เมื่อวันที่ 7 พฤษภาคม 2557 ที่ห้องแววราไวย์ โรงแรมเมโทรโพล อ.เมือง จ.ภูเก็ต นายจำเริญ ทิพญพงศ์ธาดา รองผู้ว่าราชการจังหวัดภูเก็ต เป็นประธานการประชุมซักซ้อมแนวทางในการจัดทำและทบทวนแผนปฏิบัติการในการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ประจำปีงบประมาณ 2557 ซึ่งทางสำนักงานป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจังหวัดภูเก็ตจัดขึ้น
เพื่อให้ผู้เข้าร่วมโครงการมีความรู้ ความเข้าใจเกี่ยวกับแผนปฏิบัติการในการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น แลกเปลี่ยน ประสบการณ์ในการจัดทำแผนปฏิบัติการฯ รวมถึงอุปสรรค และปัญหาในการจัดทำแผนปฏิบัติการฯ โดยมีพนักงาน ข้าราชการและเจ้าหน้าที่ที่รับผิดชอบงานด้านการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยของท้องถิ่นต่างๆ ใน จ.ภูเก็ต และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เข้าร่วม
นายสันติ์ จันทรวงศ์ ป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจังหวัดภูเก็ต กล่าวถึงการจัดประชุมดังกล่าว ว่า มาตรา 20 แห่งพระราชบัญญัติป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย พ.ศ.2550 ซึ่งมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 6 พฤศจิกายน 2550 กำหนดให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นแห่งพื้นที่มีหน้าที่ป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยในพื้นที่ของตน โดยมีผู้บริหารท้องถิ่นขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นนั้นๆ เป็นผู้รับผิดชอบในฐานะผู้อำนวยการท้องถิ่น
จึงกล่าวได้ว่าแผนปฏิบัติการในการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น เป็นเครื่องมือสำคัญในการขับเคลื่อนการบำบัดทุกข์ บำรุงสุขของประชาชนที่ต้องเผชิญภัยพิบัติให้สามารถฟื้นคืนวิถีชีวิตกลับสู่สภาวะปกติได้อย่างรวดเร็ว และจะนำมาซึ่งเสถียรภาพและความมั่นคงให้กับจังหวัดภูเก็ต
สำหรับในปีนี้ แนวทางสำคัญในการจัดทำแผนปฏิบัติการ คือ ให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นจัดประชุมคณะทำงานจัดทำแผน ยกร่างแผนปฏิบัติการฯ และเมื่อผู้อำนวยการท้องถิ่นได้ลงนามในแผนปฏิบัติการฯ ให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นผนวกแผนปฏิบัติการฯ ดังกล่าว ในแผนงานโครงการด้านการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยของแผนพัฒนาองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นสามปีด้วย เพื่อเป็นการเตรียมความพร้อม และพัฒนาขีดความสามารถในการเผชิญเหตุและให้ความช่วยเหลือผู้ประสบภัยภายหลังจากสถานการณ์ภัยยุติ นายสันติ์กล่าว
ขณะที่นายจำเริญ ทิพญพงศ์ธาดา รองผู้ว่าราชการจังหวัดกล่าวกับผู้เข้าร่วมประชุมฯ ว่า การจัดทำแผนนับเป็นเรื่องที่สำคัญ เพราะจะเป็นเครื่องมือนากรบอกทิศทาง วิธีการ และขั้นตอนในการปฏิบัติเมื่อเกิดภัยขึ้น และถือเป็นหัวใจของงานด้านการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย เนื่องจากปัจจุบันสาธารณภัยมีแนวโน้มเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องและซับซ้อนมากขึ้น
การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศโลก ความเสื่อมโทรมของทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม รวมทั้งการเปลี่ยนแปลงทางสังคมจากสังคมชนบทไปสู่สังคมเมืองอย่างรวดเร็ว มีผลให้ต้องเผชิญกับความเสี่ยงภัย และมีแนวโน้มที่จะได้รับอันตรายจากสาธารณภัยที่รุยแรงมากขึ้นเรื่อยๆ ทั้งภัยธรรมชาติ เช่น อุทกภัย วาตภัย ดินโคลนถล่ม เป็นต้น และภัยจากการกระทำของมนุษย์ เช่น อัคคีภัย การรั่วไหลของสารเคมีวัตถุเคมี เป็นต้น
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น