จำหน่ายอุปกรณ์แต่งรถ

วันศุกร์ที่ 6 พฤศจิกายน พ.ศ. 2563

“ผักลิ้นห่าน” อัตลักษณ์ของตำบลไม้ขาว สร้างรายได้ให้ชุมชน

ผักลิ้นห่านหรือ Launaea sarmentosa มีลำต้นสั้นๆ และมีไหล (หน่อ) ทอดเลื้อยไปตามพื้นดิน แตกกอเป็นช่วงๆทำให้ขยายพันธุ์ได้เร็ว ใบยาวรีคล้ายลิ้นห่าน ในอดีตมีมากตามธรรมชาติในพื้นที่ริมชายหาดฝั่งทะเลอันดามัน และพบมากตลอดแนวชายทะเลในพื้นที่จังหวัดพังงาและจังหวัดภูเก็ต โดยในจังหวัดภูเก็ตจะพบมากในพื้นที่บ้านไม้ขาว จึงถือเป็นผักอัตลักษณ์ของตำบลไม้ขาว อำเภอถลาง ก็ว่าได้


ผักลิ้นห่าน ใช้ประกอบอาหารได้หลายอย่าง เช่น ต้มกะทิ ผัดน้ำมันหอย ชุบแป้งทอด เป็นต้น หรือจะขายสดกิโลกรัมละ 200 บาท ซึ่งไม่เพียงพอต่อความต้องการของตลาดที่มีความต้องการสูง ทั้งนี้สามารถขยายพันธุ์โดยไหล (หน่อ) ผักลิ้นห่านนำมาแปรรูปได้หลายอย่าง เช่น ชา ผงโรยข้าวเป็นต้น อนึ่งผักลิ้นห่านสามารถนำมาส่งเสริมให้ปลูกในครัวเรือนได้ต่อเนื่องไปจนถึงการรวมกลุ่มเป็นวิสาหกิจชุมชนผักลิ้นห่านตำบลไม้ขาว ซึ่งเกิดจากการรวมกลุ่มของชุมชนบ้านไม้ขาว ร่วมกับคณะเทคโนโลยีและสิ่งแวดล้อม, สวทช., อบต.ไม้ขาว, โรงเรียนบ้านไม้ขาว และอุทยานแห่งชาติสิรินาถ โดยมีนางอรุณศรี แซ่เอียบเป็นประธาน

 ผศ.กรรนิการ์ กาญจนชาตรี ผู้วิจัยฯ กล่าวว่า  ขณะนี้อุทยานแห่งชาติสิรินาถ โดยผู้อำนวยการคนเก่า ได้อนุญาตให้ชุมชนใช้พื้นที่หน้าหาดไม้ขาวทำแปลงสาธิตวิสาหกิจชุมชนปลูกผักลิ้นห่าน ซึ่งเป็นพืชอัตลักษณ์ที่ปลูกได้ในท้องถิ่นที่สามารถช่วยเหลือชุมชนให้มีรายได้เพิ่มขึ้นในช่วงโควิช-19 เริ่มต้นด้วยการปรับพื้นที่และวางระบบน้ำหน้าหาดซึ่งได้รับการอนุเคราะห์จากนายสราวุธ ศรีสาคูคาม นายกองค์การบริหารส่วนตำบลไม้ขาว, นายวินัย แซ่อิ๋ว ผู้ใหญ่บ้านหมู่ที่ 4 บ้านไม้ขาว และหมวดบินเฉพาะกิจทัพเรือภาคที่ 3 ซึ่งได้ให้ความอนุเคราะห์กำลังพลด้วยดีมาโดยตลอด

 ขณะที่นางสาวสิรินภัส โพชนาธาร ผู้อำนวยการโรงเรียนบ้านไม้ขาว ได้ให้พื้นที่ส่วนหนึ่งของโรงเรียน ให้นักเรียนได้เรียนรู้วิธีการปลูกผักลิ้นห่าน นอกจากได้เป็นแหล่งอาหารกลางวันของนักเรียนแล้ว ยังได้เป็นแหล่งเรียนรู้อัตลักษณ์ของท้องถิ่นและใช้เป็นศูนย์เรียนรู้สร้างกิจกรรมให้เด็กนักเรียนที่ดีมากอีกด้วย จึงให้ใช้พื้นที่ดำเนินการภายในและรอบๆ โรงเรียนบ้านไม้ขาวทั้งหมด ทั้งนี้นายจุมพล ดวงใหญ่ บริษัท SCG CPAC ได้สร้างแปลงปลูกผักลิ้นห่านขนาด 4x6 เมตรจำนวน 6 แปลง รวมถึงสร้างระบบน้ำในการปลูกผักลิ้นห่านและเพื่อการทำเกษตรในโรงเรียนบ้านไม้ขาวด้วย

 ทั้งนี้ รศ.ดร.พันธ์ ทองชุมนุม รองอธิการบดี มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตภูเก็ต และผศ.ดร. วีรพงค์ เกิดสิน คณบดีคณะเทคโนโลยีและสิ่งแวดล้อม ให้แนวคิดว่ามหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์จะใช้โจทย์ของชุมชนเป็นตัวตั้งในการทำวิจัยหรือแก้ปัญหาต่างๆ จึงเป็นเรื่องที่น่ายินดีที่ทุกภาคส่วนผนึกกำลังเข้าด้วยกันเพื่อสร้างรายได้ให้กับชุมชนและท้องถิ่นในภาวะวิกฤตแบบนี้ ซึ่งต้องขอขอบคุณไว้ ณ โอกาสนี้ด้วย 

วิสาหกิจชุมชนผักลิ้นห่านเป็นธุรกิจที่มีความมั่นคงในระดับชุมชนที่ได้รับการรับรองตามกฎหมายเพื่อส่งเสริมความรู้ภูมิปัญญาท้องถิ่น พัฒนาตรงตามความต้องการของผู้บริโภค ทำให้ชุมชนมีความเข้มแข็ง พึ่งพาตนเองได้ มีความพร้อมที่จะพัฒนาสำหรับการแข่งขันทางการค้าในอนาคต ผศ.กรรนิการ์ กล่าว



ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น