ส.อสังหาฯ ภูเก็ตเรียกร้องทบทวนร่างผังเมืองรวมภูเก็ต
เมื่อเร็วๆ นี้ ในการเดินทางลงพื้นที่ของสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) เพื่อรับฟังปัญหาด้านต่างๆ ของจังหวัดภูเก็ต หนึ่งในประเด็นที่มีการรับฟังปัญหา คือ ด้านการวางผังเมืองจังหวัดภูเก็ต ซึ่งขณะนี้อยู่ในระหว่างการจัดทำร่างผังเมืองรวมจังหวัดภูเก็ตฉบับใหม่ โอกาสนี้ทางสมาคมอสังหาริมทรัพย์ภูเก็ต นำโดยนายธนูศักดิ์ พึ่งเดช ได้เข้ายื่นหนังสือถึงประธานสภานิติบัญญัติแห่งชาติ ผ่านทางพลเรือเอกชุมนุม อาจวงษ์ หัวหน้าคณะ สนช. (ชุดเล็ก คณะที่ 3 ) เพื่อขอให้ทาง สนช. ได้แจ้งไปยังกรมโยธาธิการและผังเมือง ให้ทบทวนการประกาศใช้ (ร่าง) กฎกระทรวงให้ใช้บังคับผังเมืองรวมภูเก็ต พ.ศ...(ฉบับใหม่)
นายธนูศักดิ์ พึ่งเดช กล่าวถึงเหตุผลที่ขอให้มีการทบทวนร่างประกาศผังเมืองรวมดังกล่าว ว่า จากการที่กรมโยธาธิการและผังเมือง ได้ว่าจ้างบริษัทที่ปรึกษาทำการศึกษาผังเมืองรวมภูเก็ตนั้น และทางสมาคมอสังหาริมทรัพย์ภูเก็ต ได้ศึกษาร่างผังเมืองดังกล่าวโดยละเอียดแล้ว มีความเห็นว่า หากนำร่างฉบับดังกล่าวไปประกาศใช้จะมีผลกระทบต่อการพัฒนาในด้านต่างๆ ของจังหวัดภูเก็ต และจะเป็นการริดรอนสิทธิของประชาชนทั่วไป เนื่องจากร่างผังเมืองรวมภูเก็ตฉบับใหม่ มีข้อบังคับที่มากกว่าผังเมืองฉบับเดิมที่ใช้อยู่ในปัจจุบัน และจะส่งผลกระทบต่อเจ้าของกรรมสิทธิ์ในที่ดิน
ประเด็นปัญหาที่พบ คือ ร่างฉบับนี้มีปริมาณพื้นที่สีเขียวอ่อนมีเส้นทแยงสีขาวหรือพื้นที่อนุรักษ์ป่าไม้ เพิ่มขึ้นจากกฎกระทรวงให้ใช้บังคับผังเมืองรวมจังหวัดภูเก็ต พ.ศ. 2554 เป็นอย่างมาก อย่างมีนัยสำคัญ และไปทับซ้อนที่ดินที่เดิมมีการกำหนดเป็นสีประเภทอื่นๆ ไว้ เป็นการริดรอนสิทธิประชาชนผู้ครอบครองเอกสารสิทธิ์ ที่ถูกต้องตามกฎหมายในพื้นที่ดังกล่าวอย่างชัดเจน แม้กระทั่งพื้นที่ในทะเลซึ่งเดิมมิได้กำหนดเป็นพื้นที่สีดังกล่าว อาจเป็นอุปสรรคในการพัฒนาการท่องเที่ยวลักษณะมารีน่าในอนาคตในหลายบริเวณ, ได้มีการกำหนดพื้นที่สีเขียวมีเส้นทแยงสีน้ำตาล (ที่ดินประเภทปฏิรูปเพื่อเกษตรกรรม) เพิ่มขึ้นจากผังฉบับเดิมและไปทับซ้อนที่ดินเดิมที่มีการกำหนดเป็นสีประเภทอื่นๆ ไว้ เป็นการริดรอนสิทธิประชาชนผู้ครอบครองเอกสารสิทธิ์ที่ถูกต้องตามกฎหมายในพื้นที่ดังกล่าวอย่างชัดเจน,
มีการเปลี่ยนแปลงข้อกำหนดต่างๆ ในการจำกัดสิทธิ์ห้ามดำเนินกิจการประเภทต่างๆ เพิ่มขึ้น และมีการกำหนดเงื่อนไขการใช้ประโยชน์ที่ดิน (เพิ่มเติม) ตามมาตรา 17 (5) โดยมีการกำหนดค่า F.A.R., B.C.R., O.S.R. ซึ่งเดิมมิเคยมีมาก่อน และเมื่อตรวจสอบเปรียบเทียบกับเกณฑ์และมาตรฐานผังเมือง รวม พ.ศ. 2549 ของสำนักพัฒนามาตรฐาน กรมโยธาธิการและผังเมือง พบว่าค่าต่างๆ ที่กำหนดโดยส่วนใหญ่ มีค่าต่ำกว่าเกณฑ์ที่กำหนดไปมาก เป็นผลให้เกิดการริดรอนสิทธิประชาชนในการปลูกสร้างอาคารประเภทต่างๆ สามารถดำเนินการได้น้อยกว่าเดิมอย่างมีนัยสำคัญ เป็นต้น
นายธนูศักดิ์ กล่าวอีกว่า จากปัญหาดังกล่าวทางสมาคมฯ มองว่าหากมีการประกาศใช้ร่างผังเมืองฉบับนี้อาจจะเกิดแรงต้านจากประชาชนที่ได้รับผลกระทบโดยตรง ซึ่งอาจจะทำให้การบังคับใช้ของผังเมืองฉบับนี้สะดุดลงได้ และคงจะติดเบรกทันทีไม่ได้ เพราะจะทำให้ทุกอย่างไม่เจริญเติบโต และที่เป็นห่วง คือ เรามีปริมาณพื้นที่สีเขียวอ่อนเส้นทแยงขาวเพิ่มรอบเกาะ ซึ่งจะทำให้เกิดการลิดรอนสิทธิของผู้ประกอบการค่อนข้างมาก และธุรกิจทางทะเลต้องชะงัก มีพื้นที่สีเขียวทแยงน้ำตาล พื้นที่ปฎิรูปเพื่อการเกษตรกรรมเพิ่มมากขึ้น เป็นต้น
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น