จำหน่ายอุปกรณ์แต่งรถ

วันจันทร์ที่ 11 พฤศจิกายน พ.ศ. 2556

ใช้งบ 9 ล. ศึกษาจราจรบริเวณห้าแยกฉลอง



เมื่อวันที่ 11 พฤศจิกายน 2556 ที่ห้องประชุมอาคารศูนย์ประชุมกลุ่มจังหวัดอันดามัน ศาลากลางจังหวัดภูเก็ต นายไมตรี อินทุสุต ผู้ว่าราชการจังหวัดภูเก็ต เป็นประธานเปิดการสัมมนาปฐมนิเทศ (ครั้งที่ 1) โครงการสำรวจและออกแบบทางแยกต่างระดับจุดตัดหมายเลข 4021 กับ 4024 กับ 4028 กับถนนเทศบาล (ห้าแยกฉลอง) ซึ่งกรมทางหลวงได้ว่าจ้างกลุ่มบริษัทที่ปรึกษาดำเนินการรับฟังความคิดเห็นครั้งที่ 1 


เพื่อชี้แจงรายละเอียดโครงการและแผนการดำเนินงานต่าง ๆ ของโครงการฯ รวมทั้งเพื่อนำข้อมูลและข้อเสนอแนะจากทุกฝ่ายไปปรับใช้ในการดำเนินโครงการต่อไป โดยมีนายเกษม ศรีวรานันท์ วิศวกรใหญ่ด้านสำรวจและออกแบบ กรมทางหลวง นายสมัคร เลือดวงหัด ผู้อำนวยการแขวงการทางภูเก็ต นายประเจียด อักษร ธรรมกุล หัวหน้าสำนักงานจังหวัดภูเก็ต นายอรุณ โสฬส นายกเทศมนตรีตำบลราไวย์ นายสำราญ จินดาพล นายกเทศมนตรีตำบลฉลอง ตลอดจนหัวหน้าส่วนราชการที่เกี่ยวข้อง องค์กรภาคเอกชน ผู้นำชุมชนและประชาชนที่มีส่วนได้ส่วนเสียเข้าร่วม 


นายไพศาล สุวรรณรักษ์ ผู้จัดการโครงการในนามของกรมทางหลวง กระทรวงคมนาคม กล่าวว่า สืบเนื่องจากจังหวัดภูเก็ต ซึ่งเป็นศูนย์กลางการท่องเที่ยวที่สำคัญของภาคใต้ มีนักท่องเที่ยวเดินทางเข้ามาท่องเที่ยวเป็นจำนวนมากในแต่ละปี รวมทั้งมีการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจอย่างรวดเร็ว ส่งผลให้ปริมาณการจราจรในพื้นที่จังหวัดภูเก็ต มีจำนวนเพิ่มมากขึ้น โดยเฉพาะบริเวณห้าแยกฉลอง ซึ่งมีรูปแบบการจราจรเป็นวงเวียนขนาดเล็ก มีการจราจรที่ติดขัดเป็นอย่างมาก เนื่องจากบริเวณดังกล่าวเป็นแยกซึ่งเป็นเส้นทางผ่านไปยังแหล่งท่องเที่ยวที่สำคัญของจังหวัดภูเก็ต 


ทั้งนี้กรมทางหลวง กระทรวงคมนาคม เล็งเห็นความสำคัญในการแก้ปัญหาดังกล่าว จึงได้ว่าจ้างกลุ่มบริษัทที่ปรึกษา ประกอบด้วย บริษัท เอพซิลอน จำกัด บริษัท นูแมพ จำกัด และบริษัท เอเชีย แล็ป แอนด์ คอนซัลแตนท์ จำกัด ให้เป็นผู้ดำเนินการศึกษาสำรวจและออกแบบรายละเอียดโครงการดังกล่าว โดยมีระยะเวลาดำเนินการศึกษาโครงการ 12 เดือน และมีแผนการปฏิบัติงาน แบ่งเป็นคัดเลือกรูปแบบโครงการ จำนวน 120 วัน 


และออกแบบรายละเอียดของโครงการ จำนวน 240 วัน (เริ่มต้นสัญญาวันที่ 16 สิงหาคม 2556 สิ้นสุด วันที่ 12 สิงหาคม 2557) โดยใช้งบประมาณจากกรมทางหลวงจำนวน 9 ล้านบาท เพื่อแก้ไขปัญหาการจราจรติดขัด และสามารถรองรับปริมาณจราจรที่เพิ่มมากขึ้นในอนาคต บริเวณแยกดังกล่าว และเพื่อให้ผู้ใช้ทางมีความสะดวก รวดเร็ว ปลอดภัยในการเดินทาง ซึ่งสอดคล้องกับนโยบายส่งเสริมการท่องเที่ยวและเศรษฐกิจของจังหวัดภูเก็ต 


สำหรับรูปแบบทางเลือกของโครงการเบื้องต้น มีการนำเสนอ 3 รูปแบบ ประกอบ แนวทางแรก เป็นทางลอดจากถนนเจ้าฟ้าตะวันตก (ฝั่งวัดฉลอง) ไปยังหาดราไวย์ ด้านบนทางลอดจะจัดการจราจรโดยวงเวียน แนวทางที่สอง เป็นทางลอดเหมือนกับทางเลือกแรก แต่การจัดการจราจรบนทางลอดใช้แบบสัญญาณไฟจราจร และทางเลือกแนวทางที่สาม เป็นทางลอดเหมือนทางเลือกที่ 1 และ 2 แต่จะมีสะพานเชื่อมระหว่างฝั่งเมืองภูเก็ต ไปยังถนนปฎัก (เส้นทางไปหาดกะตะ กะรน) และจัดการจราจรบนทางลอดแบบไฟจราจร 


ขณะที่นายไมตรี อินทุสุต ผู้ว่าราชการจังหวัดภูเก็ต กล่าวว่า การแก้ปัญหาการจราจรของภูเก็ตนั้น ขณะนี้มีโครงการต่างๆ ด้านการคมนาคมของภูเก็ตที่อยู่ระหว่างการศึกษาอีกหลายๆ โครงการ ทั้งนี้ เพื่อรองรับการจราจรในอนาคต รวมทั้งเพื่อแก้ไขปัญหาการจราจรในจังหวัดภูเก็ตต่อไป 


อย่างไรก็ตามจากการนำเสนอความคิดเห็นของผู้บริหารองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ผู้นำชุมชนและประชาชนที่มีส่วนได้ส่วนเสีย ต่างเห็นด้วยกับโครงการดังกล่าว แต่ฝากในเรื่องของการพูดคุยกับประชาชนในพื้นที่ที่จะได้รับผลกระทบจากดำเนินการโครงการดังกล่าวไม่ว่าจะเป็นเรื่องของการเวนคืน เรื่องของผลกระทบต่อวิถีชีวิต โดยเฉพาะประชาชนที่อยู่ในแนวเขตรัศมี 1 กิโลเมตรที่จะต้องมีการก่อสร้าง รวมทั้งฝากให้คำนึงถึงผลกระทบสิ่งแวดล้อม โดยเฉพาะเรื่องของน้ำ หากเลือกแนวทางในก่อสร้างเป็นอุโมงค์ทางลอด 


นอกจากนี้ยังอยากให้บริษัทที่ปรึกษาลงพื้นทีที่หาสาเหตุที่ชัดเจนที่ทำให้การจราจรติดขัด และจะต้องหาแนวทางการแก้ปัญหาในช่วงของการก่อสร้าง เพราะบริเวณห้าแยกดังกล่าวเป็นเส้นทางที่มีการสัญจรไปยังแหล่งท่องเที่ยวต่างๆ ตลอดจนได้มีการเสนอแนวทางเลือกเพิ่มเติม คือ ในฝั่งพื้นที่ขาออกจากราไวย์เพื่อเข้าเมืองภูเก็ตให้ทำเป็นอุโมงค์ทางลอด โดยก่อนจะเข้าอุโมงค์ให้มีเพียง 1 ช่องจราจร แต่เมื่อลงไปในอุโมงค์ให้แยกเป็น 2 ช่องจราจร โดยด้านหนึ่งให้ออกไปยังถนนเจ้าฟ้าตะวันตก (วัดฉลอง) อีกด้านหนึ่งออกเจ้าฟ้าตะวันตก (หน้าสถานีตำรวจภูธรฉลอง)


ทั้งนี้ในส่วนของตัวแทนจากบริษัทที่ปรึกษายืนยันว่าหลังจากนี้จะมีการลงพื้นที่จัดประชุมกลุ่มย่อยกับประชาชนในพื้นที่ และจะได้รวบรวมข้อมูลทั้งหมดที่ได้รับไปประกอบกับข้อมูลที่มีการศึกษาไว้แล้วเบื้องต้น เพื่อปรับให้เกิดความเหมาะสมและให้เกิดประโยชน์สูงสุด 

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น