เมื่อเวลา 09.00 น.ของวันที่ 4 กุมภาพันธ์ 53 ที่บริเวณหน้าทัพเรือภาคที่ 3 ถ.ศักดิเดช ม.8 ต.วิชิต อ.เมืองภูเก็ต ได้มีชาวบ้านจำนวน 50 คน มารวมตัวกันหลังจากทราบข่าวว่า จะมีกลุ่มคนเสื้อแดงมาออกแถลงการณ์ และยื่นหนังสือต่อทัพเรือภาค 3 หลังกลุ่มแกนนำเสื้อแดงส่วนกลางนัดเคลื่อนไหวพร้อมกันทั่วประเทศทุกจังหวัดที่มีหน่วยหรือกองทัพตั้งอยู่ จนกระทั่งเวลา 10.00 น.ของวันเดียวกัน สมาชิกกลุ่มมูลนิธิบ้านเลขที่ 111 นำโดยนายศิริพงษ์ เลื่อนฉวี ทนายความและกรรมการหอการค้า จ.ภูเก็ต และอ้างตัวเป็นอดีตนายทหารเก่า พร้อมด้วยสมาชิกที่สวมเสื้อสีแดงราว 6 คน เดินทางเพื่อจะอ่านแถลงการณ์ต่อต้านการทำรัฐประหาร โดยสมาชิกกลุ่มมูลนิธิบ้านเลขที่ 111 ได้ใช้รถเก๋งเบ๊นซ์และรถกระบะเพียง 2 คันขับไปจอดตรงข้ามทัพเรือภาคที่ 3 จากนั้นก็ได้ลงจากรถ พร้อมด้วยพระบรมฉายาลักษณ์ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว โดยมีเจ้าหน้าที่สารวัตรทหารเรือ ของทัพเรือภาค 3และเจ้าหน้าที่ตำรวจสภ.เมืองประมาณ 50 นายเฝ้าดูเหตุการณ์อยู่ภายในพื้นที่ทัพเรือภาค 3
จากนั้นนายศิริพงษ์พยายามจะอ่านแถลงการณ์ แต่ชาวบ้านในหมู่ 8 ต.วิชิต ซึ่งที่ได้เดินทางร่วมกันเพิ่มเติมอีกประมาณ 100 คน และเกิดความไม่พอใจกับพฤติกรรมดังกล่าว โดยได้ขับไล่และจะบุกเข้าทำร้ายร่างกาย แต่ สห.ทหารเรือและเจ้าหน้าที่ตำรวจสายตรวจ สภ.เมืองภูเก็ตได้ห้ามไว้ โดยบรรยากาศเต็มไปด้วยความตรึงเครียด เนื่องจากชาวบ้านในพื้นที่ไม่ต้องการความแตกแยกในพื้นที่ และอาจส่งผลกระทบต่อภาพลักษณ์การท่องเที่ยวได้ เนื่องจากบริเวณดังกล่าวเป็นที่ตั้งของโรงแรมชื่อดังหลายแห่ง ซึ่งมีนักท่องเที่ยวต่างชาติเป็นจำนวนมาก แต่สมาชิกแกนนำกลุ่มมูลนิธิบ้านเลขที่ 111 ยังคงดื้อดึงที่จะอ่านแถลงการณ์ดังกล่าว โดยมี 1 ในสมาชิกที่เป็นหญิงสาวและมีสามีเป็นชาวต่างชาติสวมเสื้อแดงเช่นกันพยายามจะถ่ายภาพชาวบ้านที่กำลังจะลุกฮือ จนเกิดการกระทบกระทั่งกันขึ้น โดย สห.และตำรวจ สภ.เมืองภูเก็ตสามารถควบคุมสถานการณ์ไว้ได้ในที่สุด โดยขอร้องให้สมาชิกแกนนำกลุ่มมูลนิธิบ้านเลขที่ 111 เดินทางออกจากบริเวณหน้าทัพเรือภาคที่ 3
อย่างไรก็ตามหลังจากที่ทางกลุ่มเสื้อแดงแยกย้ายกันกลับไปแล้ว ปรากฏว่ายังมีชาวบ้านประมาณ 20 คน รวมตัวกันวิพากษ์วิจารณ์ถึงเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น ระหว่างนั้นได้มีชาวบ้านคนหนึ่งในกลุ่มสังเกตเห็นมีรถยนต์ฮอนด้ารุ่นซีอาร์วี สีน้ำเงิน หมายเลขทะเบียน กฉ 8844 ภูเก็ต มีตราสภาทนายความติดอยู่ด้วยจอดอยู่ ภายในมีชายคนหนึ่งนั่งโทรศัพท์อยู่ในรถ แต่ไม่ใช่รถของคนในพื้นที่ จึงได้เคาะกระจกสอบถามว่าเป็นใคร เนื่องจากเห็นใส่เสื้อสีแดงและสวมแจ๊คเก็ตสีดำทับ ต่างกรูเข้าไปจะทำร้าย แต่มีชายหนึ่งในกลุ่มได้ห้ามไว้และให้สอบถามรายละเอียดจนทราบว่ามา ชายคนดังกล่าวมากับกลุ่มคนเสื้อแดงที่กลับไปแล้ว และได้เอากุญแจรถไปด้วย จึงไม่สามารถกลับออกไปได้
หลังจากคุยกันแล้วก็บังคับให้ชายคนดังกล่าวถอดเสื้อสีแดงออก โดยไม่มีการทำร้ายร่างกายแต่อย่างใด จะมีก็เพียงเสียงต่อว่าต่อขานว่าทำไปทำไมเพราะก่อให้เกิดความวุ่นวาย และมีชาวบ้านส่วนหนึ่งนำเสื้อแดงดังกล่าวไปเผาทำลายทิ้งพร้อมด้วยธงสีแดงขนาดเล็กๆ จำนวนประมาณ 20 อัน ในขณะชาวบ้านก็อนุญาตให้ชายคนดังกล่าวกลับไปได้ โดยทางเจ้าหน้าตำรวจของ สภ.เมืองภูเก็ตไปส่ง ส่วนรถก็ยังคงจอดทิ้งไว้ด้านหน้าทัพเรือภาคที่ 3
ขณะที่ นายยาหมาน ยุคุณธร อดีตสมาชิก อบต.วิชิต กล่าวว่า ไม่อยากให้เกิดความวุ่นวายขึ้นไม่ว่าจะเป็นเสื้อสีใดก็ตาม เพราะเราเป็นเมืองท่องเที่ยว และทุกคนต่างต้องการที่จะทำมาหากิน หากมีความวุ่นวายเกิดขึ้นก็จะทำให้ส่งผลกระทบต่อภาพลักษณ์ของการท่องเที่ยว
น.ส.กัลยา การะเกต หนึ่งในชาวบ้านหมู่ 8 ต.วิชิต อ.เมืองภูเก็ตกล่าวว่า ทราบว่าสมาชิกกลุ่มคนเสื้อแดงภูเก็ต จะมารวมตัวกันที่บริเวณทัพเรือภาคที่ 3 ชาวบ้านในพื้นที่จึงหารือร่วมกัน เพื่อออกมาต่อต้าน เพราะไม่ต้องการให้เกิดภาพการรวมตัวของคนเสื้อแดงในพื้นที่ ชาวบ้านต้องการความสงบ ไม่ต้องการให้เกิดภาพลักษณ์ที่ไม่ต่อการท่องเที่ยว โดยชาวบ้านที่นี่อยู่ร่วมกับทหารเรือด้วยความสงบสุขและอยู่ร่วมกันได้เป็นอย่างดี ทหารดูแลชาวบ้าน และเข้าถึงชาวบ้าน หากกลุ่มคนเสื้อแดงจะรวมตัวแสดงพลังประท้วงใดๆ ขอให้เดินทางไปรวมตัวกับกลุ่มพวกพ้องของตนเองที่กรุงเทพฯ อย่ามาก่อความวุ่นวายใน จ.ภูเก็ต อย่างเด็ดขาด
ด้านนายวิสุทธิ์ ตั้งวิทยาภรณ์ เลขากลุ่มพิทักษ์ประชาธิปไตยภูเก็ตหรือแกนนำเสื้อแดงภูเก็ตเปิดเผยว่า เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นที่หน้าทัพเรือภาคที่ 3 เมื่อช่วงสายนั้นถือว่าเป็นการกระทำที่ไม่สมควรเป็นอย่างยิ่ง ถึงแม้กลุ่มบุคคลที่ถูกทำร้ายมิใช่กลุ่มคนเสื้อแดง แต่สิ่งที่กลุ่มคนเสื้อแดงภูเก็ตจะดำเนินการ คือ การเข้าไปให้กำลังใจต่อทัพเรือภาคที่ 3 และลูกประดู่ทุกนายในฐานะที่กองทัพเรือเป็นเพียงกองกำลังเดียวที่อยู่เคียงข้างพี่น้องประชาชนมาโดยตลอด
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น