัดภูเก็ต ตัวแทนองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และภาคกิจกรรมท่องเที่ยว เข้าร่วมในพิธี
ทั้งนี้นายวินัย ขวัญแก้ว เกษตรจังหวัดภูเก็ต กล่าวว่า สับปะรดภูเก็ต เป็นพืชเศรษฐกิจที่สำคัญของจังหวัดภูเก็ต มีลักษณะเฉพาะตัวที่แตกต่างจากสับปะรดในแหล่งอื่น คือ รสหวาน กรอบ กลิ่นหอม เนื้อมีสีเหลืองตลอดทั้งผล เยื่อใยน้อย แกนผลกรอบรับประทานได้ จากคุณลักษณะที่เป็นเอกลักษณ์เฉพาะตัว และเป็นผลผลิตที่เกิดขึ้นในพื้นที่ จึงได้ขึ้นทะเบียนเป็นสิ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ เมื่อวันที่ 27 พ.ย.2552 ทำให้ได้รับการคุ้มครองและเกิดประโยชน์ต่อเกษตรกร และผู้ประกอบการสับปะรดภูเก็ต แต่จะต้องอยู่ภายใต้เงื่อนไขและข้อกำหนดของสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์
โดยในปี 2554 – 2555 จังหวัดภูเก็ตมีพื้นที่ปลูกสับปะรดภูเก็ต 1,800 ไร่ มีเกษตรกร 40 ราย พื้นที่ปลูกส่วนใหญ่อยู่ในเขตอำเภอถลาง ผลผลิตเฉลี่ย 3,500 – 4,000 ผลต่อไร่ ปริมาณผลผลิตรวม 8,100 – 9,000 ตัน มีการคัดขนาดผลผลิตสับปะรดโดยใช้ภูมิปัญญาท้องถิ่น แบ่งเป็น 5 ขนาด ได้แก่ ขนาดจัมโบ้ ขนาดกลาง ขนาดเล็ก ขนาดโหม่ง และขนาดจิ๋ว ราคาเฉลี่ย 12 บาทต่อผล คิดเป็นมูลค่าประมาณ 80 ล้านบาท
และในปีงบประมาณ 2555 จังหวัดภูเก็ตได้สนับสนุนงบประมาณตามแผนพัฒนาจังหวัดให้สำนักงานเกษตรจังหวัด ดำเนินโครงการส่งเสริมพัฒนาศักยภาพพืชเศรษฐกิจสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์สับปะรดภูเก็ต เพื่อพัฒนาและสร้างความเข้มแข็งของกลุ่มเกษตรกรผู้ผลิตสับปะรดภูเก็ต พัฒนาศักยภาพการผลิตและการตลาดสับปะรดภูเก็ต ให้เป็นไปตามเงื่อนไขและข้อกำหนดในระบบการควบคุมคุณภาพความปลอดภัยพืชอาหาร และสอดคล้องกับ พ.ร.บ.คุ้มครองสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ พ.ศ.2546 และเพื่อประชาสัมพันธ์พืชเศรษฐกิจประจำถิ่น ให้มีศักยภาพในการแข่งขัน รวมทั้งเป็นการสนับสนุนการท่องเที่ยวของจังหวัดภูเก็ต โดยมีกิจกรรมที่สำคัญ ได้แก่ การพัฒนากลุ่มเกษตรกรผู้ผลิตการประชาสัมพันธ์ และการพัฒนาตลาดสับปะรดภูเก็ต
ด้านนายสมเกียรติ สังข์ขาวสุทธิรักษ์ รองผู้ว่าราชการจังหวัดภูเก็ต กล่าวว่า สับปะรดภูเก็ต ถือได้ว่าเป็นมรดกทางธรรมชาติและผสมผสานภูมิปัญญาที่สืบทอดกันมา และเป็นที่น่ายินดีอย่างยิ่งที่สับปะรดภูเก็ตได้ขึ้นทะเบียนสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ ทำให้ได้รับการคุ้มครองทางทรัพย์สินและภูมิปัญญาของเกษตรกรในจังหวัดภูเก็ต ซึ่งเป็นข้อได้เปรียบทางการแข่งขันทางการค้าโดยเฉพาะอย่างยิ่งในปี 2558 จะเข้าสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนอย่างเต็มตัว การสร้างศูนย์จำหน่ายสับปะรดภูเก็ต ทำให้เกิดประโยชน์ต่อเกษตรกรผู้ปลูกสับปะรดภูเก็ต ผู้บริโภค นักท่องเที่ยว ผู้ประกอบการธุรกิจท่องเที่ยวและบริการ เป็นอย่างมาก
นายสมเกียรติ กล่าวอีกว่า การพัฒนาสับปะรดภูเก็ต จะต้องมียุทธศาสตร์ในหลายๆ ด้าน โดยอาศัยความร่วมมือจากทุกภาคส่วน ไม่ว่าจะเป็นด้านกระบวนการผลิต ความเข้มแข็งของกลุ่มเกษตรกรก็เป็นสิ่งสำคัญ ขณะที่ในเรื่องของตลาดต้องมองถึงการประชาสัมพันธ์ การสร้างเครือข่าย ช่องทางการจำหน่าย การสร้างมูลค่าเพิ่ม รวมทั้งการส่งออกต่างประเทศด้วย ปัจจุบันยังไม่มีแหล่งหรือจุดจำหน่ายสับปะรด โดยเฉพาะของกลุ่มเกษตรกรในจังหวัดภูเก็ต เลยแยกแยะไม่ได้ว่าผลผลิตใดเป็นสับปะรดที่ปลูกในภูเก็ต ผลผลิตใดเป็นสับปะรดจากแหล่งอื่น ดังนั้นควรจัดตั้งจุดจำหน่ายสับปะรดภูเก็ตเฉพาะ และประชาสัมพันธ์ให้ผู้บริโภคและทุกภาคส่วนทราบและสนับสนุนสับปะรดภูเก็ต เป็นผลไม้ประจำจังหวัด
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น