ผู้ว่าฯ ภูเก็ตยืนยันความพร้อมดูแล นทท.แต่ละชายหาด
สืบเนื่องจากกรณีที่ บริษัท ภูเก็ตไลฟ์การ์ด เซอร์วิส จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทที่รับจ้างดำเนินการรักษาความปลอดภัยชายฝั่ง (ไลฟ์การ์ด) จำนวน 12 ชายหาดของจังหวัดภูเก็ต จากองค์การบริหารส่วนจังหวัดภูเก็ต (อบจ.ภูเก็ต) และหมดสัญญาในวันที่ 30 กันยายน 2560 และได้มีการเปิดประมูลเพื่อหาผู้รับจ้างใหม่ แต่ปรากฏว่าจนถึงปัจจุบันยังไม่มีเอกชนรายใดสนใจซื้อและยื่นซองประมูล สร้างความกังวลใจให้กับนักท่องเที่ยวและองค์กรด้านการท่องเที่ยวเป็นอย่างมาก
และในวันที่ 30 กันยายน 2560 ที่ห้องประชุมจวนผู้ว่าราชการจังหวัดภูเก็ต นายนรภัทร ปลอดทอง ผู้ว่าราชการจังหวัดภูเก็ต ได้เรียกประชุมนายอำเภอทั้ง 3 อำเภอ ประกอบด้วย อำเภอเมืองภูเก็ต อำเภอถลาง และอำเภอกะทู้ หน่วยงานราชการที่เกี่ยวข้อง ได้แก่ นายประพันธ์ ขันธ์พระแสง ป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจังหวัดภูเก็ต น.อ.บวร พรมแก้วงาม รอง ผอ.กอ.รมน.ภูเก็ต ตัวแทนทัพเรือภาคที่ 3
พ.ต.อ.พีระยุทธ การะเจดีย์ รอง ผบก.ภ.จว.ภูเก็ต นายวัชรินทร์ ปฐมวัฒนพงศ์ ปลัดองค์การบริหารส่วนจังหวัดภูเก็ต (อบจ.ภูเก็ต) ปฏิบัติหน้าที่นายก อบจ.ภูเก็ต และผู้นำองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นที่มีพื้นที่ชายหาด อาทิ นายกเทศมนตรีตำบลราไวย์, กะรน, ป่าตอง, กมลา, เชิงทะเล, ไม้ขาว เป็นต้น เพื่อนำเสนอแนวทางในการจัดเจ้าหน้าที่ประจำชายหาดต่างๆ ในช่วงรอยต่อระหว่างรอทาง อบจ.ภูเก็ต จัดหาไลฟ์การ์ดเข้ามาดูแลบริหารจัดการชายหาดต่อไป
หลังการนำเสนอแนวทางแต่ละท้องถิ่นแล้ว นายนรภัทร ปลอดทอง กล่าวสรุปว่า หลังจากรับทราบปัญหาที่เกิดขึ้น ได้มีการเรียกประชุมหน่วยงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้องและผู้บริหารองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นมาแล้ว 2 ครั้ง และการประชุมครั้งนี้เป็นครั้งที่ 3 เพื่อซักซ้อมความพร้อมก่อนที่จะมีการจัดเจ้าหน้าที่ลงไปประจำชายหาดต่างๆ ในวันที่ 1 ตุลาคม 2560 หลังจากสัญญาการว่าจ้างบริษัทเอกชนสิ้นสุดลงแล้ว โดยในเขตอำเภอเมืองภูเก็ต มี 4 หาด ได้แก่ หาดในหานกับหาดยะนุ้ย อยู่ในความรับผิดชอบของเทศบาลตำบลราไวย์ หาดกะตะกับหาดกะรน อยู่ในความรับผิดชอบของเทศบาลตำบลกะรน
เขตอำเภอกะทู้ มี 2 ชายหาด ได้แก่ หาดป่าตอง อยู่ในความรับผิดชอบของเทศบาลเมืองป่าตอง กับ หาดกมลา อยู่ในความดูแลขององค์การบริหารส่วนตำบลกมลา และอำเภอถลาง มี 5 ชายหาด ได้แก่หาดไม้ขาว, หาดในยาง, หาดในทอน, หาดบางเทา, และหาดสุรินทร์ ซึ่งในการดูแลชายหาดนั้นแต่ละท้องถิ่นได้บูรณาการกำลังทั้งเจ้าหน้าที่แต่ละท้องถิ่น, เจ้าหน้าที่จากทัพเรือภาคที่ 3 เจ้าหน้าที่ อพปร., เจ้าหน้าที่ตำรวจ เจ้าหน้าที่ไลฟ์การ์ดของโรงแรมที่ตั้งอยู่หน้าชายหาด และอาสาสมัครไลฟ์การ์ดชุดเดิมบางส่วน มาร่วมกันดูแลจนกว่า อบจ.ภูเก็ตจะสามารถจัดจ้างไลฟ์การ์ดได้ ซึ่งจะดำเนินการให้ได้โดยเร็วที่สุด
“หลังจาก อบจ.ภูเก็ต ได้ประกาศให้ผู้สนใจสมัครทำหน้าที่ไลฟ์การ์ด ในลักษณะการจ้างเหมาบริการ (จ้างรายบุคคล) เป็นระยะเวลา 2 เดือน มีอัตราค่าจ้าง เดือนละ 14,000 บาท เพื่อแก้ปัญหาในระยะเร่งด่วน ปรากฏว่า มีไลฟ์การ์ดมาสมัครแล้วประมาณ 30-40 % ส่วนระยะยาวนั้นจะมีการหารือ เพื่อสรุปบทเรียนและหาทางออกของปัญหาที่เกิด ส่วนจะเป็นรูปแบบใดนั้นก็ต้องมาดูในรายละเอียดกันอีกครั้ง”
นายนรภัทร กล่าวด้วยว่า ในช่วงระยะสั้นนี้ขอให้ทุกฝ่ายมั่นใจว่า เรามีผู้ดูแลความปลอดภัยให้กับนักท่องเที่ยวบริเวณชายหาดอย่างแน่นอน รวมถึงอุปกรณ์ต่างๆ ที่แต่ละท้องถิ่นมีอยู่แล้ว และวัสดุของ อบจ.ภูเก็ตเอง รวมทั้งได้รับการสนับสนุนจากผู้ประกอบการบริเวณชายหาดอีกบางส่วน เช่น เจ็ทสกี อุปกรณ์ช่วยชีวิต เป็นต้น โดยจะไม่มีการว่างเว้นไลฟ์การ์ดบริเวณชายหาดต่างๆ อย่างแน่นอน นอกจากนี้ยังจะมีการจัดเรือของทางทัพเรือภาคที่ 3 มาร่วมลาดตระเวนรักษาความปลอดภัยบริเวณชายหาดต่างๆ ด้วย โดยจะไม่มีการติดตั้งป้ายที่เขียนข้อความ WARNING NO LIFEGUARD ON DUTY SWIM AT YOUR OWN RISK ตามชายหาดต่างๆ
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น