ปะการังสีน้ำเงินที่เกาะราชาเสียหายหลังครูสอนดำน้ำพา นทท.ลงย่ำ
จากกรณีมีผู้ใช้เฟสบุ๊คชื่อ “ไพทูล แพนชัยภูมิ” ได้โพสต์ข้อความ พร้อมวีดิโอคลิปภาพการสอนดำน้ำของครูสอนดำน้ำ 1 คน และผู้เรียน 2 คน กำลังดำน้ำอยู่ในแนวปะการังและใกล้แท่งปะการังเทียม โดยระบุว่า “เรามาถึงจุดนี้แล้วประเทศไทย การประกอบกิจกรรมท่องเที่ยวดำน้ำลึก (SCUBA) ที่ในอดีตได้ชื่อว่า เป็นการท่องเที่ยวที่อนุรักษ์ธรรมชาติมากที่สุด
วันนี้ตรงกันข้ามอย่างสิ้นเชิง เมื่อผู้ประกอบการร้านดำน้ำ ครูสอนดำน้ำ ไดฟ์มาสเตอร์ ทั้งไทยและชาวต่างชาติ บางคนที่ขาดจิตสำนึกไร้ความรับผิดชอบ ขายทัวร์แบบนี้ try - dive นี้ คือ ความหายนะของแนวปะการังที่ไม่ต่างกับพวกดำน้ำตื้น ที่ไม่มีกฎ กติกา กฎหมายควบคุม ใครอยากเปิดร้าน อยากทำจดทะเบียนแล้วก็ทำได้ นี้คือ ภาพหลักฐานที่ชัดเจนเจอด้วยตัวเอง ใครที่ชอบต่อต้านในที่ประชุมไม่เห็นด้วยกับการออกกฎของกรม ทช. และว่าตัวเองไม่ทำลาย เห็นภาพนี้ท่านคิดยังไงครับ มาช่วยกันครับ ท่านที่เชียร์แขกขายทัวร์และพานักท่องเที่ยวทำแบบนี้เลิกซะ และมาช่วยกันครับ ให้เวลาท่านมานานแล้วท่านได้อะไรจากธรรมชาติมากพอแล้ว
อย่างไรก็ตามล่าสุดในวันนี้ (2 ม.ค.60) นายไพทูล ได้มีการเปิดเผยคลิปภาพและภาพนิ่งอีกชุด ซึ่งเป็นภาพของครูสอนดำน้ำและผู้เรียนกลุ่มเดิมขณะกำลังดำน้ำอยู่ที่อ่าวพลับพลา เกาะราชาใหญ่ อ.เมืองภูเก็ต ที่ และภาพการดำน้ำแบบทำให้เกิดผลกระทบกับปะการังในพื้นที่อื่นๆ โดยในส่วนของคลิปภาพที่นำมาเปิดเผยใหม่นั้น เป็นภาพในระยะใกล้ที่กลุ่มนักดำน้ำใช้เชือกมัดทุ่นเป็นที่ยึดเกาะและยืนบริเวณพื้นที่มีปะการัง ก่อนจะทราบว่ามีการถ่ายภาพจึงพยายามจะออกห่างปะการัง ทั้งที่ก่อนหน้านั้นได้อยู่ในระยะใกล้ และบางคนก็มีการเหยียบปะการัง ขณะที่ผู้ถ่ายภาพพยายามหยิบเศษปะการังทั้งใหญ่และเล็กขึ้นมาเพื่อชี้ให้เห็นว่าในแนวปะการังสีน้ำเงิน (ปะการังที่ทนต่อการฟอกขาว) มีปะการังที่แตกหักเสียหายเป็นจำนวนมากกองอยู่บนพื้น นอกจากนี้ยังมีภาพขณะที่กลุ่มดำน้ำให้อาหารปลาใต้ รวมถึงภาพเจ้าหน้าที่ใช้ความพยายามในการนำปะการังที่เสียหายมาติดกับปะการังเทียมเพื่อให้งอกขึ้นใหม่
นายไพทูล กล่าวว่า ปะการังที่เสียหายเป็นจำนวนมากนั้นส่วนใหญ่เกิดขึ้นจากการดำน้ำในระยะใกล้ของกลุ่มคนที่ไม่ใช่มืออาชีพ และไม่มีจิตสำนึก มีการเหยียบปะการังจนได้รับความเสียหาย และยังพบการกระทำผิดในรูปแบบอื่นอีก เช่น ให้อาหารปลาขณะลอยตัวก่อนถึงผิวน้ำ เหยียบปะการังน้ำตื้น เป็นต้น ซึ่งพฤติกรรมดังกล่าวถือว่าผิดกฎหมาย โดยปะการังที่เสียหายจากการถูกตีนกบ พบว่าเฉลี่ย 1 รอย หากเป็นปะการังสีน้ำเงิน จะแตกเสียหายนับร้อยชิ้น พบที่เกาะราชาหลายจุด โดยเฉพาะใกล้แนวทุ่นปะการังเทียม ที่ผ่านมากลุ่มอนุรักษ์จะต้องช่วยกันนำไปติดบนปะการังเทียม เพื่อให้งอกและเจริญเติบโตใหม่ไม่เช่นนั้นจะหล่นตายกับพื้นทราย โดยในการเพาะพันธุ์เศษซากปะการังที่เสียหายนั้น บางชนิดต้องใช้เวลาประมาณ 2 - 3 เดือนถึงจะงอกและเคลือบติดบนผิวปะการังเทียม บางชนิดต้องใช้เวลาถึง 6 เดือน จึงจะเจริญเติบโตเคลือบหุ้มบนแท่งปะการังเทียม โดยเฉลี่ยต้องใช้เวลา 3 - 5 ปีเป็นอย่างน้อย แต่การดำน้ำแบบไร้จิตสำนึกทำลายปะการังเกิดขึ้นทุกวัน ไม่รวมถึงปรากฏการณ์ฟอกขาวทำให้ปะการังสวยงามในทะเลมีแนวโน้มที่จะเสียหายแน่นอนในอนาคต
“นายไพทูลย์ ให้ข้อมูลด้วยว่า เท่าที่สังเกตพบว่า ผู้เป็นครูสอนจะใช้วิธีการดำน้ำแบบ Try Dive คือ การพานักท่องเที่ยวซึ่งไม่เคยดำน้ำมาก่อน ไม่มีการเรียนรู้ตามหลักสูตร มาสวมใส่ชุดและอุปกรณ์ดำน้ำ และพาลงชมแนวปะการัง โดยครูผู้สอนจะพยุงลอยตัวตามทั้งขึ้นและลง ซึ่งครูเหล่านี้อาจมีทั้งไดร์ฟ มาสเตอร์ที่มีบัตร หรือผู้ช่วยครูฝึก หรือคนที่มีประสบการณ์ดำน้ำเป็นประจำ แต่ไม่เคยจบหลักสูตรหรือไม่มีบัตรก็เป็นไปได้ ทำให้ไม่มีจิตสำนึกและวิธีการที่ถูกต้อง ทำตามใจตนเองและผู้เรียนจนทำให้ปะการังเกิดความเสียหาย ซึ่งการดำแบบนี้จะแตกต่างจากการดำน้ำแบบ Discover Dive ซึ่งจะต้องทำการเรียนตามหลักสูตร มีการอบรมความปลอดภัยและการรักษาสิ่งแวดล้อมใต้ทะเล มีการสอนทักษะการดำน้ำจนผ่านขั้นตอนตามหลักสูตร โดยในการดำนั้นผู้ควบคุมระดับครูฝึก 1 คน จะสามารถพาผู้เรียนได้ไม่เกิน 2 คน ลงดำน้ำชมปะการัง ซึ่งการดำน้ำแบบ Discover Dive จะต้องใช้ต้นทุนสูงและเวลามากขึ้น ทำให้มีการหันมาใช้วิธีแบบ Try Dive มากขึ้น
นายไพทูล ได้กล่าวฝากไปถึงหน่วยงานในพื้นที่ที่เกี่ยวข้องในการช่วยเข้มงวดกวดขัน จับกุมผู้กระทำผิดตามกำลังความสามารถ เพราะถือเป็นเรื่องยากในการเฝ้าตรวจตราใต้ทะเล แต่ก็มีความจำเป็น และที่สำคัญต้องช่วยกันผลักดันให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องออกมาตรการควบคุมและจัดการกับกลุ่มธุรกิจดำน้ำ ทั้งการดำน้ำตื้นและน้ำลึกที่แสวงหาประโยชน์โดยไม่คำนึงถึงสิ่งแวดล้อม เพื่อให้ช่วยกันป้องกันและอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมใต้ทะเลมากขึ้นก่อนที่ทรัพยากรที่สวยงามจะถูกทำลายจนหมดไป
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น