จำหน่ายอุปกรณ์แต่งรถ

วันจันทร์ที่ 21 มิถุนายน พ.ศ. 2553

ประชุมสถานการณ์ปะการังเอเชีย-แปซิฟิก


เมื่อวันที่ 20 มิถุนายน 2553 ที่โรงแรมรอยัลภูเก็ตซิตี้ อ.เมือง จ.ภูเก็ต มหาวิทยาลัยรามคำแหง เป็นเจ้าภาพจัดการประชุมวิชาการนานาชาติแนวปะการังในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก ครั้งที่ 2 (The 2nd Asia Pacific Coral Reef Symposium:2nd APCRS 2010) ภายใต้หัวข้อ “Collaboration for Coral Reef Conservation in a Changing Climate” เพื่อแลกเปลี่ยนประสบการณ์ ระดมความคิดเห็น และสร้างเครือข่ายของนักวิทยาศาสตร์ด้านแนวปะการังในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก และเพื่อการจัดการอย่างมีประสิทธิภาพในการลดภาวะคุกคามแนวปะการัง ตลอดจนการรองรับผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศโลกต่อระบบนิเวศแนวปะการัง โดยมีผู้เข้าร่วมซึ่งเป็นนักวิทยาศาสตร์และนักวิชาการด้านแนวปะการังจากประเทศต่างๆ จาก 35 ประเทศ เพื่อนำเสนอผลงานวิจัยมากกว่า 400 เรื่อง เช่น การเกิดโรคในแนวปะการัง วิธีการฟื้นฟูแนวปะการังด้วยเทคนิคต่างๆ องค์ความรู้เกี่ยวกับการจัดการพื้นที่อุทยานหรือนอกเขตอุทยาน ภาวะมลพิษในแนวปะการัง เป็นต้น นอกจากนี้ยังมีงานวิจัยเชิงวิทยาศาสตร์ที่ลงลึกเพื่อให้เข้าใจกลไกการปรับตัวให้เข้ากับสิ่งแวดล้อมของปะการัง ทั้งนี้ได้รับเกียรติจากนายธีระยุทธ เอี่ยมตระกูล รองผู้ว่าราชการจังหวัดภูเก็ต กล่าวต้อนรับผู้ร่วมประชุม ซึ่งการประชุมดังกล่าวจะจัดไปจนถึงวันที่ 24 มิถุนายนนี้

ผศ.ดร.ธรรมศักดิ์ ยีมิน ประธานกรรมการดำเนินงานโครงการจัดการประชุมวิชาการนานาชาติแนวปะการังในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก ครั้งที่ 2 กล่าวว่า แนวปะการังเป็นระบบนิเวศทางทะเลที่มีความหลากหลายทางชีวภาพสูง และเป็นแหล่งทรัพยากรที่มีความจำเป็นต่อการดำรงชีวิตของประชากรมากกว่า 500 ล้านคนที่อาศัยอยู่บริเวณชายฝั่งทั่วโลก โดยเฉพาะแนวปะการังในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก ซึ่งเป็นแนวปะการังส่วนใหญ่ของโลก มีสำคัญทั้งในด้านการประมง การท่องเที่ยว และบทบาททางนิเวศวิทยา เช่น การป้องกันชายฝั่ง แหล่งที่อยู่อาศัยและเลี้ยงดูตัวอ่อนของสัตว์น้ำ ศักยภาพของการเป็นแหล่งที่มาของยารักษาโรค เป็นต้น แต่ปรากฏว่าแนวปะการังจำนวนมากมีความเสื่อมโทรมมาจากการทำประมงเกินขนาด และมลพิษจากการพัฒนาชายฝั่ง โดยเฉพาะปัจจุบันการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศของโลกก็มีแนวโน้มที่จะทำให้แนวปะการังเสื่อมโทรมลง

“โดยเมื่อ 4 ปีที่ผ่านมาทางมหาวิทยาลัยของฮ่องกงเป็นผู้ริเริ่มจัดการประชุมวิชาการดังกล่าวขึ้น และในปีนี้ทางมหาวิทยาลัยรามคำแหงก็ได้รับเกียรติให้เป็นเจ้าภาพในการดำเนินการ โดยเชิญนักวิจัยที่ทำงานเกี่ยวกับแนวปะการังในภูมิภาคมาร่วมกันนำเสนอผลงานวิจัยและแลกเปลี่ยนความคิดเห็นที่เกี่ยวข้องกับแนวปะการังระหว่างกัน โดยเฉพาะแนวปะรังของประเทศไทยซึ่งประสบกับปัญหาวิกฤตพอสมควร เนื่องจากปรากฏการณ์ปะการังฟอกขาว ซึ่งอาจจะเชื่อมโยงกับสภาพภูมิอากาศที่เปลี่ยนแปลงและปัจจัยอื่นๆ โดยมีนักวิจัยเข้าร่วมจากประเทศต่างๆ จำนวน 450 คน จาก 35 ประเทศ ซึ่งถือเป็นการจัดการประชุมเกี่ยวกับปะการังที่ใหญ่ที่สุดที่ประเทศไทยเคยจัดมา”

ผศ.ดร.ธรรมศักดิ์ กล่าวว่า สถานการณ์ปะการังฟอกขาวจะเป็นประเด็นใหญ่ที่มีการพูดคุยกัน ตั้งแต่เรื่องของพื้นที่ที่เกิดปัญหา ความทนทานหรือภูมิต้านทาน การปรับตัวหลังจากที่อุณหภูมิน้ำทะเลลดลง การฟื้นตัวของแนวปะการังในแต่ละพื้นที่ จำนวนมากน้อยเพียงใด รวมถึงองค์ประกอบหรือชนิดของปะการังที่มีชีวิตรอดและตายไป ซึ่งจะโยงไปถึงแนวทางการฟื้นฟูว่าจะต้องดำเนินการอย่างไรในการลดผลกระทบที่เกิดขึ้น โดยเฉพาะผลกระทบจากการเข้าไปเกี่ยวข้องของคน เช่น ตะกอนจากการพัฒนาชายฝั่ง น้ำเสีย เป็นต้น เพื่อจะหาวิธีการในการสร้างภูมิต้านทานให้กับปะการัง เพราะเราคงไม่สามารถที่จะไปควบคุมอุณหภูมิของน้ำทะเลที่เพิ่มสูงขึ้นผิดปกติได้ เนื่องจากเป็นปรากฏการเปลี่ยนแปลงทางธรรมชาติ แต่สิ่งที่ทำได้ คือการพยายามรักษาคุณภาพน้ำให้เหมาะสม และมีสภาพสิ่งแวดล้อมที่ดีเพื่อจะสามารถต่อสู้กับภาวการณ์ที่เกิดขึ้นได้

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น