ส่งเรือเก็บกู้และวางระบบทุ่นสึนามิในมหาสมุทรอินเดีย
หลังครบรอบบำรุงรักษา สร้างความเชื่อมั่นการเตือนภัย
เมื่อวันที่ 9 ตุลาคม 2560 ที่ท่าเทียบเรือศูนย์วิจัยและพัฒนาทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งทะเลอันดามัน อ.เมือง จ.ภูเก็ต นายสนิท ศรีวิหค รองผู้ว่าราชการจังหวัดภูเก็ต เป็นประธานในพิธีปล่อยเรือเก็บกู้และวางระบบตรวจคลื่นสึนามิ Dart –II ในมหาสมุทรอินเดีย ซึ่งเป็นการดำเนินการตามระยะรอบของการใช้งาน ระหว่างวันที่ 9-18 ตุลาคม 2560 ณ ละติจูด 9 องศาเหนือ ลองจิจูด 89 องศาตะวันออก
โดยมี พล.ร.ต.กฤษณะ กุณฑ์ยะ รองผู้บัญชาการทัพเรือภาคที่ 3, กงสุลประเทศออสเตรเลีย ประจำจังหวัดภูเก็ต, นายชัชวาลย์ เบญจสิริวงศ์ ผู้อำนวยการศูนย์เตือนภัยพิบัติแห่งชาติ กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.), ผู้อำนวยการศูนย์ ปภ.เขต 18 ภูเก็ต, ผู้อำนวยการศูนย์ ปภ.เขต 12 สงขลา, หัวหน้าสำนักงานป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย 6 จังหวัดอันดามัน ได้แก่ ภูเก็ต พังงา กระบี่ ตรัง ระนองและสตูล, ผู้นำองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นจังหวัดภูเก็ต และแขกผู้มีเกียรติเข้าร่วม
นายชัชวาลย์ เบญจสิริวงศ์ ผู้อำนวยการศูนย์เตือนภัยพิบัติแห่งชาติ กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.)กล่าวว่า ในการนี้เนื่องจากถึงรอบของการบำรุงรักษาหลังจากที่ระบบเริ่มไม่ส่งสัญญาณเมื่อ 2-3 เดือนที่ผ่านมา โดยส่งเจ้าหน้าที่ รวม 15 นาย เดินทางไปกับเรือ SEAFDEC เพื่อเก็บกู้และวางระบบตรวจวัดคลื่นตรวจวัดคลื่นสึนามิระบบ Dart-II ณ ละติจูด 9 องศาเหนือ ลองจิจูด 89 องศาตะวันออก เพื่อซ่อมบำรุงรักษาระบบตรวจวัดคลื่นสึนามิในมหาสมุทรอินเดียให้มีความสมบูรณ์ พร้อมใช้งานอย่างต่อเนื่องและมีประสิทธิภาพ และสามารถส่งต่อข้อมูลไปยังระบบแจ้งเตือนภัยของประเทศ
สำหรับการติดตั้งทุ่นดังกล่าว เกิดขึ้นหลังเกิดเหตุการณ์คลื่นยักษ์สึนามิ เมื่อวันที่ 26 ธันวาคม 2547 ได้มีหน่วยงานต่างๆ ร่วมกันหาแนวทางการป้องกันและลดผลกระทบภัยสึนามิมาอย่างต่อเนื่อง โดยประเทศไทยได้จัดทำบันทึกข้อตกลงความร่วมมือทางวิชาการในการเตือนภัยสึนามิกับหน่วยงานบริหารสมุทรศาสตร์และบรรยากาศแห่งชาติของสหรัฐอเมริกา ( National Oceanic and Atmospheric Administration : NOAA)
และได้รับมอบทุ่นตรวจวัดสึนามิจาก NOAA คือ ในเดือนธันวาคม 2549 จำนวน 1จุด แบบ Deep A ssessment and Reporting of Tsunami model II หรือ DART II ประกอบด้วย ทุ่นลอยพร้อมอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ ( Surface Buoy) และชุดอุปกรณ์วัดความดันใต้ท้องทะเล ( Bottom Pressure Recorder : BPR)เพื่อติดตามการเปลี่ยนแปลงระดับน้ำและส่งสัญญาณเสียงไปสู่ทุ่นลอย และส่งข้อมูลไปยังดาวเทียม
จากนั้นมีการส่งสัญญาณมาที่สถานีรับสัญญาณภาคพื้นดิน และประมวลผลร่วมกับทุ่นตรวจวัดสึนามิอื่นจากนานาประเทศแล้วส่งไปยังศูนย์เตือนภัยพิบัติแห่งชาติเพื่อออกประกาศเตือนต่อมาเดือนธันวาคม 2553 มีการเก็บกู้ DART II ได้รับมอบจาก NOAA มาบำรุงรักษาและวางระบบตรวจวัดคลื่นสึนามิทดแทน หลังจากนั้นรัฐบาลไทย โดยกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยได้ดำเนินการติดตั้งระบบตรวจวัดคลื่นสึนามิซึ่งเป็นระบบ ETD (Easy to Deploy) ในทะเลอันดามันเมื่อเดือนมกราคม 2560”
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น