“คมนาคม” เทงบกว่า 70,000 ล. พัฒนาคมนาคมภูเก็ต
นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม กล่าวภายหลังเป็นประธานเปิดการสัมมนาการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคม เพื่อสนับสนุนการท่องเที่ยวและการแก้ไขปัญหาการจราจรจังหวัดภูเก็ต รวมทั้งบรรยายพิเศษ เรื่อง "กระทรวงคมนาคมกับการขับเคลื่อนภูเก็ตสู่การเป็นนครแห่งอันดามัน" ซึ่งทางสำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข.) กระทรวงคมนาคม จัดขึ้น ที่ห้องประชุมไวท์เฮ้าส์ โรงแรมโบ๊ทลากูนรีสอร์ท ต.เกาะแก้ว อ.เมือง จ.ภูเก็ต เมื่อวันที่ 20 มีนาคม 2560 ว่า
ด้วยรัฐบาลได้เล็งเห็นความสำคัญของจังหวัดภูเก็ต ซึ่งเป็นเมืองหลักด้านการท่องเที่ยว สร้างรายได้ให้กับประเทศเป็นจำนวนมาก แต่ปรากฏว่าจากการเติบโตอย่างรวดเร็วได้ส่งผลต่อการคมนาคมขนส่งในพื้นที่ โดยเฉพาะการขนส่งทางบก เนื่องจากมีถนนสายหลักเพียงเส้นเดียว คือ ถนนสาย 402 ซึ่งมีปัญหาการจราจรคับคั่งและติดขัด นอกจากการรับส่งนักท่องเที่ยวแล้ว ยังพบการใช้รถส่วนบุคคลในการเดินทางเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องจนเกินขีดความสามารถในการรองรับของถนน รวมทั้งระบบขนส่งสาธารณะในเขตเมืองภูเก็ต ไม่ได้รับความนิยมและไม่ครอบคลุมทุกพื้นที่
จากปัญหาที่เกิดขึ้นดังกล่าว
นับตั้งแต่ปี 2557 เป็นต้นมา รัฐบาลได้อนุมัติงบประมาณในการแก้ปัญหาบนเส้นทางหลัก 402 โดยก่อสร้างอุโมงค์ทางลอดบริเวณทางแยก ซึ่งเปิดใช้แล้ว 2 อุโมงค์ คือ อุโมงค์ทางลอดแยกดาราสมุทรกับอุโมงค์แยกสามกอง และในปี 2560 จะเปิดใช้เพิ่มอีกหนึ่งทางลอด คือ ทางลอดแยกบางคู ซึ่งขณะนี้เปิดให้ใช้แล้ว 1 ช่องการจราจรเพื่อบรรเทาปัญหาจราจร จากนั้นจะเป็นทางลอดห้าแยกฉลองและทางลอดแยกสนามบินภูเก็ต รวมทั้งหมด 5 ทางลอด นอกจากนี้มีโครงการก่อสร้างยูเทิร์นเกือกม้า จำนวน 2 จุด รวม 6 โครงการใช้งบประมาณ 3,300 ล้านบาท
ในส่วนของการลงทุนโครงการขนาดใหญ่ภายใต้แผนปฎิบัติการ
ด้านคมนาคมขนส่ง ระยะเร่งด่วน ปี 2560 ของจังหวัดภูเก็ต ประกอบด้วย โครงการรถไฟฟ้ารางเบา (Tram way) วงเงินลงทุนประมาณ 33,000 ล้านบาท อยู่ระหว่างการจัดทำ EIA, โครงการอุโมงค์กะทู้-ป่าตอง งบประมาณ 14,000 ล้านบาท อยู่ระหว่างการผลักดันเพื่อขอปรับกรอบเงินลงทุนเป็นทางด่วน และการนำเสนอรายงานผลกระทบสิ่งแวดล้อม
นอกจากนี้ยังมีโครงการทางหลวงแนวใหม่สาคู-เกาะแก้ว ระยะทางประมาณ 22 กิโลเมตร ใช้งบประมาณ 13,000 ล้านบาท ขณะเดียวกันยังมีโครงการของกรมทางหลวงชน และโครงการขยายอาคารเพิ่มเติม พร้อมส่วนประกอบของท่าอากาศยานภูเก็ต รวมประมาณ 12,000 ล้านบาท เมื่อรวมงบประมาณของการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคมขนส่งในระยะเร่งด่วนดังกล่าวอยู่ที่ 71,000 ล้านบาท
เมื่อเทียบกับรายได้ของจังหวัดภูเก็ตในแต่ละปีรวมประมาณ 300,000-400,000 ล้านบาท ถือเป็นเมืองท่องเที่ยวนานาชาติอันดับหนึ่งที่ทำรายได้ให้กับประเทศถือว่า แต่สุดท้ายที่สำคัญสำหรับภูเก็ต ไม่ว่าจะมีการขยายถนนมากน้อยเพียงใดก็ตามหากไม่มีการจัดระบบการจราจรให้เหมาะสมก็จะยังคงมีรถติดอยู่
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น