จำหน่ายอุปกรณ์แต่งรถ

วันอังคารที่ 25 มีนาคม พ.ศ. 2557

ภูเก็ตเฝ้าระวังหลุมฝังกลบขยะป้องกันเกิดไฟไหม้



เมื่อวันที่ 24 มีนาคม 2557 ที่ห้องประชุมสำนักงานกลุ่มงานสิ่งแวดล้อม เทศบาลนครภูเก็ต นายไมตรี อินทุสุต ผู้ว่าราชการจังหวัดภูเก็ต พร้อมด้วยนางสาวสมใจ สุวรรณศุภพนา นายกเทศมนตรีนครภูเก็ต นายถาวร จิรพัฒนะโสภณ รองนายกเทศมนตรีนครภูเก็ต นางสาวพรศรี สุทธนารักษ์ ผู้อำนวยการสำนักงานสิ่งแวดล้อมภาคที่ 15 (ภูเก็ต) นายสันต์ จันทรวงศ์ ป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจังหวัดภูเก็ต และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง 


ได้ร่วมกันประชุม ถึงปัญหาของเตาเผาขยะ ที่เกิดการชำรุดและสามารถใช้งานได้เพียงเตาเดียว พร้อมทั้งลงพื้นที่ตรวจสอบบริเวณบ่อฝังกลบขยะซึ่งมีทั้ง 5 บ่อ ที่อยู่ในการดูแลของเทศบาลนครภูเก็ต ภายหลังจากที่ได้เกิดเหตุเพลิงไหม้บ่อฝังกลบขยะในหลายจังหวัดทั่วประเทศ 


ทั้งนี้นายไมตรี อินทุสุต ผู้ว่าราชการจังหวัดภูเก็ต ได้กล่าวว่า เนื่องจากขณะนี้ในหลายๆ จังหวัดทั่วประเทศได้เกิดปัญหาไฟไหม้บ่อฝังกลบขยะ ก่อให้เกิดผลกระทบต่อชุมชนที่ตั้งอยู่บริเวณที่ฝังกลบขยะค่อนข้างรุนแรง โดยในส่วนของภูเก็ต มีศูนย์กำจัดขยะซึ่งรวบรวมขยะจากทั่วทั้งจังหวัดมาทำการกำจัดที่นี่ โดยอยู่ในความดูแลของเทศบาลนครภูเก็ต ประกอบด้วย โรงเตาเผาขยะและบ่อฝังกลบขยะ จากการที่ได้ลงพื้นที่ตรวจสอบบริเวณบ่อฝังกลบขยะซึ่งมีทั้ง จำนวน 5 บ่อ โดยขณะนี้มีขยะเต็มแล้ว 5 บ่อ คือ บ่อที่ 1 กับบ่อที่ 4 และจากการตรวจสอบบริเวณพื้นที่บ่อที่ 5 ซึ่งมีพื้นที่ 32 ไร่เศษ 


ขณะนี้มีปริมาณขยะค่อนข้างล้นมากมาเป็นเวลา 5 เดือน และในส่วนของพื้นที่ด้านล่างจะเป็นขยะที่ทำการฝังกลบเรียบร้อยแล้ว ส่วนที่ล้นออกมานั้นจะมีการนำไปกำจัดที่โรงเตาเผาขยะ ซึ่งมีอยู่ด้วยกัน 3 เตา แต่เตาที่ 1 ชำรุด อยู่ระหว่างรองบประมาณในการซ่อมแซม ส่วนเตาที่ 2 บริหารงานโดยเอกชนอยู่ระหว่างการปรับปรุงและจะแล้วเสร็จภายในสิ้นเดือนมีนาคมนี้ และจะทยอยนำขยะมาทำการกำจัดพร้อมขยะกับที่เข้ามาใหม่เข้าระบบเตาเผา 


“ระบบกำจัดขยะของภูเก็ตเป็นระบบรวมศูนย์ติดอันดับต้นๆ ของประเทศ ซึ่งจะมีการนำขยะจากพื้นที่ต่างๆ มารวมไว้ที่นี่ โดยแยกไปประมาณ 10% เป็นขยะรีไซเคิลระดับชุมชน ดังนั้นการบริหารจัดการขยะเป็นเรื่องใหญ่ 15 ปีย้อนหลัง ขยะเพิ่มขึ้นปีละประมาณ 7.3% แต่ในปีที่ผ่านมามีขยะเพิ่มขึ้นถึง 9.8 % ทางจังหวัดจึงมีความเป็นห่วงและกังวลอย่างยิ่ง โดยทางเทศบาลฯ ของบประมาณผ่านทางจังหวัดจำนวน 530 ล้านบาท เพื่อนำมาใช้ปรับปรุงในส่วนของเตาเผาที่ 1 ดังนั้นหากเตาเผาสามารถเปิดใช้งานได้ทั้ง 3 เตาจะสามารถกำจัดขยะได้วันละ 950 ตัน” 


นายไมตรี กล่าวว่า แม้ว่าในพื้นที่จังหวัดภูเก็ตจะยังไม่พบว่ามีปัญหาเรื่องของไฟไหม้เกิดขึ้นในบ่อฝังกลบขยะ แต่ก็จำเป็นที่จะต้องมีการเฝ้าระวังอย่างต่อเนื่อง เพราะปัจจุบันอากาศในพื้นที่จังหวัดภูเก็ตร้อนมาก และถือว่าเป็นพื้นที่เสี่ยงที่อาจจะเกิดไฟไหม้ขึ้นมาได้ โดยทางเทศบาลฯ ได้จัดเจ้าหน้าที่คอยเฝ้าระวังตลอด 24 ชั่วโมง และยังมีการเตรียมรถแบ็คโฮหากเปิดปัญหาขึ้นก็จะนำมาใช้เพื่อตัดช่วงของจุดที่เกิดไฟไหม้ได้อย่างทันท่วงที


ขณะที่น.ส.สมใจ สุวรรณศุภพนา นายกเทศมนตรีนครภูเก็ต กล่าวว่า ขณะนี้การกำจัดขยะแบบฝังกลบมีบ่อฝังกลบจำนวน 5 บ่อ ประกอบด้วย บ่อที่ 1 เนื้อที่ 11.74 ไร่ มีการฝังกลบและปิดบ่อแล้วโดยมีขยะ 33,094 ตัน บ่อที่ 2 พื้นที่ 15.62 ไร่ มีการฝังกลบเต็มโดยมีขยะอยู่ประมาณ 43,209 ตัน ปัจจุบัน รอรื้อเข้าเตาเผาขยะ บ่อที่ 3 พื้นที่ 17 .19 ไร่ ปัจจุบันมีขยะฝังกลบเต็มจำนวน 45,572 ตัน ปัจจุบันปรับเป็นอุทยานการเรียนรู้ด้านพลังงานและสิ่งแวดล้อม บ่อที่ 4 พื้นที่ 39.66 ไร่ มีขยะฝังกลบเต็มปิดบ่อ 130,134 ตัน ปัจจุบันรอรื้อขยะเข้าเตาเผา และบ่อที่ 5 พื้นที่ 36.29 ไร่ ฟังกลบเต็ม จำนวน 117,313 ตัน ปัจจุบันรอรื้อขยะเข้าเตาเผา 


ส่วนของโรงเตาเผาขยะมี 2 ส่วน คือ ส่วนของกรมโยธาธิการและผังเมืองได้ก่อสร้างโรงเผาขยะมูลฝอยชุมชน ขนาด 250 ตันต่อวัน สามารถผลิตไฟฟ้าได้สูงสุด 2.5 เมกะวัตต์ เมื่อปี 2538 และได้ถ่ายโอนให้แก่เทศบาลนครภูเก็ตมาตั้งแต่ปี 2542 และได้ทำการเผาขยะของจังหวัดภูเก็ต ปัจจุบันเตาเผาดังกล่าวไม่สามารถใช้งานได้เนื่องจากสภาพชำรุด และกำลังอยู่ระหว่างการขอสนับสนุนงบประมาณในปี 2558 จำนวน 530 ล้านบาท ในการซ่อมแซมเพื่อให้กลับมาใช้งานได้ 


ส่วนที่ 2 เป็นโรงงานเตาเผาขยะของเอกชน ซึ่งก่อสร้างเสร็จเมื่อวันที่ 20 มีนาคม 2555 เป็นเตาเผาขยะชุมชนขนาด 359 ตัน 2 ชุด สามารถเผาขยะได้ 700 ตันต่อวัน ผลิตไฟฟ้าได้มากกว่า 10 เมกะวัตต์ แต่ปัจจุบันเตาเผาขยะดังกล่าวสามารถเดินเครื่องได้เพียง 1 ตัว เนื่องจากอีกตัวกำลังอยู่ระหว่างการซ่อมบำรุง ทำให้ปัจจุบันสามารถกำจัดขยะได้วันละ 350 กว่าตันเท่านั้น ทำให้มีขยะเหลืออีกประมาณ 300 กว่าตัน ต้องนำไปฝังกลบ แต่คาดว่าประมาณปลายเดือนมีนาคมนี้การซ่อมบำรุงในส่วนของเตาเผาขยะของเอกชนจะแล้วเสร็จ และสามารถลดปริมาณขยะที่จะเข้าสู่ระบบฝังกลบได้มากขึ้น 


ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น