เมื่อเวลา 08.00 น.ของวันที่ 22 กุมภาพันธ์ 53 ที่บริเวณโรงเรียนวีรสตรีอนุสรณ์ นายสมิทธิ์ ปาลวัฒน์วิไชย รองผู้ว่าราชการจังหวัดภูเก็ต คุณปิยะนุช หงษ์หยก กรรมการผู้จัดการ บริษัท โรงพยาบาลกรุงเทพภูเก็ต จำกัด นพ.ก้องเกียรติ เกษเพ็ชร์ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลกรุงเทพภูเก็ต พร้อมคณะผู้บริหารโรงพยาบาลฯ และหัวหน้าส่วนราชการต่างๆ ได้ร่วมต้อนรับ พล.ท.ดร.พิเชษฐ์ วิสัยจร แม่ทัพภาคที่ 4 และผู้อำนวยการรักษาความมั่นคงภายในภาค 4 จากนั้นได้เดินไปเก็บตัวอย่างหญ้าทะเลและดูร่องรอยการกินหญ้าทะเลของพะยูน พร้อมกับโยน EM Ball 8,000 ลูก โดยท่านแม่ทัพภาคที่ 4 ได้ฝากให้หน่วยงานราชการและองค์กรต่างๆ ในจังหวัดภูเก็ต ที่ดูแลและรับผิดชอบได้เป็นกำลังสำคัญในการช่วยเหลือชาวบ้านฟื้นฟูและอนุรักษ์ทรัพยากรทางทะเลอันมีค่า เพื่อให้ชาวบ้านได้ใช้เป็นแหล่งทำมาหากินและสามารถดำรงวิถีชีวิตแบบเดิมต่อไปได้ ซึ่งจากการจัดกิจกรรมโยน EM Ball 2 ครั้งที่ผ่านมา ส่งผลให้หญ้าทะเลอุดมสมบูรณ์ขึ้น อีกทั้งยังมีสัตว์น้ำหลายชนิดมาอาศัยอยู่เป็นจำนวนมาก จึงนับได้ว่าระบบนิเวศในบริเวณนี้ดีขึ้นเป็นลำดับ
จากนั้นแม่ทัพภาคที่ 4 ได้เยี่ยมเยียนและสอบถามชาวบ้านกลุ่มอนุรักษ์ทรัพยากรบ้านป่าคลอก โดยนางจุรี และนายจุรุณ ราชพล สมาชิกกลุ่มอนุรักษ์ฯ ที่ยืนหยัดปกป้องและอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติบริเวณบ้านป่าคลอกเสมอมา กล่าวว่า “หญ้าทะเลปีนี้มีความอุดมสมบูรณ์มาก เห็นได้จากเมื่อน้ำลง จะมีหญ้าทะเลสีเขียวเต็มไปหมด และจากที่ได้เดินไปหากุ้ง หอย ปู ปลา อยู่ทุกวัน ก็เลยเห็นความเปลี่ยนแปลงได้ชัดเจน เพราะปีก่อนๆ หญ้าจะขึ้นเป็นหย่อมๆ ไม่เต็มทะเลแบบนี้ ตั้งแต่มีการโยน EM Ball เมื่อปลายปีก่อน ตอนนี้มีหญ้าทะเลขึ้นใหม่เยอะ น้ำก็ใส พอน้ำดีขึ้นหญ้าทะเลก็อุดมสมบูรณ์ สัตว์น้ำก็มากขึ้นตามไปด้วย ตอนนี้ชาวบ้านสามารถหา กุ้ง หอย ปู ปลา ได้มากกว่าเมื่อก่อน” ชาวบ้านทั้งสองคนกล่าว
ด้านนพ.ก้องเกียรติ เกษเพ็ชร์ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลกรุงเทพภูเก็ตกล่าวว่า “โครงการโยน EM Ball เพื่อฟื้นฟูแหล่งหญ้าทะเลบ้านป่าคลอก จะมีขึ้นอีกครั้งในเดือนหน้า (มีนาคม) โดยหลังจากสุ่มเก็บตัวอย่างครบทั้ง 4 ครั้งแล้ว ทางสถาบันวิจัยฯ จะสรุปผลของมวลหญ้าทะเลที่เข้าสู่กระบวนการวิจัยตั้งแต่ครั้งแรกมาให้ เพื่อใช้เป็นข้อมูลอ้างอิงและเป็นแนวทางในการจัดกิจกรรมฟื้นฟูแหล่งหญ้าทะเลในพื้นที่อื่นต่อไป แต่อย่างไรก็ตาม โครงการฟื้นฟูแหล่งหญ้าทะเลบ้านป่าคลอก และการแก้ปัญหาน้ำเสียในชุมชนที่ทางโรงพยาบาลกรุงเทพภูเก็ตและมูลนิธิมรรคาวาณิชได้จัดขึ้นเป็นเพียงส่วนหนึ่งเท่านั้นในการช่วยกันดูแลสิ่งแวดล้อมในชุมชน เพราะการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติอย่างยั่งยืน ย่อมเกิดจากการร่วมแรงร่วมใจกันของคนในชุมชนที่จะช่วยกันอนุรักษ์และหวงแหนทรัพยากรทางธรรมชาติอันมีค่า ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งในการสร้างชุมชนที่เข้มแข็ง เพื่อช่วยกันดูแลสิ่งแวดล้อมในชุมชนได้อย่างเป็นรูปธรรมต่อไป
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น