เมื่อวันที่ 5 กันยายน 2555 ที่ห้องประชุมโรงแรมเดอะรอยัล พาราไดส์ แอนด์สปา หาดป่าตอง ต.ป่าตอง อ.กะทู้ จ.ภูเก็ต นายภูมิ สาระผล รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์ เป็นประธานเปิดงาน“ภูเก็ตอันดามันฮาลาล เพื่อการท่องเที่ยว ปี 2555” ซึ่งเป็นการประชุมสัมมนา และนิทรรศการระดับนานาชาติ โดยมี ดร.สุรินทร์ พิศสุวรรณ เลขาธิการอาเซียน นายประสาน ศรีเจริญ ผู้แทนจุฬาราชมนตรี นายสมเกียรติ สังข์ขาวสุทธิรักษ์ รองผู้ว่าราชการจังหวัดภูเก็ต
นายสรธรรม จินดา รองนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดภูเก็ต ตลอดจนผู้แทนจากองค์กรรับรองฮาลาลในต่างประเทศทุกภูมิภาคทั่วโลก ทูตานุทูต และผู้แทนจากสถานทูตในประจำประเทศไทย เข้าร่วม
โดยการจัดงานในครั้งนี้ ทางสำนักจุฬาราชมนตรีร่วมกับองค์การบริหารส่วนจังหวัดภูเก็ต สำนักงานคณะกรรมการกลางอิสลามแห่งประเทศไทย กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา และกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้จัดขึ้นเพื่อส่งเสริมและเผยแพร่ประชาสัมพันธ์ผลิตภัณฑ์ฮาลาล และการบริการอาหารฮาลาล สำหรับนักท่องเที่ยวของจังหวัดภูเก็ตและกลุ่มอันดามัน นอกเหนือจากนี้งานภูเก็ตอันดามันฮาลาลเพื่อการท่องเที่ยว ยังเป็นส่วนหนึ่งในการขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ครัวไทยสู่ครัวโลก และส่งเสริมอุตสาหกรรมอาหารฮาลาล ซึ่งเป็นนโยบายที่สำคัญของรัฐบาล
ทั้งนี้นายภูมิ สาระผล รมช.กระทรวงพาณิชย์ ได้กล่าวว่า อุตสาหกรรมอาหารและธุรกิจท่องเที่ยวและบริการ เป็นอุตสาหกรรมที่นับว่ามีบทบาทสำคัญยิ่งต่อการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของไทย เนื่องจากเป็นอุตสาหกรรมที่มีการใช้วัตถุดิบ และแรงงานในประเทศเป็นจำนวนมาก โดยประเทศไทยถือเป็นหนึ่งในประเทศที่มีศักยภาพในการผลิตอาหารแบบครบวงจร ทั้งการผลิตในภาคเกษตรกรรมและปศุสัตว์ การแปรรูปและบรรจุภัณฑ์ ตลอดจนธุรกิจบริการร้านอาหาร
รัฐบาลได้เล็งเห็นความสำคัญของอุตสาหกรรมดังกล่าว จึงได้กำหนดนโยบายในการปรับโครงสร้างเศรษฐกิจภาคเกษตร โดยส่งเสริมให้ประเทศไทยเป็นครัวของโลกทั้งในแง่สินค้าเกษตร อาหาร และสนับสนุนการลงทุนภาคเกษตรในต่างประเทศ และเป็นที่มาของโครงการครัวไทยสู่ครัวโลก มีเป้าหมายที่จะผลักดันให้สินค้าเกษตร สินค้าอาหาร และภัตตาคารอาหารไทยเป็นที่รู้จัก และยอมรับเพิ่มขึ้นในตลาดโลก นอกจากนี้ยังต้องส่งเสริมให้สถานประกอบการด้านอาหารของไทยได้รับมาตรฐานด้านคุณภาพ และความปลอดภัยตามมาตรฐาน และประเทศไทยได้รับการยอมรับในฐานะเป็นประเทศผู้ผลิตสินค้าเกษตรและอาหารที่มีคุณภาพสูง
ในการดำเนินการเพื่อให้บรรลุเป้าหมายดังกล่าว รัฐบาลจึงได้กำหนดยุทธศาสตร์ 4 ด้านที่มุ่งเน้นการผลิตอาหารไทยให้อยู่บนพื้นฐานความเป็นไทย ใช้วัตถุดิบและสินค้าเกษตรของไทยที่มีความปลอดภัย และปลอดสารเคมีที่เป็นอันตรายต่อสุขภาพ เพื่อสร้างให้เกิดความนิยมและความเชื่อมั่นต่ออาหารไทยให้มากที่สุด
นายภูมิ กล่าวอีกว่า สำหรับประเทศไทยเป็นประเทศผู้ผลิตและผู้ส่งออกอาหาร อันดับที่ 15 ของโลก และอันดับที่ 1 ของเอเชีย โดยเฉพาะอย่างยิ่งแหล่งวัตถุดิบอาหารฮาลาล ไม่ว่าจะเป็นข้าว กุ้ง ไก่ หรืออาหารทะเล นับเป็นจุดแข็งที่ทำให้ตลาดอาหารฮาลาลเป็นตลาดใหม่ที่มีศักยภาพที่ไม่ควรมองข้าม และประเทศไทยเองสามารถก้าวสู่การเป็นผู้นำการส่งออก สินค้าอาหารฮาลาลในตลาดโลกได้ในอนาคต โดยผู้ส่งออกสินค้าอาหารฮาลาลรายใหญ่ของโลกในขณะนี้ ได้แก่ ออสเตรเลีย บราซิล อาร์เจนติน่า แคนาดา อินเดีย นิวซีแลนด์ อังกฤษ และสหรัฐอเมริกา โดยออสเตรเลียส่งสินค้าฮาลาลไปขายกว่า 70 ประเทศทั่วโลก ในขณะที่บราซิลครองตลาดตะวันออกกลาง ตุรกี และยุโรป
สำหรับตลาดส่งออกอาหารฮาลาลของไทย มีการเติบโตอย่างต่อเนื่องในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา ส่งผลให้ประเทศไทยสามารถก้าวขึ้นไปมีส่วนแบ่งการตลาดเป็นอันดับที่ 6 ของตลาดโลก โดยการส่งออกสินค้าอาหารฮาลาลของไทยไปยังกลุ่มประเทศมุสลิม 57 ประเทศ ในปี 2554 มีมูลค่า 6,829.91 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้นร้อยละ 43.35 เมื่อเทียบกับปี 2553 ทั้งนี้เมื่อเปรียบเทียบกับการส่งออกอาหารของไทยไปทั่วโลก มูลค่า 28,037.92 คิดเป็นร้อยละ 14.19 โดยใน 7 เดือนแรกของปี 2555 ไทยส่งสินค้าอาหารไปยังกลุ่มประเทศมุสลิมเป็นมูลค่า 3,893.20 ล้านเหรียญสหรัฐ ลดลงร้อยละ 12.14 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปี 2554 และคิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 24.04 ของการส่งออกอาหารไปทั่วโลก มูลค่า 16,193 ล้านเหรียญสหรัฐ
อย่างไรก็ตามเพื่อให้ประเทศไทยพร้อมก้าวไปสู่การเป็นผู้นำในการส่งออกสินค้าอาหารฮาลาล ภาครัฐจำเป็นต้นอาศัยความร่วมมือในการขับเคลื่อนยุทธศาสตร์จากทุกภาคส่วน ไม่เพียงแต่ภาครัฐ กระทรวง ทบวง กรม สถาบันการศึกษาต่างๆ ภาคเอกชนเองก็มีส่วนสำคัญในการช่วยให้ประเทศไทยก้าวสู่ประเทศผู้ผลิตและผู้ส่งออกอาหารฮาลาลของโลกได้
ด้านดร.สุรินทร์ พิศสุวรรณ เลขาธิการอาเซียน ได้กล่าวว่า ต้องขอบคุณทุกภาคส่วนที่มีส่วนร่วมในการสนับสนุนให้การสัมนาวิชาการ “ภูเก็ตอันดามันฮาลาลเพื่อการท่องเที่ยว ปี 2555” ตลอด 4 ปีที่ผ่านมาได้ทำการประชาสัมพันธ์ให้ความรู้เกี่ยวกับฮาลาลควบคู่ไปกับการท่องเที่ยวมาอย่างต่อเนื่อง ซึ่งฮาลาลทั่วโลกนั้นสามารถตอบสนองอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวได้อย่างดี ซึ่งตนมีโอกาสได้เดินทางไปยังลอนดอน พบว่า โรงแรมขนาด 5 ดาว ในห้องนอนจะมีผ้าปูเพื่อให้แขกที่เป็นชาวมุสลิมได้ทำการละหมาด ตลอดจนมีร้านอาหารที่เป็นฮาลาล แม้กระทั่งโรงแรมในกรุงพนมเปญก็ยังมีป้ายประชาสัมพันธ์ให้แก่ลูกค้าที่เข้ามาพักทราบว่า ทางโรงแรมนั้นมีร้านอาหารฮาลาล และห้องละหมาดให้แก่พี่น้องชาวมุสลิม จะเห็นได้ว่าโรงแรมใหญ่ๆ ทั่วโลกนั้นได้ให้ความสำคัญกับฮาลาลเป็นอย่างมาก ซึ่งเป็นการเพิ่มนักท่องเที่ยวชาวมุสลิมอีกทางหนึ่ง
ดร.สุรินทร์ กล่าวอีกว่า เมื่อประมาณ 20 กว่าปีที่ผ่านมา ชาวมุสลิมเมื่อเดินเข้ามาในโรงแรมยังมีความรู้สึกอึดอัดอยู่มาก แต่ในปัจจุบันนี้เห็นได้ว่า ความเป็นฮาลาลได้มีการพัฒนาเพื่อที่จะตอบสนองลูกค้าที่เป็นกลุ่มมุสลิมมากขึ้น ทำให้ชาวมุสลิมที่เข้ามาใช้บริการในโรงแรมรู้สึกสะดวกสบายขึ้น ดังนั้นเราควรที่จะมาร่วมมือ และหาแนวทางว่า สินค้า นักท่องเที่ยว และการลงทุนนั้น จะเดินหน้าควบคู่กันไปได้อย่างไรกับอาเซียนที่กำลังจะเปิดตัวในเร็ววันกับคนทั่วโลกที่เป็นมุสลิม ซึ่งสิ่งเหล่านี้ไม่ใช่เรื่องเฉพาะจังหวัดภูเก็ต หรือประเทศใดประเทศหนึ่งจะเป็นผู้เริ่ม วันนี้เป็นจุดเริ่มต้นที่ถูกต้องแล้วที่ได้มีนักวิชาการเกือบ 20 ประเทศทั่วโลก เข้ามาร่วมสัมมนาเอาจริงเอาจังกับเรื่องฮาลาล ซึ่งฮาลาลนั้นถือว่าเป็นของประชาชาติมุสลิม การใช้เทคโนโลยีต่างๆ เข้ามาในการประชาสัมพันธ์ให้ความรู้เกี่ยวกับฮาลาลนี่ก็สำคัญ และยิ่งกว่านั้น เราจะต้องเป็นส่วนหนึ่งของภาคธุรกิจฮาลาลให้ได้ เราต้องเปิดตัวเข้าสู่ตลาดที่กว้างกว่าเดิม และจะต้องทำให้ประจักษ์เป็น Green Halal Food ซึ่งจะก่อให้เกิดความยั่นยืนต่อไป
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น