เมื่อวันที่ 10 มิถุนายน 2557 ที่ห้องประชุมอาคารอเนกประสงค์มัสยิดบ้านบางโรง ต.ป่าคลอก อ.ถลาง จ.ภูเก็ต นายไมตรี อินทุสุต ผู้ว่าราชการจังหวัดภูเก็ต เป็นประธานเปิดโครงการพัฒนากลไกการตลาดและเสริมสร้างภาพลักษณ์ด้านการท่องเที่ยวอันดามัน ประจำปี 2557 กิจกรรม ประชุมสัมมนาการพัฒนาเครือข่ายการท่องเที่ยวโดยชุมชนจังหวัดภูเก็ต ซึ่งทางสำนักงานการท่องเที่ยวและกีฬาจังหวัดภูเก็ต จัดขึ้น
โดยมีนายประเจียด อักษรธรรมกุล หัวหน้าสำนักงานจังหวัดภูเก็ต นายสันติ ป่าหวาย ท่องเที่ยวและกีฬาจังหวัดภูเก็ต นายปัณยา สำเภารัตน์ นายกเทศมนตรีตำบลป่าคลอก หัวหน้าส่วนราชการ ผู้นำชุมชน และผู้นำกลุ่มท่องเที่ยวชุมชน 14 ชุมชน ในจังหวัดภูเก็ตเข้าร่วม
นายทรงสิทธิ์ บุญผล ประธานเครือข่ายการท่องเที่ยวชุมชนจังหวัดภูเก็ต กล่าวว่า ด้วยสำนักงานการท่องเที่ยวและกีฬาจังหวัดภูเก็ต ได้ร่วมกับเครือข่ายท่องเที่ยวชุมชนจังหวัดภูเก็ต ดำเนินโครงการพัฒนากลไพการตลาดและเสริมสร้างภาพลักษณ์ด้านการท่องเที่ยวอันดามันพัฒนามาตรฐานการบริการการท่องเที่ยว และประชาสัมพันธ์ภาพลักษณ์ด้านการท่องเที่ยวเชิงนิเวศน์ของชุมชน เชื่อมโยงเครือข่ายชุมชนเพื่อการท่องเที่ยว ส่งเสริมกิจกรรมและพัฒนาผลิตภัณฑ์ชุมชนให้เป็นที่ยอมรับมีมาตรฐาน สร้างอาชีพและรายได้ให้กับชุมชน
มีกลุ่มเป้าหมาย คือ ผู้นำกลุ่มท่องเที่ยวชุมชนในจังหวัดภูเก็ต จำนวน 14 ชุมชน จำนวน 80 คน อาทิ ท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ตำบลราไวย์ ท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ตำบลเชิงทะเล วิสาหกิจชุมชนบ้านสบายไทย ท่องเที่ยวเกษตรเชิงอนุรักษ์บ้านบางโรง ท่องเที่ยวชุมชนย่านเมืองเก่า ท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรมบ้านแขนน เป็นต้น
สำหรับกิจกรรมการประชุมสัมมนาการพัฒนาเครือข่ายการท่องเที่ยวโดยชุมชนจังหวัดภูเก็ตนั้น เพื่อเป็นการสร้างความเข้มแข็งของเครือข่ายท่องเที่ยวชุมชนจังหวัดภูเก็ต เพื่อแลกเปลี่ยนประสบการณ์และผลการดำเนินงานของแต่ละกลุ่ม
ตลอดจนการร่วมกันจัดทำเส้นทางการท่องเที่ยวชุมชนเชื่อมโยงภายในจังหวัดและกลุ่มจังหวัดภาคใต้อันดามัน เพื่อรองรับการจัดกิจกรรมการจัดการแข่งขันกีฬาและนันทนาการผู้สูงอายุแห่งชาติ การแข่งขันกีฬาเอเชี่ยนบีชเกมส์ และกิจกรรมเพื่อการกีฬาและการท่องเที่ยวของจังหวัดภูเก็ตอื่นๆ ต่อไป นายทรงสิทธิ์กล่าว
ด้านนายไมตรี อินทุสุต ผู้ว่าราชการจังหวัดภูเก็ต กล่าวว่า แนวทางในการสร้างความเข้มแข็งให้กับชุมชนนั้นประกอบด้วย 4 ส. ได้แก่ สอที่ 1 สานพลัง ประกอบด้วย มีแกนนำ มีการกำหนดเป้าหมาย มีกระบวนการเรียนรู้ มีกลุ่ม มีกองทุน มีกิจกรรม มีเกษตรนำ การปกครองท้องถิ่นหนุน และมีกัลยาณมิตร สอที่ 2 สร้างเครือข่าย ทั้งกับส่วนราชการที่เกี่ยวข้องและชุมชนอื่นๆ ประกอบด้วย 6 มิติหลัก ได้แก่ พัฒนาชุมชน ท่องเที่ยวและกีฬา วัฒนธรรม เกษตร ประมงและสิ่งแวดล้อม สอที่ 3 ขยายผล
ทั้งในส่วนของการขยายพื้นที่และขยายประเภทหรือรูปแบบ เป็นการสานต่อจากสอที่ 2 เพื่อสร้างความหลากหลาย และ สอสุดท้าย สังคมสมานฉันท์ โดยจะต้องไม่มีการแบ่งสีแบ่งฝ่าย เริ่มจากการปฎิรูปตัวเองจากการที่เป็นแค่ประชาชนให้เป็นพลเมือง เป็นผู้รู้ผู้ตื่นผู้ดี รู้สิทธิและหน้าที่ มีคุณธรรมจริยธรรม คำนึงประโยชน์ส่วนรวมส่วนร่วมมากกว่าส่วนตัว
อย่างไรก็ตามนายไมตรี กล่าวด้วยว่า การท่องเที่ยวโดยชุมชน เป็นกิจกรรมหนึ่งที่สร้างความสามัคคี ปรองดอง สมานฉันท์ให้คนในชุมชน ที่ผ่านมาพบว่าชุมชนที่ดำเนินการท่องเที่ยวโดยชุมชนได้รับประโยชน์จากการดำเนินการในหลายด้าน เช่น การฟื้นฟูวิถีชีวิต วัฒนธรรม การอนุรักษ์และฟื้นฟูทรัพยากรธรรมชาติ และสิ่งแวดล้อม การพัฒนาศักยภาพคนในชุมชน รวมถึงการสร้างรายได้เสริมเล็กๆ น้อยๆ ให้แก่คนในชุมชน กระบวนการหนึ่งที่จำเป็นสำหรับการท่องเที่ยวโดยชุมชน คือการตลาดสำหรับการท่องเที่ยวโดยชุมชน
เนื่องจากการตลาดเป็นกระบวนการหนึ่งที่ทำให้ชุมชนในฐานะของ “ผลิตภัณฑ์การท่องเที่ยว” เป็นที่รู้จักอย่างแพร่หลายมากขึ้นในตลาดท่องเที่ยว ทั้งนี้ชุมชนควรมีการจัดทำข้อมูลสำหรับการสนับสนุน ส่งเสริมการท่องเที่ยวในชุมชนนำเสนอต่อนักท่องเที่ยวไปพร้อมกันด้วย ดังเช่น ข้อมูลด้านที่พัก การบริการและการอำนวยความสะดวก การเดินทางและการเข้าถึงชุมชน ความปลอดภัย ราคา/อัตราค่าบริการที่มีการจำแนกรายละเอียดอย่างชัดเจน ซึ่งข้อมูลเหล่านี้จะเป็นปัจจัยสำคัญสำหรับการตัดสินใจเลือกผลิตภัณฑ์ท่องเที่ยวของนักท่องเที่ยวด้วยเช่นกัน
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น