จำหน่ายอุปกรณ์แต่งรถ

วันพฤหัสบดีที่ 27 มีนาคม พ.ศ. 2557

ป.ป.ท.ลงพื้นที่ภูเก็ตรับเรื่องร้องเรียนร้านดำน้ำ




เมื่อวันที่ 27 มีนาคม 2557 ที่ทำการสมาคมกีฬาดำน้ำ ทีดีเอ แห่งประเทศไทย อ.ถลาง จ.ภูเก็ต นายประยงค์ ปรียาจิตต์ รองเลขาธิการคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตในภาครัฐ (ป.ป.ท.) พร้อมคณะทำงาน ได้เข้าพบนายพงษ์สวรรค์ สถาธรรม เลขาธิการสมาคมฯ และนางภาวดี เดอ คริสเซย์ คณะกรรมการสมาคมฯ เพื่อรับฟังปัญหาของผู้ประกอบการธุรกิจดำน้ำและครูสอนดำน้ำชาวต่างชาติ กรณีที่มีการร้องเรียนผ่านทางสมาคมฯ ว่าถูกเจ้าหน้าที่ตำรวจหน่วยงานหนึ่ง จับกุมในข้อหาทำงานผิดประเภทและเสนอให้จ่ายเงินรายเดือน รายละ 3,000 – 20,000บาท ต่อเดือน เพื่อแลกกับการไม่ถูกดำเนินคดี พร้อมกันนี้ทางตัวแทนสมาคมฯ ยังได้มีการร้องเรียนให้ทาง ป.ป.ท.ตรวจสอบการกระทำของเจ้าหน้าที่ตำรวจดังกล่าวด้วย 


นายพงษ์สวรรค์ กล่าวว่า เนื่องจากมีผู้ประกอบการร้านดำน้ำในจังหวัดภูเก็ตที่ดำเนินการประกอบธุรกิจถูกต้องตามกฎหมายประมาณ 150 ร้าน ได้รับความเดือดร้อนกับพฤติกรรมของเจ้าหน้าที่ของรัฐหน่วยงานหนึ่งเรียกเก็บเงินจากผู้ประกอบการร้านดำน้ำ ซึ่งการกระทำดังกล่าวทำให้ผู้ประกอบการฯ ได้รับความเดือนร้อนเป็นอย่างมาก ทั้งที่มีใบอนุญาตทำงานถูกต้องตามกฎหมาย โดยทางเจ้าหน้าที่รัฐดังกล่าว ได้ไปจับกุมครูสอนดำน้ำชาวต่างชาติว่า ใช้ใบอนุญาตทำงานไม่ตรงกับลักษณะงาน ผิดสถานที่ทำงาน เช่น ใบอนุญาตทำงานระบุลักษณะของงานว่า แนะนำเทคนิคการดำน้ำและการใช้อุปกรณ์ดำน้ำอย่างถูกวิธีให้กับลูกค้าที่มาใช้บริการ แต่ทางหน่วยงานรัฐดังกล่าวอ้างว่า 


ไม่สามารถให้บริการพูดคุยกับลูกค้าและไม่สามารถยกหรือเคลื่อนย้ายอุปกรณ์ดำน้ำได้ ต้องไปเสียค่าปรับ นอกจากนี้ยังได้มีการเรียกเก็บเงินจากร้านดำน้ำบริษัทละ 10,000 – 15,000 บาทต่อเดือน และครูสอนดำน้ำ อีกคนละ 3,000 บาทต่อคนต่อเดือน สร้างความเสียหายให้กับการท่องเที่ยวในจังหวัดภูเก็ตเป็นอย่างมาก เพราะบางครั้งมีการจับกุมต่อหน้านักท่องเที่ยวที่มาใช้บริการ จึงอยากฝากให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องโดยเฉพาะจังหวัด และสำนักงานจัดหางานที่ออกใบอนุญาตทำงาน ได้ชี้แจงรายละเอียดการทำงานให้ชัดเจน โดยให้ระบุถึงหน้าที่ที่สามารถกระทำได้ไว้ในใบอนุญาต เพื่อเป็นการแก้ปัญหาดังกล่าว และหน่วยงานภาครัฐจะได้ไม่มีข้ออ้างในการเรียกเก็บเงินจากผู้ประกอบการอีก 


ด้านนายประยงค์ ปรียาจิตต์ รองเลขาธิการ ป.ป.ท. กล่าวว่า ทาง ป.ป.ท.ได้รับการร้องเรียนจากสมาคมฯ กรณีมีเจ้าหน้าที่ของรัฐเข้าไปเรียกเก็บเงินหรือรังแกผู้ประกอบการร้านดำน้ำในจังหวัดภูเก็ต ซึ่งเป็นที่ทราบกันดีว่า ธุรกิจท่องเที่ยวเป็นเส้นเลือดใหญ่ของจังหวัดภูเก็ตและธุรกิจดำน้ำก็เป็นธุรกิจหนึ่งที่เกี่ยวเนื่องกัน และมีการขออนุญาตประกอบการอย่างถูกต้อง จากข้อร้องเรียนที่ว่ามีเจ้าหน้าที่ของรัฐเข้าไปข่มขู่และเรียกรับเงินจากผู้ประกอบการร้านดำน้ำ ซึ่งการกระทำดังกล่าวนอกจากจะเป็นความผิดทางอาญา แล้วยังเป็นการทำลายชื่อเสียงประเทศไทย ทำลายบรรยากาศการท่องเที่ยวและทำลายชื่อเสียงของจังหวัดภูเก็ตด้วย 

“หลังรับเรื่องแล้ว ทาง ป.ป.ท. จะได้ลงพื้นที่ตรวจสอบข้อเท็จจริง คาดว่าจะใช้เวลา 2 สัปดาห์ หากสอบสวนในเบื้องต้นพบว่า มีเจ้าหน้าที่ของรัฐมีพฤติกรรมตามที่ได้มีการร้องเรียนจริง เจ้าหน้าที่รายดังกล่าวจะต้องหยุดปฏิบัติงาน เพราะเป็นความผิด ต่อจากนั้นจะนำเสนอเพื่อทำการไต่สวนต่อคณะกรรมการ ป.ป.ท. หากผิดจริงก็จะมีการดำเนินคดีกฎหมายอาญาตามต่อไป นอกจากนี้ขอความร่วมมือจากผู้ประกอบการหรือผู้ที่พบเห็นเจ้าหน้าที่หรือหน่วยงานของรัฐกระทำความผิด โดยเฉพาะการเรียกเก็บเงิน ให้ช่วยถ่ายภาพ บันทึกเสียงหรือคลิปวิดีโอ เพื่อใช้เป็นหลักฐานมัดตัวผู้ที่กระทำผิดได้อย่างชัดเจน อีกทั้งยังเป็นการป้องปรามไม่ให้เจ้าหน้าที่ของรัฐใช้อำนาจในทางที่ผิด” 


อย่างไรก็ตามนายประยงค์ ยังได้กล่าวยืนยันถึงความปลอดภัยของผู้ร้องเรียนด้วยว่า ทาง ป.ป.ท. จะเก็บเป็นความลับ ไม่มีการเปิดเผยข้อมูลของผู้ร้องเรียนอย่างแน่นอน ส่วนการร้องเรียนการทุจริตในภาครัฐนอกจากการเรียกรับเงิน ยังมีเรื่องอื่นๆ อีก เช่น การบุกรุกอุทยานฯ ที่ดินของรัฐอื่นๆ เป็นต้น ซึ่ง ป.ป.ท.ได้ดำเนินการทุกเรื่องที่มีการร้องเรียน และหากเทียบกับจังหวัดอื่นๆ ถือว่าการร้องเรียนน้อย ด้วยบริบทของจังหวัดภูเก็ตที่เป็นเกาะและมีพื้นที่น้อย ทำให้เจ้าหน้าที่ของรัฐน้อยตามไปด้วย แต่ด้วยที่เป็นเมืองท่องเที่ยวทำให้ข่าวบางครั้งที่นำเสนอออกไป เป็นข่าวดังไปทั่วโลก จึงต้องช่วยกันรักษาชื่อเสียงความเป็นเมืองท่องเที่ยวระดับโลกไว้ 

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น