เมื่อวันที่ 23 มิถุนายน 53 ที่ห้องอ่าวมะขาม โรงแรมคาทีน่าภูเก็ต บ้านพักเด็กและครอบครัวจังหวัดภูเก็ต จัดโครงการประชุมเชิงปฏิบัติการกำหนดแนวทางในการทำงานช่วยเหลือคุ้มครองผู้ถูกกระทำด้วยความรุนแรงในครอบครัวระดับพื้นที่ เพื่อให้ผู้ถูกกระทำด้วยความรุนแรงในครอบครัวได้รับความช่วยเหลืออย่างมีประสิทธิภาพโดยสามารถเชื่อมโยงการทำงานกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง และสอดคล้องกับสภาพปัญหาของแต่ละบุคคล รวมทั้งเพื่อให้หน่วยงานภาครัฐ เอกชนและภาคประชาสังคมที่เกี่ยวข้องในระดับพื้นที่มีแนวทางการปฏิบัติงานช่วยเหลือคุ้มครองผู้ถูกกระทำด้วยความรุนแรงในครอบครัว โดยมีผู้เข้าร่วมประกอบด้วย ผู้ปฏิบัติงานตาม พ.ร.บ.คุ้มครองผู้ถูกกระทำด้วยความรุนแรงในครอบครัว พ.ศ.2550 ผู้นำชุมชน ผู้แทนสถานศึกษา ผู้แทนด้านสาธารณสุข ผู้แทนด้านศาสนา อาสาสมัครองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น องค์กรพัฒนาเอกชน มูลนิธิและผู้แทนองค์กรที่สนับสนุนการคุ้มครองหรือป้องกันการกระทำด้วยความรุนแรงในครอบครัว
นางจิรนันท์ เจียมเจริญ หัวหน้าบ้านพักเด็กและครอบครัวจังหวัดภูเก็ต กล่าวว่า บุคคลในครอบครัวควรมีความสัมพันธ์เชื่อมโยงที่ดีต่อกัน ทั้งด้านร่างกายและจิตใจ แต่สภาพความเป็นจริงในสังคมมิได้เป็นเช่นนั้น เพราะความสัมพันธ์มักเกี่ยวโยงและแอบแฝงไปด้วยความรุนแรงที่ซ่อนเร้นอยู่ในสถาบันที่สำคัญที่สุดของสังคม ทำให้พื้นฐานบุคลิกภาพของบุคคล ซึ่งเป็นสมาชิกในครอบครัวถ่ายทอดเอาเจตคติและเกิดการเลียนแบบพฤติกรรม หากบุคคลอยู่ในสถานะที่ร่างกายและความคิดถูกกดดัน จะระบายออกมาด้วยการกระทำรุนแรงกับสมาชิกในครอบครัว ทำให้ครอบครัวเกิดความอ่อนแอในด้านความสัมพันธ์ที่ดีต่อกัน และเกิดปัญหาสังคมตามมา ซึ่งสามารถเห็นได้จากภาพข่าวที่นำเสนอผ่านสื่อแขนงต่างๆ นอกจากความรุนแรงที่เกิดขึ้นในครอบครัวอย่างต่อเนื่องแล้ว ระดับความรุนแรงยังมีแนวโน้มที่จะเพิ่มมากขึ้นตามลำดับ จากเดิมอาจจะเป็นเพียงแค่การทำร้ายร่างกายให้ได้รับบาดเจ็บ แต่ปัจจุบันมีการใช้อาวุธประกอบการกระทำความรุนแรง จนทำให้บุคคลในครอบครัวได้รับบาดเจ็บถึงขั้นพิการและเสียชีวิตทั้งยังขยายวงทำอันตรายไปสู่บุคคลรอบข้างมากขึ้นด้วย
จากสถานการณ์ดังกล่าว พบว่าผู้ถูกกระทำด้วยความรุนแรงในครอบครัวยังไม่ได้รับความช่วยเหลือคุ้มครองที่เหมาะสมและทันท่วงที ทั้งที่ภาครัฐ ภาคเอกชนและภาคประชาสังคม มีหน่วยงานจำนวนมากที่ทำหน้าที่และมีบทบาทในการช่วยเหลือผู้ถูกกระทำด้วยความรุนแรงในครอบครัว ประกอบกับแต่ละพื้นที่มีสภาพปัญหาสังคม สภาพแวดล้อมและภูมิประเทศที่แตกต่างกัน ทำให้การป้องกัน แก้ไข เยียวยาและช่วยเหลือในแต่ละพื้นที่จะมีวิธีการที่แตกต่างกัน ดังนั้นการได้มาแลกเปลี่ยนประสบการณ์ระหว่างกัน จะทำให้การช่วยเหลือคุ้มครองผู้ถูกกระทำด้วยความรุนแรงในครอบครัวแต่ละพื้นที่ มีกลไกการทำงานร่วมกันอย่างมีประสิทธิภาพ อันจะทำให้เกิดระบบการช่วยเหลือคุ้มครองผู้ถูกกระทำด้วยความรุนแรงในครอบครัวที่เหมาะสมกับสภาพปัญหาของแต่ละพื้นที่ต่อไป นางจิรนันท์กล่าว
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น