นายสมพงศ์ แป้นทอง เกษตรและสหกรณ์จังหวัดภูเก็ต ได้กล่าวถึงการจัดกิจกรรมประชาสัมพันธ์สร้างความเข้าใจแก่เกษตรกร เพื่อเตรียมพร้อมเกษตรไทย เริ่มต้นใหม่ฤดูกาลผลิตของจังหวัด ในโอกาสวันพระราชพิธีมงคลจรดพระนังคัลแรกนาขวัญ ว่า ในฤดูกาลผลิตสินค้าเกษตร ประจำปี 2557 ทางกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ได้แบ่งกลุ่มสินค้าเกษตรที่สำคัญออกเป็น 3 กลุ่ม
เพื่อส่งเสริมการผลิตและเฝ้าระวังในการผลิต เพื่อสื่อสารไปยังเกษตรกร ประกอบด้วย สินค้าเกษตรที่มีอนาคตสดใสและเห็นควรส่งเสริมการผลิต ได้แก่ ไก่เนื้อ สินค้าเกษตรที่เฝ้าระวัง ได้แก่ กุ้ง ปาล์มน้ำมันและข้าว และสินค้าเกษตรที่น่าเป็นห่วง คือ ยางพารา ซึ่งในกลุ่มสินค้าเกษตรดังกล่าวเบื้องต้น ทางจังหวัดภูเก็ตมีสินค้าที่อยู่ในกลุ่มเฝ้าระวังและที่น่าเป็นห่วงรวมอยู่ด้วย ได้แก่ กุ้ง ปาล์มน้ำมัน ข้าว และยางพารา
“จังหวัดภูเก็ตมีพื้นที่ปลูกข้าว อยู่ที่หมู่ 4 ต.ไม้ขาว อ.ถลาง จำนวน 61 ไร่ มีเกษตรกร 18 ราย ซึ่งปลูกในเขตพื้นที่เหมาะสมตามประกาศกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ โดยถือเป็นนาแปลงสุดท้ายของจังหวัดภูเก็ต โดยเป็นการปลูกเพื่อบริโภคภายในครัวเรือนและเป็นลักษณะการทำนาเชิงวัฒนธรรม เพื่อสนับสนุนการท่องเที่ยวเชิงเกษตรและสร้างรายได้เพิ่มให้แก่เกษตรกร ซึ่งปริมาณผลผลิตยังไม่เพียงพอต่อความต้องการบริโภคภายในชุมชน/จังหวัด โดยในปีที่ผ่านมามีผลิต 48 ตัน ซึ่งแนวโน้มก็ไม่น่าจะมีการปลูกเพิ่มมากกว่าจำนวนดังกล่าว แต่ทำอย่างไรที่จะให้มีมูลค่าเพิ่มมากขึ้น เพื่อสร้างสูงใจให้เกษตรกรหันมาปลูกข้าวมากขึ้น”
นายสมพงศ์ กล่าวเพิ่มเติมว่า ในด้านการบริหารจัดการผลผลิตข้าว เกษตรกรมีการรวมกลุ่มทำนา มีการจัดตั้งโรงสีชุมชน มีเกษตรกรผู้นำที่มีความชำนาญ สามารถถ่ายทอดความรู้ และเป็นแบบอย่างให้กับเกษตรกรรายอื่นๆ ได้ นอกจากนี้ยังมีแหล่งวิชาการในพื้นที่ ได้แก่ ศูนย์วิจัยและพัฒนาการเกษตรภูเก็ต สำนักงานเกษตรจังหวัด/อำเภอ วิธีการผลิตและนำวิธีการนาโยนมาใช้ เพราะวิธีนี้จะประหยัดเวลาและแรงงาน เป็นการลดต้นทุนการผลิต
ด้วยเหตุดังกล่าวทางจังหวัดภูเก็ต จึงมีแนวคิดที่จะนำข้าวพันธุ์ใหม่ คือ ข้าวพันธุ์ไรซ์เบอรี่ ซึ่งเป็นพันธุ์ข้าวที่ศูนย์วิทยาศาสตร์ข้าว มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ กำแพงแสน จ.นครปฐม ผสมพันธุ์ขึ้นระหว่างข้าวเจ้าหอมนิล กับ ข้าวขาวดอกมะลิ 105 ลักษณะเด่นของข้าวหอมนิล คือ มีธาตุเหล็กสูงกว่าข้าวพันธุ์อื่นๆ 30 เท่า มีโปรตีนสูงกว่าข้าวขาวดอกมะลิ 105 ถึง 2 เท่า
และมีลักษณะพิเศษอีกประการ คือ มีคุณภาพดี นุ่ม หอม อร่อยและมีคุณค่าทางโภชนาการสูง โดยจะมีการนำข้าวพันธุ์ไรซ์เบอรี่มาให้เกษตรกรปลูกในฤดูกาลผลิตนี้ ซึ่งจะเริ่มปักดำในเดือนสิงหาคมและเก็บเกี่ยวในเดือนธันวาคม หรือ ปลูกวันแม่เก็บเกี่ยววันพ่อ ซึ่งจากการให้ความรู้และหารือกับเกษตรกรบ้านไม้ขาว ปรากฏว่ามีผู้สนใจปลูกข้าวพันธุ์ดังกล่าวประมาณ 50%
ขณะที่นายชาลี สิตบุศย์ นักวิชาการเกษตรชำนาญการพิเศษ สำนักงานเกษตรจังหวัดภูเก็ต กล่าวว่า สำนักงานเกษตรฯ มีหน้าที่ในการส่งเสริมการกินดีอยู่ดีให้กับเกษตรกร เชื่อมโยงพื้นที่ เกษตรกรและตัวสินค้า ซึ่งที่ผ่านมาได้มีการบูรณาการความร่วมมือกับหน่วยงานราชการที่เกี่ยวข้องมาโดยตลอด ซึ่งในส่วนของภูเก็ตนั้นได้มีการปลูกข้ามานาน แต่ปัจจุบันเหลือพื้นที่ไม่มาก เพราะส่วนหนึ่งนำไปใช้ในด้านการท่องเที่ยวและบริการ
ปัจจุบันมีการปลูกข้าวเพียง 61 ไร่ แม้ว่าจะมีพื้นที่ว่างที่สามารถทำได้ แต่ต้องคำนึงถึงเรื่องของความคุ้มค่าด้วย ดังนั้นโอกาสที่จะมีการเพิ่มพื้นที่ปลูกข้าวจึงเป็นไปได้ยาก แต่จะทำอย่างไรให้เพิ่มผลผลิตต่อไร่ให้ได้มากขึ้น รวมทั้งการแปรรูเพื่อเพิ่มมูลค่า รวมทั้งส่งเสริมให้เกิดการท่องเที่ยวในเชิงเกษตร ซึ่งที่ผ่านมาได้มีการส่งเสริมมาอย่างต่อเนื่อง และได้รับการตอบรับระดับหนึ่ง ทั้งนี้จะต้องมีการเชื่อมโยงกับวิถีชีวิตอื่นๆ เช่น จับจักจั่นทะเล เป็นต้น
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น